xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยเสี่ยงตกงานเป็นประวัติการณ์ โควิด-19 พลิกชะตา! “นายจ้าง-ลูกจ้าง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้หลายคนอาจได้เริ่มต้นกลับมาทำงานกันอีกครั้งหลังต้องทำงานอยู่บ้าน (Work From Home) เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จากผลของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ในทางกลับกันยังคงมีแรงงานบางส่วนไม่อาจได้กลับมาเริ่มต้นงานที่ตนเองรักหรือทำงานเป็นปกติได้อีกต่อไป ด้วยเพราะหลายกิจการได้รับผลกระทบโดยตรงโดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวและบริการ รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมที่ไม่อาจทานพิษโควิด-19 ได้ไหวจึงต้องค่อยๆ ทยอยลดจำนวนแรงงานและเลิกกิจการมากขึ้นเป็นลำดับเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

แม้ว่ารัฐบาลไทยได้ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 มาถึงจุดนี้ที่ต้องขอชื่นชมจนนำมาสู่มาตรการผ่อนคลายการประกอบกิจการระยะที่ 3 (เฟส 3) ตั้งแต่ 1 มิ.ย. และเตรียมจะเข้าสู่เฟส 4 ในไม่ช้านี้ แต่กระนั้นไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งยังคงอยู่บนพื้นฐานที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันไม่ให้โควิด-19 หวนกลับมาระบาดระลอกสอง ที่ทุกส่วนต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ประกอบกับแรงซื้อของคนไทยและทั่วโลกต่างถดถอยหนักจึงทำให้ภาคธุรกิจไม่อาจฟื้นตัวกลับมาเป็นดังเดิมได้อีกต่อไป

ว่ากันว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้นับเป็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดของโลกนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 โดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวถึง 3% ขณะที่เศรษฐกิจของไทยที่อิงกับการส่งออก-บริการและซัปพลายเชนโลกจึงได้รับผลกระทบโดยตรง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 5.3% การส่งออกจะติดลบ 8.8% และล่าสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์มองเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวสูงถึง 7.3% และหลายฝ่ายต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจโลกและไทยจะฟื้นตัวกลับมาดังเดิมอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี

ภาพเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าภาคธุกิจกำลังเผชิญกับแรงซื้อที่ถดถอยและจะย้อนกลับมายังตลาดแรงงานของไทยให้มีอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากพิจารณาตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ระบุถึงอัตราการว่างงานไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 394,520 คน คิดเป็นอัตราว่างงานประมาณ 1.03% เพิ่มขึ้นจาก 0.92% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนผู้มีงานทำอยู่ที่ 37.4 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.7% โดยชี้ว่าการว่างงานจะปรากฏชัดเจนขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2563

อย่างไรก็ตาม สศช.ประเมินว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างในระยะถัดไป 8.4 ล้านคน(แรงงานนอกภาคเกษตร) แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม คือ 1. แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่งและการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน 2. แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน และ 3. การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะมีแรงงานได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน

ขณะที่มุมมองจากสายงานเศรษฐกิจของสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า คาดว่าวิกฤตแรงงานครั้งนี้จะรุนแรงกว่าปี 2540 และประเมินว่าในช่วงก่อนการเปิดล็อกเฟส 3 อาจมีแรงงานนอกภาคเกษตรตกงานถึง 9.5 ล้านคน ส่วนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้คาดการณ์ไว้ในช่วงแรกๆ ว่าหากโควิด-19 ไม่จบ มิ.ย.นี้ คนไทยจะเสี่ยงตกงานถึง 7.1 ล้านคน แบ่งเป็น ธุรกิจบันเทิง คาดว่าจะตกงาน 8 หมื่นคน ร้านอาหาร 3.75 แสนคน สปาและร้านนวดทั้งในและนอกระบบประมาณ 2.4 แสนคน โรงแรม 9.8 แสนคน ศูนย์การค้าและค้าปลีก 4.2 ล้านคน ภาคอสังหาริมทรัพย์ 7.7 หมื่นคน ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน และสิ่งทอ 2 แสนคน แต่หากยืดเยื้อแรงงานก็จะเสี่ยงตกงานระดับ 10 ล้านคน

ทั้งหมดคือตัวเลขที่ส่งสัญญาณล่วงหน้าเอาไว้ให้ทุกฝ่ายได้เร่งหาทางรับมือ โดยเฉพาะแรงงานในภาคการผลิตที่คาดว่าจะทยอยมาเป็นระลอกสองหลังจากแรงานในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและอ้อมในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการรับผลกระทบหนักนำร่องไปแล้วก่อนใคร และสัญญาณที่เริ่มเด่นชัดคงหนีไม่พ้นในภาคของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่มีแรงงานรวมกันกว่า 7.5 แสนคนที่เริ่มออกมาเรียกร้องให้รัฐช่วยกระตุ้นการซื้อ เพราะไม่เช่นนั้นอาจไม่สามารถรักษาระดับแรงงานเอาไว้ได้ เพราะลำพังที่ประเมินไว้การผลิตก่อนหน้าปี้นี้จะอยู่ 2.1 ล้านคันจากนั้นก็ลดมาเหลือล่าสุด 1 ล้านคันและว่ากันว่า 1 ล้านคันนี้อาจไม่ถึงเสียแล้วเพราะยอดขายในไทยและส่งออกยังลดต่อเนื่องลำพังค่ายรถยังพอมีสายป่านที่ยาวกว่า แต่ชิ้นส่วนอาการค่อนข้างน่าห่วง

เมื่อเช็กสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ไม่ต่างกันมากนักในภาพรวม เพราะโครงสร้างการผลิตของไทยส่วนใหญ่เน้นพึ่งพิงตลาดต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ส่งผลให้การใช้อัตรากำลังการผลิตยังคงตกต่ำ เฉลี่ยเพียงกว่า 50-60% เท่านั้น โดยคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุถึงแรงงานที่มีความสุ่มเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างและการว่างงานจากโควิด-19 อันดับ 1 ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอาหาร อันดับที่ 2 ได้แก่ ธุรกิจขายส่ง, ธุรกิจขายปลีก และภาคการผลิต อันดับที่ 3 การขนส่ง, การก่อสร้าง อันดับที่ 4 ที่มีความสุ่มเสี่ยงน้อยที่สุด ได้แก่ ภาคการเกษตรการศึกษา และธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ

เมื่อตลาดแรงงานอ่อนตัว นักศึกษาที่กำลังจะจบใหม่อีกกว่า 5 แสนคน ย่อมหางานด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะแม้แต่แรงงานที่มีงานทำในขณะนี้ก็ยังไม่แน่นอนว่าระยะต่อไปจะยังมีงานทำอีกหรือไม่ เนื่องจากดีมานด์ที่ลดลงทั้งในไทยและตลาดโลกไม่อาจทำให้ธุรกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อหันมามองแรงงานภาคการเกษตรตัวเลขของ สศช.ชี้ให้เห็นว่า ภัยแล้งตั้งแต่กลางปี 2562 และต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง และมีจำนวนแรงงานที่รอฤดูกาล 370,000 คน สูงที่สุดในรอบ 7 ปี

โดยในเดือนเมษายน ได้มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 26 จังหวัด และมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 3.9 ล้านคน และเกษตรกรในพื้นที่อื่นที่มีปริมาณน้ำน้อยและไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรก็ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 2.1 ล้านคน รวมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคนจากแรงงานในภาคเกษตรทั้งสิ้นประมาณ 17 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายกิจการต่างๆ ที่เข้าสู่เฟส 3 และแนวโน้มจะก้าวไปสู่เฟส 4 จะทำให้อัตราการว่างงานมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่รู้ว่าโควิด-19 จะกลับมาระบาดอีกหรือไม่ทั้งไทยและต่างประเทศและระยะสั้นการท่องเที่ยวจากต่างชาติคงจะพึ่งพิงไม่ได้ และเป็นที่น่าเสียดายที่ปกติแรงงานภาคอุตสาหกรรมในอดีตบางส่วนที่ตกงานยังสามารถผลักเข้าสู่ภาคเกษตรได้ แต่เพราะด้วยภัยแล้งปีนี้จึงทำให้ส่วนนี้ไม่อาจทำงานได้เต็มที่

นับเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่จะต้องควบคุมการแพร่ระบาดไปพร้อมกับการต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยเฉพาะเม็ดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทที่ต้องให้ลงถึงรากหญ้า และเหนือสิ่งอื่นใดบริบทของยุทธศาสตร์ชาติจำเป็นต้องปรับครั้งใหญ่หันมาดูโครงสร้างบริหารจัดการน้ำเพราะในที่สุดภาคเกษตรคือความยั่งยืนที่แท้จริง และอุตสาหกรรมต้องพึ่งพิงสินค้าที่ผลิตในไทยให้มากขึ้น เพราะการตกงานครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์กำลังรออยู่ข้างหน้า


7 การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานบนบริบท “New Normal”

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวโดยชี้ให้เห็นว่าโควิด-19 ได้ส่งผลให้วิถีใหม่ หรือ “New Normal” ของภูมิทัศน์ตลาดแรงงานจะไม่เหมือนเดิมซึ่งเกี่ยวข้องกับการปรับตัวครั้งใหญ่ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ที่สำคัญดังนี้

1. Business Downsize การลดขนาดองค์กรให้เล็กลงโดยใช้เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น และลดจำนวนแรงงานในสถานประกอบการเป็นการเดินทางของธุรกิจวิถีใหม่ กอปรทั้งภัยคุกคามการจ้างงานจากการเร่งตัวของเทคโนโลยีก้าวหน้าในรูปแบบต่างๆ ที่เป็น “Disruptive Technology” จะเข้ามาแทนที่การใช้แรงงานมนุษย์ เช่น AI, Robots, Smartphone, Internet of things, Automation ฯลฯ

2. Labour Demand Changing ภูมิทัศน์ตลาดแรงงานจะเปลี่ยนไปนายจ้างจะคัดกรองคนที่กลับเข้าทำงานแม้แต่คนที่ทำงานอยู่แล้วอาจถูกลดขนาดภายใต้โครงการสมัครใจลาออกในรูปแบบต่างๆ โดยแรงงานสูงวัยจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

3. New Job Challenge ตลาดแรงงานใหม่ภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้มีอาชีพใหม่ที่ธุรกิจต่างๆ จะเริ่มลดขนาดองค์กรด้วยการกระจายตำแหน่งงานไปให้ฟรีแลนซ์ และเอาต์ซอร์สซึ่งไม่ต้องมีสำนักงานในลักษณะ “non-office worker” เช่น งานการตลาด, งานบัญชี, งานบริการลูกค้า, งานปฏิบัติการ, งานที่เกี่ยวกับคลังสินค้าและโลจิสติกส์ ฯลฯ

4. Worth Returned Conceptual แนวคิดความคุ้มค่าและมีค่าต่อองค์กร ผู้ที่จะอยู่ในตำแหน่งงานได้อย่างมั่นคงจนถึงวัยเกษียณจะต้องมีการปรับทัศนคติใหม่ นอกจากการเพิ่มผลิตภาพของตนเองที่ต้องยกระดับให้มีความคุ้มค่าและคุณค่าต่อองค์กร ในอนาคตขนาดขององค์กรจะเล็กลงหลายตำแหน่งงานจะหายไป ทำอย่างไรไม่ให้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องถูกออกจากงานซึ่งจากนี้ไปจะเห็นการเร่งตัวของ “New Normal Early Retire”

5. First Labour Aged Demand เป็นโอกาสของแรงงานวัยตอนต้นเพราะพลวัตตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง แรงงานใหม่ ต้องสามารถตอบโจทย์สภาวะแวดล้อมธุรกิจการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมวัยแรงงานตอนต้นยังมีความต้องการสูงที่ผ่านมาแรงงานอายุ 18-29 ปี ความต้องการจ้างงานติดลบประมาณ 14.6%

6. Digital Platform Direction จะเป็นทิศทางเดินของธุรกิจทั้งภาคผลิต, ภาคบริการ, ค้าส่ง-ค้าปลีก, โลจิสติกส์ ฯลฯ เป็นจุดแข็งของแรงงานตอนต้นที่มาจาก Gen Z มีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีทำให้สามารถปรับตัวได้เร็วกว่ากลุ่มวัยอื่น

7. Skill Change การเปลี่ยนแปลงของทักษะใหม่ ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่ไม่เหมือนเดิมแม้แต่แรงงานวัยตอนต้นล้วนมีความเสี่ยงสะท้อนจากแรงงานใหม่จบระดับอุดมศึกษามีการว่างงานสูงสัดส่วนถึง 29.5% ของผู้ว่างงานทั้งหมด ขณะเดียวกันแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานส่วนใหญ่ 63.2% จบปริญญาตรีในสาขาที่ล้าสมัยไม่ตรงกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะการด้อยคุณภาพของแรงงานใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น