xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เงินกู้4แสนล้านจ้างงานชุมชนอย่างไร? ให้พ้นภัย“ตกงาน”ยุคโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในขณะที่ แบบฟอร์มขอใช้เงินกู้ กรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) วงเงิน 4 แสนล้านบาท กระจายไปทั่วประเทศ โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ

และย้ำว่า ทุกหน่วยงานในพื้นที่ ที่มีแผนงานโครงการสร้างผลิตภาพ (Productivities) ต้องเสนอโครงการฯ ผ่านกลไกคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) เพื่อไม่ให้เกิดการหาประโยชน์ และมีขั้นตอนที่โปร่งใส เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถตรวจสอบได้ง่าย ก่อนเสนอเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตามกรอบที่กำหนด
.
"ทุกโครงการที่เสนอขอรับงบประมาณต้องเป็นโครงการที่เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยต้องจัดทำเป็นสรุปโครงการ (Project brief) ผ่านที่ประชุม ก.บ.จ. และเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองตามขั้นตอน"

เป็นไปตามที่พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้กำชับพ่อเมือง และส่วนราชการในสังกัด ระหว่างจัดประชุมแนวทางการเสนอโครงการผ่านระบบ Video Conference เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

มหาดไทย ยังกำชับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และอำเภอ ที่จะเสนอโครงการเบื้องต้น (Project Brief ) เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีเงื่อนไขว่า โครงการดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจาก "สภาฯอบต." ให้เพิ่มเติมในแผนพัฒนาท้องถิ่นก่อน และเมื่อผ่านสภาฯ แล้ว ให้แจ้ง ก.บ.จ.ทราบด้วย หากปรากฏว่า โครงการใด ที่คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ อบต. ก็ให้นำรายการนั้นออกจากบัญชีโครงการ"

ส่วนระดับ "อำเภอ" ต้องผ่านให้ ก.บ.จ. พิจารณาเช่นกันว่า มีความสอดคล้องตรงตามวัตถุประสงค์ ของ พ.ร.ก. หรือไม่

ระหว่างนี้ อยู่ในกระบวนการจัดทำโครงการ เพื่อเริ่มส่งโครงการมายังจังหวัด และ "คณะกรรมการกลั่นกรองฯ" ที่มีสภาพัฒน์ เป็นเจ้าภาพ ภายในวันที่ 5 มิ.ย.ตามแบบฟอร์มที่ส่งให้จังหวัด 5 รูปแบบ ต้องมีชื่อโครงการผลลัพธ์ ระยะเวลาเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ สอดคล้องกับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ อย่างไร??

พูดได้เลยว่า แบบฟอร์ม "ละเอียดยิบ" เพราะทุกขั้นตอนให้เขียนอธิบาย ว่าจะสอดคล้องกับ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ อย่างข้อหนึ่ง ลงลึกถึง ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งรายงาน EIA / รายงาน IEEให้เห็นถึงแผนการเบิกจ่ายตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดการดำเนินแผนงาน/โครงการ

และ ข้อ 18 และ ข้อ 19 ยังให้เขียน "แนวทางการสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการ" โดยให้อธิบายให้เห็นถึงกลไกการสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต และเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการและแผนบริหารจัดการความเสี่ยงของโครงการ โดยตรงนี้ให้ "ระบุความเสี่ยงที่ชัดเจน" ว่าด้วย แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ในชุมชน ตัวอย่างโครงการส่วนใหญ่ หวังลดผลกระทบให้ “คนตกงาน” จำนวนมหาศาล ที่ต้องกลับไปยังบ้านเกิด รวมถึงคนในเมืองใหญ่

เมื่อมีโครงการก็ต้องเริ่มวางแผนงาน จะเห็นว่า ที่ผ่านมา มีข่าวว่า "ผู้ว่าราชการจังหวัด" จะเชิญเหล่าบรรดานักธุรกิจรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของจังหวัด ไปหารือ ทั้งที่จวน ผู้ว่าฯ หรือ ศาลากลางจังหวัด เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา "คนตกงาน"

ที่เห็นชัดๆ ตอนนี้ น่ามีที่ "จังหวัดอุดรธานี" แห่งเดียว

ถือเป็นตัวอย่าง ที่ดีที่เดียว ข่าวบอกว่า "นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร”ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้เชิญนักธุรกิจรายใหญ่ในอุดรธานี มาพูดคุยกันว่า หลังจากนี้ "โควิด-19" ลดลงไป จังหวัดอุดรธานี จะเดินหน้ากันอย่างไร

"สิ่งที่ถูกตั้งคำถามคือ ทุกเมือง ทุกประเทศ ต้องเจอภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ถ้าไม่มีการหารือกันอาจจะเกิดภาวะการเลิกจ้าง หยุดการลงทุน จะทำให้คนตกงาน ไม่มีงานทำ เลยมีความเป็นห่วงจึงได้เชิญนักธุรกิจรายใหญ่ ๆ มาคุยกันว่า จะทำอย่างไรถึงจะช่วยประชาชนในทุกมิติ จะเห็นว่าสิ่งที่นักธุรกิจเริ่มเดินหน้าโครงการ เช่น การช่วยลดรายจ่าย สร้างโอกาส ต่อไปคือการสร้างงาน เพื่อสร้างรายได้"ข่าวระบุบทสัมภาษณ์ผู้ว่าฯอุดรฯ

ผู้ว่าฯอุดรธานี บอกว่า อย่างแรกคือ เดินหน้า "โครงการลงทุนโดยนักธุรกิจ" นักลงทุนบางคน อาจจะบอกว่า ลงทุนปีนี้ ไม่ได้กำไร แต่เมื่อคุยกันด้วยเหตุและผล

"ทุกคนก็เข้าใจว่าปีนี้ ไม่กำไรก็ต้องไม่กำไร แต่ต้องทำให้คนอุดรธานี ทั้ง 1.6 ล้านคน มีงานทำให้ได้มากที่สุด" นี้คือวิสัยทัศน์พ่อเมือง

เขายังยกตัวอย่าง "ภาคการจ้างงานประจำวัน" ที่พบว่า มีแรงงานฝีมือกลับจากต่างประเทศ กรุงเทพฯ และภูเก็ต มายังภูมิลำเนา "อุดรธานี" เกือบ 40,000 คน

"คนเหล่านี้ ไม่รู้ว่าจะได้กลับไปทำงานในที่เดิมเมื่อไหร่ จังหวัดจึงชวนนักธุรกิจมาช่วยคิด มาทำการบ้านกัน"

อย่าง "ธุรกิจก่อสร้างหมู่บ้าน" มีตั้งแต่พนักงานประจำออฟฟิศ เสมียน บัญชี ช่างปูน ช่างเชื่อม ช่างเหล็ก และสาขาต่าง ๆ ซึ่งหน่วยงานด้านแรงงานทั้ง 5 หน่วยงานในจังหวัด 20 นายอำเภอ ได้สำรวจพบแรงงานแล้วทั้ง 40,000 ราย

"เมื่อมีความต้องการการจ้างงาน จะแมตชิ่งกันได้อย่างรวดเร็ว เชื่อว่าเศรษฐกิจอุดรฯเดินได้และไม่ตกต่ำเหมือนที่คาดกัน"

ล่าสุด "ผู้พัฒนาโครงการหมู่บ้านจัดสรร" ชื่อดังในภาคอีสาน ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย อุดรธานี, นครราชสีมา, ขอนแก่น, หนองคาย, สกลนคร และร้อยเอ็ด มีความพร้อม ที่จะลงทุนเพื่อ จ้างงาน กลุ่มแรงงานเหล่านี้

ขอยกคำพูดของนักธุรกิจรายหนึ่งที่เข้ามาพูดคุย หารือแสดงวิสัยทัศน์กับผู้ว่าฯอุดรธานี ตอนหนึ่งระบุว่า "การลงทุน สร้างงาน แทนที่จะเอาเงินไปแจก ก็ดูดีนะ ถ้าทุกคนมีกิน เดี๋ยวก็ดีเอง แต่ถ้าเราหวังจะเอาของตัวเอง มันก็ไม่รอด เห็นแก่ตัว ยิ่งตาย”

การจ้างงาน ในชุมชน ถือเป็นเรื่องสำคัญ ในภาวะเช่นนี้ อีกหนึ่งตัวอย่าง "นายวิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้สัมภาษณ์สื่อว่า เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งในกับเศรษฐกิจชุมชน ต้องทำให้แอคทีฟจ่ายได้เร็ว

สิ่งสำคัญตอนนี้ อยากเห็นการจ้างงานเป็น “ล้านตำแหน่ง”เพราะมีคนตกงานเยอะ ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งทำเรื่องการจ้างงาน ถ้าให้คิดแบบเร็วๆ ก็สามารถทำได้ในลักษณะ "เกาะภูมิสังคมต่างจังหวัด" เช่นการหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมสำหรับหมู่บ้าน 1 ตำแหน่ง ก็สามารถจ้างงานได้ 7 หมื่นตำแหน่งทั่วประเทศ เช่น "อาสาสมัครเพื่อดูแลผู้สูงอายุประจำหมู่บ้าน" ยังไงก็ขาด หรือในส่วนของการพัฒนา “กองทุนหมู่บ้าน” จ้างงานเด็กอาชีวะจบใหม่ ทำเรื่องระบบบัญชี ทำระบบ คอมพิวเตอร์กองทุนหมู่บ้านให้ดีทั่วประเทศก็ได้อีก 7 หมื่นตำแหน่ง

มีอีกเยอะเลยที่จะสามารถสร้างตำแหน่งงานได้พร้อมกันจำนวนมาก อย่าง "โรงพยาบาลตำบล โรงพยาบาลสุขภาพตำบล" ก็ต้องการคนไปช่วยเรื่อง "ทำระบบฐานข้อมูล" ถ้าทำระดับตำบลก็จะมีการจ้างงานทั่วประเทศทันที 8,000 ตำแหน่ง ถ้าทำระดับหมู่บ้านก็ได้ 7 หมื่นตำแหน่ง แม้แต่เรื่องข้อเกษตร การทำ "สำมโนระดับท้องถิ่น" ก็จะช่วยได้ เพราะฐานข้อมูลระดับท้องถิ่นของประเทศไทยยังขาดมาก หรืออินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน 5G กำลังจะมา ถามว่าใครจะไปเป็น "ที่ปรึกษาทางด้านดิจิทัลระดับหมู่บ้าน" ที่ทำให้คนสามารถมาใช้พวกนี้อย่างมีประสิทธิภาพนี่ก็ได้อีก 7 หมื่นตำแหน่ง เพราะวิกฤตครั้งนี้ทำให้เกิดการว่างงาน ก็ต้องมีการปรับทักษะของประชากร

อีกท่านหนึ่ง "ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์" สมาชิกวุฒิสภา อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เพิ่งอภิปรายในการประชุม เพื่อพิจารณาพระราชกำหนด 3 ฉบับ บอกว่า "หลังจากนี้ จะต้องเดินในวิถีใหม่นี้ โดยหันกลับมาให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม ซึ่งจากวิกฤติที่ผ่านมา จะเห็นว่า "แรงงานจากภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม" หันกลับไปพึ่งพิงภาคเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก จึงต้องเหลียวหลัง ด้วย “เกษตรวิถีใหม่”

ทั้งนี้ เสนอให้ใช้ "สถาบันการศึกษา"ในพื้นที่มามีส่วนสำคัญในการบูรณาการเกษตรวิถีใหม่ ดำเนินมาตรการในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยการเน้นการฟื้นฟูให้กลายเป็น “เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป และเกษตรอัจฉริยะ” ดังนี้

1) ให้มีการจ้างนักศึกษาจบใหม่ จากการคาดการณ์พบว่า จะมีนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 5 - 7 แสนคน ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน และต้องต่อสู้กับจำนวนแรงงานที่อาจจะถูกเลิกจ้าง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีสูงถึง 7 ล้านคน

2) ให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ มีบทบาทในการวิจัยและพัฒนา ค้นหาความต้องการที่แท้จริงในพื้นที่ และช่วยเสนอแนะโครงการแผนงานที่ตอบสนองความต้องการในพื้นที่นั้น ๆ

3) ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้านนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ที่กำลังจะจบการศึกษา มาเพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตาม วิเคราะห์ และเสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต วิกฤติ โควิด-19 ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของการเดินหน้า และข้อเสนอ เพื่อหวังฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จากเงินกู้ 400,000 ล้านบาท

แต่ในช่วงวิกฤติ ยังมีหลายหน่วยงานเร่งช่วยเหลือประชาชน เช่น "กรมการจัดหางาน" แจ้งว่า ยังมีองค์กร ภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อ โดยมีตำแหน่งงานว่างที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่ถึง 55,093 อัตรา ทั่วประเทศ เช่น พนักงานขายสินค้า (ประจำร้าน) – ขายของหน้าร้าน ,แรงงานด้านการผลิต ,ช่างอัญมณีและช่างประดิษฐ์เครื่องประดับอื่น ๆ ,ตัวแทนนายหน้าขายบริการธุรกิจอื่น ๆ และ"พนักงานบัญชีที่จบการศึกษาตั้งแต่ระดับ ปวช. - ปริญญาตรี สามารถ สอบถามสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ/ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10/ ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center)/ เว็บไซต์ smartjob.doe.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ "เสิร์ฟงานด่วน" และสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2

นอกจากนี้ "กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม" หรือ อว. ยังได้ร่วม MOU กับ 19 มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรเพิ่มทักษะรองรับงานหลังวิกฤตโรคโควิด-19 ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Re-skill, Up-skill, New-skill) โดยเป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (Life Long Learning) เพื่อให้สามารถรองรับงานใหม่ ๆ ในรูปแบบใหม่ ๆ ทจัดอบรมตั้งแต่เดือนมิ.ย.นี้ เป็นต้นไป ครอบคลุม 9 ทักษะใน 12 สาขาอุตสาหกรรม 8 กลุ่มสาขาวิชาชีพ มีหลักสูตรที่ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้น 30 หลักสูตรจาก 19 สถาบันอุดมศึกษา หลักสูตรโดย
ส่วนมากเป็นรูปแบบเรียนฟรี โดยคาดว่าจะสามารถพัฒนาคนได้กว่า 3,000 คน ภายในปี 2563 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา อว. โทรศัพท์ 0-2039-5612

นอกจากนั้น อว. ยังมี "โครงการจ้างงานของกระทรวง" กับ 42 หน่วยงานจ้างงาน ให้แก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันได้จ้างงานไปแล้ว 9,710 อัตรา ครอบคลุมทั่วประเทศ ระยะ4 เดือน เช่น การสำรวจจัดทำฐานข้อมูลชุมชน การประสานงานกับพื้นที่ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การทำการเกษตร การนำองค์ความรู้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดและฝึกอบรมให้ชุมชน เป็นต้นโดย อว.เตรียมขยายผลโครงการจ้างงาน ในระยะที่ 2 ที่คาดว่าจะรับสมัครผู้สนใจได้ อีกไม่น้อยกว่า 40,000 อัตรา ภายในเดือนกรกฎาคมนี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น