xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์คาด กนง.คง-ลดดอกเบี้ย ศก.ชะลอลามภาคการจ้างงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 1.50% เหลือ 1.25% ในการประชุมรอบนี้ จากพัฒนาการเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะผลจากภาคการส่งออกที่ชะลอลงเริ่มส่งผลผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริงชัดเจนขึ้น อันสะท้อนผ่านการผลิตที่หดตัว 5 เดือนติดต่อกัน และเริ่มลุกลามไปสู่ภาคการจ้างงาน โดยเฉพาะจำนวนผู้มีงานทำนอกภาคการเกษตรของไทยที่ปรับลดลงติดต่อกันกว่า 3 เดือน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนมากขึ้นในระยะข้างหน้า

ขณะที่ทิศทางอัตราเงินเฟ้อโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนตุลาคมที่ขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี โดยขยายตัวเพียง 0.11% YoY และอัตราเงินเฟ้อในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับ 0.74% YoY อาจบ่งชี้ถึงความสามารถของผู้ประกอบการในการตั้งราคาสินค้าที่ถดถอยลง อันสะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการเติบโตการบริโภคในระยะข้างหน้าเช่นกัน นอกจากนี้ ผลของค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกือบ 8.0% YTD จากช่วงปลายปี 2562 เป็นอีกปัจจัยที่กดดันการส่งออก ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วยบรรเทาต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการภาคส่งออก แม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ได้ช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้มากนัก

ส่วนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินไทยในปี 2563 คงอยู่ที่พัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงจากประเด็นทางการค้าและทิศทางของพัฒนาการเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงอยู่ แม้ว่าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนประเด็น Brexit จะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่คงไม่ได้เปลี่ยนภาพเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ประเด็นความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยยังเผชิญต่อปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องจากประเด็นค่าเงินบาทที่แข็งค่า ผลกระทบจากภาคการส่งออกที่ส่งผ่านมายังการจ้างงานและกำลังซื้อของครัวเรือนในประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง. ยังคงมีพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำสุดก็ตาม

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB)คาดการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% ในการประชุมวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ที่จะถึงนี้ แต่อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ 1 ครั้ง (25 bps) ในการประชุมเดือนธันวาคมเป็นต้นไป โดยอีไอซีมองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ในรอบนี้จะไม่เป็นแรงกดดันที่ทำให้ กนง. ต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากการลดดอกเบี้ยของ Fed เป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด และของ กนง.

สำหรับช่วงเวลาที่ กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง (25 bps) นั้น อีไอซี มองว่า จะเป็นช่วงเดือนธันวาคมเป็นต้นไป เนื่องจาก กนง. จะรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่จะออกมาเพิ่มเติมในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตามองคือ GDP ไตรมาส 3 ที่จะออกในวันที่ 18 พฤศจิกายน ตัวเลข MPI ที่จะออกในวันที่ 19 พฤศจิกายน และตัวเลขการส่งออกที่จะออกในวันที่ 21 พฤศจิกายน ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยยังคงส่งสัญญาณแย่ลงกว่าที่ กนง. คาดไว้ ก็อาจทำให้ กนง. ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม นอกจากนี้ อีกปัจจัยเสริม คือ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางอินโดนีเซีย ที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ 5.0% ในเดือนตุลาคม หรือธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps มาอยู่ที่ 4.0% ในเดือนกันยายน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น