xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” จับมือ ททท.-ลาซาด้า ติวเข้มผู้ประกอบการธุรกิจบริการใน 5 จังหวัด ทำธุรกิจออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พาณิชย์” ผนึกกำลัง ททท.และลาซาด้า จัดสัมมนา “ลูกค้าติด ธุรกิจโต Go Online” ช่วยผู้ประกอบการธุรกิจบริการในเมืองรอง 5 จังหวัดนำร่อง ทำธุรกิจออนไลน์ ทำตลาดออนไลน์ หวังเชื่อมโยงธุรกิจบริการเข้ากับการท่องเที่ยว ตั้งเป้าเสริมแกร่ง 300 ราย

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ร่วมมือกับ 2 พันธมิตร คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “ลูกค้าติด ธุรกิจโต Go Online” ใน 5 จังหวัดนำร่องที่เป็นเมืองรอง เพื่อช่วยต่อยอดความรู้การทำธุรกิจออนไลน์ให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับธุรกิจท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และเทคนิคการทำ Marketing Content การลงมือปฏิบัติจริง (Workshop) เพื่อนำบริการขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ได้ทันทีหลังจบหลักสูตร

โดยมีเป้าหมายนำร่องใน 5 จังหวัด คือ ชุมพร กำหนดจัดวันที่ 21 พ.ย. 2562 อุตรดิตถ์ วันที่ 28 พ.ย. 2562 หนองคาย วันที่ 12 ธ.ค. 2562 ชัยภูมิ วันที่ 19 ธ.ค. 2562 และนนทบุรี วันที่ 23 ธ.ค. 2562 ตั้งเป้าพัฒนาธุรกิจบริการให้ได้กว่า 300 ราย

สำหรับสิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการเข้าร่วมงานสัมมนา คือ การสร้างโอกาสและช่องทางการทำธุรกิจที่มากขึ้นผ่านการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดเปลี่ยนจากการรอลูกค้าเดินเข้าร้านแบบเดิมๆ เป็นการทำโปรโมชันดึงดูดใจลูกค้า หรือคูปองส่วนลดผ่านทาง e-Marketplace ที่จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้น และหลังจากนี้จะมีการคัดเลือกธุรกิจให้เหลือ 100 รายทั่วประเทศ เพื่อรับการบ่มเพาะเชิงลึกแบบ One on One Coaching ณ สถานประกอบการ รวมถึงการวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางการค้าให้เหมาะสมกับผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายต่อไป

ทั้งนี้ ธุรกิจบริการในพื้นที่ 5 จังหวัดข้างต้นที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมงานสัมมนาได้ที่ www.dbd.go.th เลือกหัวข้อข่าวประชาสัมพันธ์

ปัจจุบัน ภาพรวมของธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยปี 2561 ถือว่าเติบโตอย่างน่าสนใจ และขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 12% มีมูลค่า 3.2 พันล้านบาท เนื่องจากคนไทยมีการปรับพฤติกรรมในการสั่งสินค้าและบริการผ่านออนไลน์มากขึ้น โดย 90% เป็นการจับจ่ายผ่านทางโทรศัพท์มือถือและชำระเงินค่าสินค้าผ่านโมบายและอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง และการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซนี้เอง จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนในการนำธุรกิจบริการขึ้นสู่โลกออนไลน์ได้มากขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มโอกาสการอยู่รอดในโลก Digital Disruption

ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ในปี 2561 GDP ภาคบริการ มีมูลค่า 7.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.5 ของ GDP ทั้งหมด มีจำนวนธุรกิจบริการ 1.2 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนธุรกิจไทยทั้งหมด มีมูลค่าการส่งออกบริการจำนวน 75,354 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยภายในระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 12 ในขณะที่การส่งออกสินค้าไทยมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น จะเห็นได้ว่าภาคบริการมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น