xs
xsm
sm
md
lg

นายจ้างตัวจริงออกโรงหนุนเพิ่มเงินผู้ประกันตน 75%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.- สภาองค์การนายจ้าง มองสวนทางบอร์ดประกันสังคม หนุนเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนได้รับผลกระทบจากโควิดเป็น 75% ชี้ โควิด-19 กระทบทุกส่วนต้องเร่งช่วยเหลือระยะสั้นให้รอด หากมองแต่อนาคตว่าเงินจะไม่พอ อาจไม่มีอนาคตให้รอ หนุน ก.แรงงาน ชง ครม.ผ่าทางตัน

นายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)
เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ที่มีมติไม่พิจารณาแนวทาง
การเพิ่มการจ่ายเงินกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 จาก 62% ของเงินเดือนแต่ไม่เกินเพดาน 15,000 บาท เป็น 75% เพื่อบรรเทาผลกระทบในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“ไม่เข้าใจว่า คณะกรรมการประกันสังคม เมื่อ 7 พ.ค.ที่มีมติเอกฉันท์ไม่พิจารณาแนวทางดังกล่าวแต่เปิดช่องให้ทาง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ไปเสนอ ครม.แทน จึงเห็นว่า ควรจะทบทวน ซึ่งเห็นว่า เงินที่จ่ายเป็นของลูกจ้างและนายจ้างซึ่งหมายถึงเงินที่พวกเขาได้สะสมเป็นหลัก ไม่ใช่เงินงบประมาณทั้งหมด หรือเงินจากส่วนอื่นๆ ต่างจากเงินเยียวยาของกระทรวงการคลัง ที่จ่ายให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม 5,000 บาท ดังนั้น เมื่อผู้จ่ายประกันเดือดร้อน จึงควรช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีก่อนที่ลูกจ้างและนายจ้างจะไม่มีงานทำ หรือต้องปิดกิจการไปก่อน” นายสุชาติ กล่าว

ทั้งนี้ การช่วยเหลือต้องคำนึงได้แก่ 1. ความเดือดร้อนของลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งแน่นอนว่า สถานการณ์โควิด-19 นี้ ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลงไป และส่วนหนึ่งต้องปิด เพราะคำสั่งรัฐ ซึ่งถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย 2. วงเงินของกองทุนประกันสังคมเพียงพอหรือไม่ ซึ่งสำหรับตนแล้วมองว่าวงเงินรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท หากแยกส่วนของประกันการว่างงานที่มีอยู่ 1.6 แสนล้านบาทนั้น มีเพียงพอ เพราะหากไปคำนึงแต่อนาคตระยะยาว แต่ระยะสั้นแรงงานต้องตกงานไป หรือนายจ้างปิดกิจการ ในที่สุดเงินเหล่านี้ก็จะไม่มีอยู่ดี 3. วงเงินที่ได้รับ 62% นั้นไม่เพียงพอ จึงได้มีการเสนอเป็น 75%

“หากบอร์ดประกันสังคมบอกว่า อนาคตจะมีคนตกงานอีกมาก เงินจะไม่พอ ถ้ามัวเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคต ถามว่าจะมีอนาคตให้พวกเขาไหม ส.อ.ท.เคยประเมินไว้ว่า โควิด-19 หากจบ มิ.ย.จะมีแรงงานตกงานราว 7 ล้านคน ซึ่งขณะนี้มีแรงงานในระบบประกันสังคมอยู่ประมาณ 1 ล้านกว่าคนแล้ว หากทุกฝ่ายช่วยได้ทันท่วงที ปัญหานี้ก็จะเบาลงได้ ซึ่งมาตรการด้านแรงงานทาง ส.อ.ท.ก็ได้นำเสนอผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ไปแล้ว ซึ่งบางมาตรการภาครัฐก็ได้พิจารณาดำเนินการให้แต่บางมาตรการก็ยังรอการพิจารณา เช่น การรับเงินทดแทนกรณีว่างงานจาก 62% เป็น 75% การขอปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง/สถานประกอบการเหลือ 1% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เป็นต้น” นายสุชาติ กล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ขณะนี้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากการว่างงาน เพราะเหตุสุดวิสัยจากผลกระทบโควิด-19 จึงเห็นว่าประกันสังคมควรจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 จาก 62% ของค่าจ้างรายวันแต่ไม่เกินเพดาน 15,000 บาท เป็น 75 % เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่อาจไม่ต้องขยายเวลาจากเดิม 3 เดือนไปถึงสิ้นปีก็ได้ หากเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อเม็ดเงินในอนาคต

“เวลาไฟไหม้เราจะต้องรีบดับไฟก่อนนี่คือหลักการนะ สำหรับผมและผมมองว่าความเห็นของบอร์ดประกันสังคมที่มาจากตัวแทนทุกฝ่ายที่ได้คำนึงถึงอนาคตก็อยากให้ปรับมุมมองใหม่เพราะโควิด-19 กลับทำให้โอกาสในการขยายฐานลูกค้าของประกันสังคมจะมีมากขึ้นวงเงินที่บอกจะเก็บไว้บริหารในอนาคตให้เพียงพอก็น่าจะมองว่าควรบริหารฐานของเงินที่จะเข้ามาเพิ่มด้วยเช่นกันซึ่งคิดว่าวงเงินที่จะช่วยเหลือจากกรณีนี้ไม่มากเลย” นายธนิต กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการประกันสังคมเมื่อ 7 พ.ค.ได้มีการนำเสนอวาระพิจารณา 2 เรื่อง คือ เพิ่มสัดส่วนชดเชยผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบและเป็นเหตุสุดวิสัยเพิ่มจาก 62% เป็น 75% ของค่าจ้างรายวัน โดยไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน พร้อมกับเสนอให้ขยายเวลาชดเชยจาก 3 เดือน เป็นยาวถึงสิ้นปี และ 2. การปรับลดส่งเงินสมทบของนายจ้างเหลือเพียง 1% จากเดิมที่ 4% โดยให้เหตุผลว่า สัดส่วนเดิมที่เยียวยาไม่พอใช้ในแต่ละเดือน ซึ่งปรากฏว่า บอร์ดประกันสังคมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่อนุมัติทั้ง 2 ประเด็น อย่างไรก็ตาม เดิม ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน จะเสนอ ครม.พิจารณาวันที่ 12 พ.ค.นี้แต่ล่าสุดคงจะไม่ทัน เพราะ รมว.แรงงาน ต้องหารือกันภายในกระทรวงให้ได้ข้อสรุปเรียบร้อยก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น