xs
xsm
sm
md
lg

เตือน! แรงงานปรับตัวรับยุคดิจิทัล “เปลี่ยนความเสี่ยงตกงานให้เป็นโอกาสรับอาชีพสุดปัง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การส่งออกของไทยปี 2562 ทั้งปี ชัดเจนแล้วว่าจะกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 ปี แต่จะมากน้อยเพียงใดคงจะต้องมารอลุ้นผลไตรมาสสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเพราะ 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 62) การส่งออกไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 186,571 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 2.11% ปัจจัยหลักยังคงมาจากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องที่บั่นทอนขีดความสามารถในการส่งออกของไทยให้ลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ ภาคส่งออกคิดเป็นเกือบ 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จึงสะท้อนให้เห็นว่า หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวก็ย่อมต้องกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (ซัปพลายเชน) เพื่อการส่งออกถือเป็นด่านแรกที่จะเจอแรงกระเพื่อมจากคำสั่งซื้อที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน, อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ และล่าสุดหลายอุตสาหกรรมยังถูกซ้ำเติมจากการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP)

เมื่อพิจารณาถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ระดับ 64% ของกำลังผลิตรวม ได้สะท้อนจากคำสั่งซื้อที่ลดลงเช่นกัน ดังนั้นจึงเริ่มเห็นผลกระทบที่มีต่อภาคแรงงานจากการทยอยเลิกจ้างงาน เช่น บริษัท เอแพ็กเซอร์คิต ไทยแลนด์ โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จังหวัดสมุทรสาคร เลิกจ้างพนักงานรวม 220 คนในเดือนกันยายน, โรงงานผลิตผ้าใบยางรถยนต์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 400 คน มีผล 25 ต.ค. 2562 โรงงานชิ้นสว่นรถยนต์ “ไทยซัมมิท แหลมฉบัง ออโตพาร์ท” ประกาศหยุดทำงาน 2 เดือนตั้งแต่ 25 ต.ค. - 26 ธ.ค. โดยให้ค่าจ้าง 75% ของค่าจ้างปกติ ฯลฯ

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อแรงงานไทยโดยตรงจึงมาจากเศรษฐกิจภายนอกที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเมื่อภาคส่งออกติดลบทำให้กระทบไปถึงทุกภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคการผลิตภาคบริการ และภาคเกษตร โดยกว่าครึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม นั่นคือ การเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ภาคการผลิต และภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้แทนแรงงานในรูแบบต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์อัจฉริยะ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่ดิจิทัลลีนออโตเมชัน ซึ่งจะทำให้การจ้างงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากเริ่มมีโครงการลาออกโดยสมัครใจซึ่งไม่ได้มีอยู่แต่ในภาคอุตสาหกรรม แต่การเร่งตัวอยู่ในสถาบันการเงิน ภาคการค้าและภาคบริการ

อีก 2 ปียุคดิจิทัลกระแทบแรงงานหนัก

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ได้ทำการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลการสำรวจของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ระบุว่า ตำแหน่งงานใน 2 ปีข้างหน้าอาจมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีที่นำมาทดแทนการใช้แรงงาน โดยผลวิจัยระบุว่างานในภาคการผลิตอาจเพิ่มขึ้น 5% แต่เป็นงานที่เกี่ยวกับการสื่อสารชั้นสูง งานวิศวกร งานที่เกี่ยวกับการ ควบคุมออโตเมชัน อิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงและงานที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ เอไอประเภทต่างๆ

ขณะที่งานพื้นฐานในไลน์การผลิตคนงานยังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะแรงงานอายุตั้งแต่ 40 ปีที่ขาดทักษะเฉพาะด้านในภาคบริการ เช่น แรงงานที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชี ความต้องการแรงงานในอีก 2 ปีข้างหน้าจะลดลง 2% ผู้ที่ทำงานอยู่ในสถาบันการเงินมีความเสี่ยงจากเทคโนโลยีฟินเทค ขณะที่แรงงานภาคค้าปลีกอาจมีความเสี่ยงจากธุรกิจออนไลน์ สำหรับงานด้านไอทียังมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนแรงงานอยู่ที่ 11% งานด้านทรัพยากรมนุษย์ยังมีความต้องการแรงงานคงที่ โดยแรงงานที่มีความเสี่ยงสูงเกี่ยวข้องกับงานธุรการพื้นฐานในสำนักงานซึ่งความต้องการลดลงถึง 9%

ปี 2563 เด็กจบใหม่เสี่ยงตกงานเพิ่ม

นายธนิตยังได้คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2563 จะมีประมาณ 524,893 คน เพิ่มจากปีนี้ 9.27% โดยในจำนวนนี้ 60.75% เป็นผู้ที่จบปริญญาตรี รองลงมาเป็นผู้ที่จบสายอาชีวะแบ่งเป็น ปวส.สัดส่วน 14.3% และปวช. 5.36% มีผู้จบสายอาชีวะจำนวนรวมกัน 1.032 แสนคน ที่เหลือเป็นผู้ที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 สัดส่วน 5.43% และ ม.3 จำนวน 14.16% โดยผู้เข้าตลาดแรงงานส่วนใหญ่55.3% มุ่งเข้าทำงานใน กทม. ขณะที่แนวโน้มภาคส่งออก ภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง ภาคโลจิสติกส์ค้าปลีก-ค้าส่ง และภาคบริการต่างๆ อยู่ในช่วงชะลอตัวส่วนใหญ่ลดการรับแรงงานและมีการปรับใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งจะทำให้การจ้างลดลงดังนั้นในปี 2563 จึงมีปัจจัยเสี่ยงต่อการตกงานสูงหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงไร้ปัจจัยบวก

เปิดอาชีพสุดปัง! ต้อนรับปี 2020

แม้ว่าสถานการณ์การจ้างงานดูจะซึมจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและการก้าวสู่ยุคดิจิทัลนั้นก็ยังมีอาชีพที่ยังคงเป็นกระแสมาแรงเป็นที่ต้องการของนายจ้าง จึงนับเป็นโอกาสของคนที่เตรียมตัวไว้พร้อมสำหรับการก้าวสู่ยุคดิจิทัล โดยจากการรวบรวมผลวิเคราะห์จากหลายๆภาคส่วนก็พบว่าอาชีพสุดปังปี 2020 หรือปี 2563 และแนวโน้มในอนาคตมีดังนี้

นักบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ด้วยเพราะโลกไร้พรมแดนทำให้การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศมีมากขึ้น ส่งผลให้การติดต่อประสานงานระหว่างประเทศมีสูง นอกจากนี้แล้ว การบริหารด้านความสัมพันธ์ก็จะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ดีมี จึงถือเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่บริษัทต่างๆล้วนเฟ้นหาคนเหล่านี้มาร่วมงาน

นักวิเคราะห์ข้อมูล
โลกแห่งยุคิดิจิทัล ที่ข้อมูลกลายเป็น Big Data แต่ที่เหนือกว่าคือการนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อนำไปสุ่แผนการตลาดให้เข้าถึงผู้บริโภคและความได้เปรียบของธุรกิจ “นักวิเคราะห์ข้อมูล” จึงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานสูงเพราะเขาสามารถเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นขุมทรัพย์ได้นั่นเอง

นักการเงิน
ยุคเทคโนโลยีภาคการเงินเองมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปมากทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องมีนักการเงินที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้านที่รวดเร็วและแม่นยำ อาชีพนี้จึงยังคงเป็นที่ต้องการตลาดแรงงานอันดับต้นๆ อยู่

วิศวกรคอมพิวเตอร์
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล และเต็มไปด้วย Big Data ธุรกิจต่างต้องนำคอมพิวเตอร์และเทคโนโยลีสารสนเทศมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กร ส่งผลให้วิศวกรคอมพิวเตอร์ยังคงเป็นแรงงานที่ทุกภาคส่วนยังต้องมีไว้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรจึงถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เทรนด์ยังไม่ตกกระแสไปง่ายๆ


นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์
เมื่อยุคเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและธุรกิจ ความต้องการแรงงานเฉพาะด้านทางด้านชีววิทยา, เคมี, วิศวกรรม ฯลฯ จึงขยายตัวตามมาด้วย เห็นได้จากทั่วโลกต่างก็แข่งขันกันที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และหลายเทคโนโลยีก็ทำให้เกิดการ Disrupt ให้เห็นกันแล้ว

นักการตลาดออนไลน์
ด้วยการรับรู้ข่าวสารผ่านสมาร์ทโฟน การค้าขายที่ผ่านออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นส่งผล นักการตลาดออนไลน์ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ ผลิตโฆษณาแบบเนียนๆ เพื่อดึงให้คนซื้อสินค้าหรือรับบริการ ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน อาชีพนี้จึงยังคงสดใสในอนาคต

วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
เทรนด์รักษ์โลกมาแรงเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาตอบโจทย์ของการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในทุกๆ สาขาธุรกิจ วิทยาศาสตร์สายสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกสายอาชีพที่ถูกรวมเข้าไปในอาชีพน่าสนใจ ในปี 2020

อาชีพสายสุขภาพ
ไทยได้เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วและจะเต็มรูปแบบในปี 2564 ดังนั้น ความต้องการดูแลสุขภาพ และการรักษาพยายาลก็จะมากขึ้นตามมาด้วย ดังนั้นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสายนี้ไม่ว่าจะเป็นแพทย์, สาธารณสุข, พยาบาล, ทันตแพทย์, เภสัชกร ฯลฯ ยังถือเป็นอาชีพที่ยังคงตอบโจทย์ความมั่นคงของชีวิตได้เป็นอย่างดี

เจ้าของธุรกิจ
เด็กรุ่นใหม่ที่รักอิสระ มีไลฟ์สไตล์เป็นตัวของตัวเอง ประกอบกับผู้ประกอบการในยุคนี้ นิยมจ้างเอาต์ซอร์สมากขึ้น เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 60% เมื่อเทียบกับการจ้างงานประจำ ทำให้ในปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ในไทยมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีธุรกิจเกิดใหม่หรือ Start Up ที่ใครๆ ก็มุ่งหวังจะก้าวไปสู่ความเป็นเจ้าของ จึงยังคงเป็นเส้นทางที่มีอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยว
หากใครที่ชอบท่องเที่ยว มีองค์ความรู้และภาษาต่างๆ ที่ดี ถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ยังคงสดใสด้วยเทรนด์การท่องเที่ยวในไทยที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้เป็นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เมื่อโลกยุคดิจิทัลที่แรงงานมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งเตรียมแผนรับมือ ขณะที่แรงงานเองก็ต้องปรับตัวรองรับเช่นเดียวกันเพื่อให้การก้าวผ่านนั้นเป็นโอกาสมากกว่าความเสี่ยง
กำลังโหลดความคิดเห็น