xs
xsm
sm
md
lg

“หมอเฉลิมชัย” คาดวิกฤตโควิด-19 ส่อยืดเยื้อเป็นปี แนะรัฐเร่งหาจิตอาสา-ใช้โมเดลจีน “เศรษฐีช่วยชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา (ภาพจากแฟ้ม)
“นพ.เฉลิมชัย” คาดวิกฤตโควิด-19 ส่อยืดเยื้อเป็นปี แนะรัฐเร่งประกาศหาจิตอาสาช่วยงานด้านสาธารณสุข-โอนงบ 63 ออกกฎหมายกู้เงิน-ใช้โมเดลจีนให้เศรษฐีบริจาคช่วยชาติ

วันนี้ (3 เม.ย.) นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา เสนอให้รัฐบาลระดมทรัพยากรที่จะรองรับ COVID-19 โดยระบุว่า ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในระดับโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (จำนวน 927,925 คน มีอัตราการเพิ่มต่อวัน 10.45%) และการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิต (จำนวน 46,616 คน เป็นจำนวนผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อ 5.02%) ในประเทศไทยแม้สถานการณ์จะดีกว่าสถานการณ์เฉลี่ยของโลก แต่เราก็ประมาทไม่ได้ ต้องเร่งทำงานหนักกันต่อไป กล่าวคือ ณ วันที่ 2 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อจำนวน 1,875 คน เพิ่มขึ้น 104 คน คิดเป็น 5.87% และมีผู้เสียชีวิต 15 คน คิดเป็น 0.8% เนื่องจากเป็นสถานการณ์วิกฤตรุนแรงขนาดใหญ่ และคาดว่าจะมีความต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนหรืออาจจะเป็นปี การเตรียมความพร้อมของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์ จำเป็นที่จะต้องมีการระดมทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ พอจะแบ่งทรัพยากรออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

1) ทรัพยากรด้านแรงกายและการเสียสละเวลาของคนในชาติ ที่จะต้องมีอาสาสมัครจำนวนมาก สละเวลาและแรงกายตามความรู้ความสามารถที่เหมาะสมมาช่วยกันแก้ไขปัญหา เช่น เป็นจิตอาสาทำงานใน รพ.สนาม หรือสถานที่กักตัวของผู้มีความเสี่ยง เป็นต้น

2) ทรัพยากรที่จัดซื้อจัดหามาด้วยงบประมาณ เช่น PPE (Personal Protective Equipment) ใช้ป้องกันบุคลากรสาธารณสุขไม่ให้ติดเชื้อในขณะปฏิบัติงาน เครื่องและน้ำยาตรวจหาผู้ติดเชื้อ หน้ากากชนิดต่างๆ เงินที่จะใช้ประคองชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 จากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรค เป็นต้น รัฐจึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก มากกว่างบกลางที่จัดเตรียมไว้ในกรณีฉุกเฉินเป็นประจำทุกปี เมื่องบกลางไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายแล้ว รัฐก็จำเป็นที่จะต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติม ได้แก่ การออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด เพื่อโอนงบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่ได้ใช้และอาจจะไม่ได้ใช้เต็มจำนวนที่ตั้งไว้ เช่น งบรายจ่ายประจำเรื่อง ค่าตอบแทนล่วงเวลา ค่าสาธารณูปโภค (การใช้ไฟฟ้าลดลงจากเจ้าหน้าที่ทำงานที่บ้าน) ค่าอบรมสัมมนาในประเทศ และค่าศึกษาดูงานในต่างประเทศ เป็นต้น ในเบื้องต้นประมาณการว่าจะมีเงินในส่วนนี้ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นอาจโอนงบประมาณในส่วนงบลงทุนที่หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างไม่ทัน (เหลือเวลาอีก 6 เดือน สำหรับปีงบประมาณ 2563) คาดว่าน่าจะมีจำนวนเงินงบประมาณที่โอนได้อีก 1 แสนล้านบาท ทำให้มีวงเงินใช้เพื่อการรองรับ COVID-19 ได้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ยังสามารถออกกฎหมายเพื่อกู้เงินอีกจำนวนหนึ่ง(เน้นแหล่งเงินภายในประเทศ) เพื่อมาสมทบเงินโอนจากงบประมาณปี 2563 ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เหมาะสมไม่ควรเกินร้อยละ 60 ซึ่งในขณะนี้มีหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 จึงยังสามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้ รวมไปถึงการรับบริจาคจากบริษัทขนาดใหญ่ และผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ เช่น 100 อันดับแรกของประเทศ ถ้าดูจากการบริจาคของภาคเอกชนที่ประเทศจีนตอนต้นปี เพื่อนำไปใช้รองรับสถานการณ์ COVID-19 จะเห็นได้ว่ามีผู้บริจาครายใหญ่บริจาครายละนับร้อยนับพันล้านบาท จึงน่าประมาณการในประเทศไทยได้ในทำนองเดียวกัน และแหล่งเงินบริจาคนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในสถานการณ์ขณะนี้ที่มีความเร่งด่วนในการจัดหาข้าวของเครื่องมือต่างๆ โดยเร่งด่วน เช่น เครื่องตรวจหาเชื้อไวรัสที่ตรวจได้ง่าย รวดเร็ว แม่นยำ แต่เครื่องมีราคาแพง (ประมาณ 15 ล้านบาท)

“ถ้าใช้งบประมาณทางราชการจะใช้เวลานาน แต่ถ้าใช้เงินบริจาคของเอกชนจัดหาเครื่องมือมามอบให้แก่โรงพยาบาลโดยตรงจะรวดเร็วกว่ามาก (ตัวอย่างมีเศรษฐีใจบุญซื้อเครื่องดังกล่าวมามอบให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เรียบร้อยแล้ว) ถ้าทำได้จะมีงบประมาณเข้ามารองรับสถานการณ์ COVID-19 หลายแสนล้านบาท ซึ่งในสถานการณ์ขณะนี้ถือว่าเพียงพอ ส่วนในอนาคตถ้าโรคมีความยืดเยื้อและมีผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องก็อาจจะต้องมีการพิจารณาเรื่องการจัดหาทรัพยากรเพิ่มเติมให้เหมาะสมต่อไปครับ” นพ.เฉลิมชัย ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น