“รองประธานสภาฯ” เห็นด้วย รบ.เกลี่ยงบกู้วิกฤต “โควิด-19” แนะจัดลำดับความสำคัญก่อนตัดงบ ชี้เป้า “งบพีอาร์-สัมมนา-เดินทาง” ที่ไม่จำเป็น เตือนไม่ควรกระทบ “งบลงทุน” ที่เป็นเครื่องยนต์ทาง ศก.ตัวสุดท้าย อาจซ้ำเติมภาคแรงงาน-ผู้ประกอบการ ที่เชื่อว่า ศก.จะซึมยาว ตัวเลขว่างงานพุ่ง จี้หน่วยงานรัฐเร่งเบิกจ่ายงบกระตุ้น ศก.ช่วงนี้
วันนี้ (4 เม.ย.) นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังพิจารณาการโอนงบประมาณประจำปี 2563 จากทุกกระทรวง ราว 10% เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ว่า เห็นด้วยกับแนวทางที่รัฐบาลจะโอนงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นจากกระทรวงต่างๆ ไปใช้ในการกู้วิกฤตการณ์ครั้งนี้ แต่การวางกรอบว่าจะต้องดึงงบประมาณจากแต่ละกระทรวงให้ได้ 10% หรือรวมประมาณ 3.2 แสนล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 3.2 ล้านล้านบาท นั้นอาจไม่ถูกต้องเสียทีเดียว รัฐบาลจำเป็นต้องคิดอย่างรอบคอบทั้งในมิติของการแก้ไขปัญหาด้านการสาธารณสุข และในแง่การแก้ไขบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ควบคู่กันไป โดยต้องมอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยสำนักงบประมาณ ร่วมกับกระทรวงต่างๆในการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณรายจ่ายแต่ละกระทรวง เพื่อดูว่างบประมาณที่ยังไม่เบิกจ่ายรายการใดที่ไม่เหมาะกับสถานการณ์และไม่สามารถปฏิบัติได้ในขณะนี้ โดยเฉพาะในส่วนของงบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ การจัดนิทรรศการ อบรมสัมมนา และการเดินทางดูงานหรือไปราชการต่างประเทศ หรือการจัดซื้อจัดจ้างที่ยังไม่มีความจำเป็น เป็นต้น โดยที่ไม่ควรไปกระทบในส่วนของงบประมาณด้านการลงทุนต่างๆ ที่เดิมก็ถือว่ามีอยู่ไม่มากอยู่แล้ว
“งบลงทุนของรัฐบาลถือเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวสุดท้าย ในขณะที่เครื่องยนต์อื่นๆ ทั้งภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภค ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 ที่คาดว่า กินระยะเวลาอีกไปพอสมควร อีกทั้งงบลงทุนของรัฐบาลรวมกับรัฐวิสาหกิจในปี 2563 รวมกันแล้วประมาณ 5 แสนล้านบาทเท่านั้น ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมด รัฐบาลจึงไม่ควรไปตัดงบประมาณในส่วนนี้เลย” นายสุชาติ กล่าว
นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า หากมีการตัดงบลงทุนอาจเป็นการส่งผลกระทบไปถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อันจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ และผู้ใช้แรงงาน เพราะเชื่อว่าหลังวิกฤตคลี่คลาย เศรษฐกิจจะยังคงซบเซาไปอีกระยะ จะมีอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากธุรกิจหลายตัวหยุดนิ่งมาเป็นเวลานาน งบประมาณด้านการลงทุนของภาครัฐจึงมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งทางตรงในการทำให้เกิดการจ้างงาน และในทางอ้อมเพื่อกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นและการลงทุนของภาคเอกชนด้วย ทั้งนี้ในช่วงนี้เอง แม้หน่วยงานต่างๆ จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เพราะอยู่ในช่วงมาตรการ Work form home แต่รัฐบาลต้องการวิธีการและสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณที่จำเป็นเข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากเดิมงบประมาณ 2563 ก็มีความล่าช้ามากกว่าครึ่งปี และยังมาประสบวิกฤตจากโควิด-19 อีก
รองประธานสภาฯกล่าวด้วยว่า สภาฯในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติเองก็มีความพร้อมในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนปรับเปลี่ยนงบประมาณจากทุกกระทรวง ที่อาจต้องเปิดสการประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ หรือการพิจารณษวางกรอบร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่บรรจุและจะนำมาพิจารณาเป็นวาระแรก ภายหลังเปิดสมัยประชุมสามัย ช่วงเดือน พ.ค. 63 นี้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ขณะนี้ ก็เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจาก ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเป็นอย่างดี