xs
xsm
sm
md
lg

ความสามัคคีของประชาชน คือความไม่มั่นคงของอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ


วันนี้ เริ่มมีกระแสเรียกร้องให้มีการปรองดองด้วยการนิรโทษกรรมอีกครั้ง เพราะหลายฝ่ายมองว่า เป็นทางเดียวที่จะสลายความขัดแย้งและบาดหมางของคนในชาติ

ต้องยอมรับว่า วิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นมานับสิบปีนั้น เกิดขึ้นเพราะประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลที่เขามองว่าฉ้อฉลและใช้อำนาจโดยไม่ชอบ จนกระทั่งเกิดสงครามสีเสื้อจากกลุ่มคนที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน และสุดท้ายทุกฝ่ายก็กลายเป็นผู้ต้องหาทางการเมืองที่มีคดีติดตัวและทยอยกันถูกลงโทษทางกฎหมายติดคุกติดตารางกันไป และยังมีอีกหลายคดีที่รอการพิจารณา


ถ้าเราย้อนไปมองเป้าหมายของการชุมนุมของทุกกลุ่มทุกสีเสื้อ ไม่ว่าจะพันธมิตรฯ นปช. หรือ กปปส. ล้วนเชื่อว่า ต่างฝ่ายมีเป้าหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ ด้วยชุดความคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน อาจจะมีการโจมตีด่าทอกันไปมาถึงความมุ่งหมายที่แฝงเร้นของแต่ละฝ่าย หรืออาจจะมองว่าเป็นการชุมนุมที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาแอบแฝงบ้างก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นการชุมนุมที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

แต่ความมุ่งหมายที่ดีของผู้ชุมนุมกลายเป็นการกระทำผิดกฎหมายของรัฐในรูปของกฎหมายปลีกย่อยสารพัดที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้มาเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีตามมาหลังการชุมนุมสิ้นสุดลง มันทำให้เกิดคำถามว่า กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือเพื่อเล่นงานคนที่ลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองไปในทางที่ดี กระทั่งเป็นการใช้สิทธิของประชาชนที่มีบทบัญญัติให้ไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป

คนที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมอาจจะพูดว่า คนที่ทำผิดก็ต้องรับโทษทางกฎหมาย แต่หากเราพิจารณาแล้วจะเห็นว่าการกระทำผิดทางการเมืองนั้น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตน ไม่ใช่การกระทำอาชญากรรม แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อบ้านเมืองเป็นสำคัญ แม้ว่าการกระทำนั้นอาจทำให้บ้านเมืองเสียหายและมีประชาชนบางฝ่ายไม่เห็นด้วยและคัดค้านก็ตาม

ในอดีตนั้นแม้แต่การกระทำรัฐประหารที่กระทำไม่สำเร็จ จนกลายเป็นกบฏก็ยังได้รับการนิรโทษกรรมมาแล้วหลายครั้ง ความขัดแย้งของประชาชนในชาติ หรือแม้กระทั่งการมีความมุ่งหมายจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐเข้าป่าจับมือกับพรรคคอมมิวนิสต์ก็มีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาแล้ว

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475เรามีความขัดแย้งดันหลายหนหลายครามีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาแล้วหลายฉบับทั้งในรูปของพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และเขียนไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

จุดมุ่งหมายที่ถูกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการนิรโทษกรรมนั้น เช่น การกระทำไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร หรือการชุมนุมทางการเมืองล้วนเป็นไปด้วยความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง มิได้แสวงหาประโยชน์ส่วนตน รวมถึงเหตุผลเรื่องความสามัคคีของคนในชาติและให้โอกาสบุคคลผู้กระทำความผิดได้มีโอกาสทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไป รวมถึงสามารถช่วยบรรเทาให้ความบาดหมางระหว่างคนในชาติได้หันหน้าเข้ามาปรองดองกัน ร่วมมือทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป

เราจะเห็นว่ารูปแบบใหญ่ของความขัดแย้งของคนในชาติในรอบสิบกว่าปีมานี้นับเนื่องจากการครองอำนาจของทักษิณในปี 2544 นั้น พอจะพูดได้แบบกว้างๆ ว่า เป็นความขัดแย้งของแนวคิดอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม และสองแนวคิดมีประชาชนที่สนับสนุนพอๆกัน แต่ถ้าเรามองว่า ในทางการเมืองทุกประเทศทั่วโลกยกเว้นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ก็มีการแข่งขันทางการเมืองที่ต่อสู้กันด้วยแนวคิดอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม แล้วทำไมเราจึงต้องมีความแตกแยกขัดแย้งกันในหมู่ประชาชนด้วยกันด้วย

ในความเห็นส่วนตัวนั้นผมมองว่า เพราะเราไม่ได้ขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์การเมืองอย่างเดียว แต่เราขัดแย้งเพราะบูชาตัวบุคคลด้วย และความขัดแย้งของประชาชนก็กลายเป็นประโยชน์ของนักการเมืองโดยไม่รู้ตัว

แน่นอนว่าประชาชนส่วนหนึ่งมีความนิยมในตัวของทักษิณขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งต่อต้าน ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าทักษิณทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าทักษิณฉ้อฉลและใช้อำนาจโดยมิชอบ เมื่อประชาชนกลุ่มหนึ่งออกมาขับไล่ทักษิณจึงเกิดประชาชนที่ออกมาปกป้องทักษิณ เชื่อไหมว่า ประชาชนทั้งสองฝ่ายเชื่อว่า ตัวเองนั้นมีความถูกต้องและชอบธรรม

แต่ความขัดแย้งได้พัฒนาไปมากกว่านั้น คือเราไม่ได้มองการกระทำของทักษิณแบบแยกแยะด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล ทั้งที่ทักษิณอาจจะมีทั้งเรื่องที่กระทำที่ถูกต้องและกระทำที่ผิด แต่การบูชาตัวบุคคลและเกลียดชังตัวบุคคลทำให้เรามองแบบขาวกับดำไปเสียทุกเรื่อง

แม้กระทั่งวันนี้ที่ความขัดแย้งทางการเมืองผ่านมาจากการรัฐประหารสองครั้งในรอบสิบปี ความคิดบูชาบุคคลแบบขาวกับดำทำให้เรากลายเป็นกองเชียร์ของนักการเมือง ของคนที่อยู่ในอำนาจมากกว่าจะเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นในสิทธิของตนและช่วยกันรักษาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

ถ้าจะพูดกันให้เห็นภาพเราเชียร์นักการเมืองแบบเชียร์ทีมฟุตบอลเหมือนคนที่เชียร์ทีมลิเวอร์พูลกับทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ไม่ว่าผิดพลาดหรือล้มเหลวอย่างไรก็ยังรัก ดูหมิ่นและเหยียดหยามกันเอง คนที่ได้ประโยชน์คือนักการเมือง เพราะผู้มีอำนาจกลายเป็นคนที่เรารักและคู่ต่อสู้ของคนที่เรารักเป็นคนที่เราเกลียด เราจึงเห็นประชาชนออกมาปกป้องนักการเมืองที่ตัวเองสนับสนุนกระทั่งมองข้ามสิ่งที่เขากระทำไม่ถูกต้อง และมองประชาชนด้วยกันที่เป็นฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูที่น่าหยามเหยียด

วันนี้สภาพการเมืองเป็นแบบนี้มีคนยังรักทักษิณแบบบูชาตัวบุคคล และมีคนรักลุงตู่บูชาตัวบุคคล เราไม่ตรวจสอบนักการเมืองแบบสายตาของประชาชนที่เป็นบุคคลภายนอกที่ตรวจสอบผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนในฐานะที่เราเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่เราตรวจสอบนักการเมืองแบบคนที่เรารักและเราเกลียด เรามองไม่เห็นข้อเสียของคนที่เรารักเพราะความรักทำให้คนตาบอด หรือถ้าเห็นก็ทำเป็นมองข้ามเพิกเฉยเสีย

ความขัดแย้งของประชาชนแบบนี้ประโยชน์จึงตกกับนักการเมือง โดยเฉพาะคนที่ครองอำนาจ เพราะไม่ว่าทำอะไรก็จะมีประชาชนอีกฝ่ายเป็นแรงสนับสนุนและเกราะกำบัง กลายเป็นการแบ่งแยกและปกครองโดยธรรมชาติที่ผู้ปกครองปรารถนา ความแตกแยกของประชาชนคือความมั่นคงของผู้มีอำนาจ เรามองดูการเมืองไทยปัจจุบันเราก็เห็นว่า สำหรับคนที่รักลุงตู่แล้ว เราเอาแต่รักและเชียร์หรือได้หันมาวิจารณ์ในสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้องชอบธรรมไหมกับการกระทำของรัฐบาลและคนรอบตัวลุงตู่บ้างไหม

ที่พูดมานี้สำหรับคนรักทักษิณก็เช่นเดียวกัน พวกเขาก็มองข้ามความผิดพลาดและการใช้อำนาจที่ฉ้อฉลของทักษิณ กระทั่งหลงเพ้อว่าการยืนข้างทักษิณคือ การเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และมีนักวิชาการ ปัญญาชนมาเกาะขบวนประชาธิปไตยแบบทักษิณ เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งที่ทักษิณมีคุณสมบัติเดียวที่เข้าข่ายว่าเป็นประชาธิปไตยคือมาจากการเลือกตั้งเท่านั้นเอง

และนักวิชาการและปัญญาชนบางกลุ่มก็หวังจะใช้ความแตกแยกของประชาชนเป็นเครื่องมือในการต่อต้านระบอบของรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สาธารณรัฐที่พวกเขาใฝ่ฝัน

ที่บอกว่า ความขัดแย้งทุกวันนี้ได้พัฒนาไปเป็นการแบ่งฝ่ายแบบเชียร์ทีมฟุตบอลไปแล้ว เพราะถ้ามันเป็นความขัดแย้งแบบอุดมการณ์การเมืองระหว่างอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม ทั้งสองแนวคิดนี้อย่างไรเสียก็ต้องมีบรรทัดฐานของความถูกต้องชอบธรรมเป็นพื้นฐานเหมือนกัน แต่วันนี้เราบูชาตัวบุคคลจนละเลยการกระทำที่ไม่ชอบของฝ่ายที่เราเชียร์และเทิดทูนบูชา ทำให้ผู้มีอำนาจได้ประโยชน์จากความขัดแย้งของประชาชน

และรัฐบาลก็จะฉวยโอกาสในการใช้อำนาจนิยมในการรักษาอำนาจของตัวเอง เพราะเชื่อว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งให้การสนับสนุน เราจึงยังเห็นการใช้อำนาจกึ่งเผด็จการในรัฐบาลชุดนี้แม้จะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม รวมถึงไม่เห็นความพยายามที่จะปฏิรูปการเมือง หรือขจัดเงื่อนไขที่เป็นความขัดแย้งของคนในชาติให้หมดไป

ดังนั้นผมกำลังคิดว่า ข้อเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมความผิดจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองของประชาชน จนมีคดีความติดตัวกันทุกฝ่ายนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นง่าย เพราะผู้มีอำนาจมองเห็นประโยชน์จากความขัดแย้งของประชาชนนั่นเอง แม้ว่าเราจะมีแบบอย่างในอดีตที่การล้างมลทินนั้นเป็นรูปธรรมของการให้ความกรุณาที่มีความสำคัญและมีวิวัฒนาการจากนิติประเพณีมาสู่ความเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายเป็นแบบอย่างอยู่แล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้อภัยต่อประชาชนที่ออกมาต่อสู้ด้วยเจตนาดีต่อบ้านเมืองเป็นสำคัญ


แต่ถ้าความขัดแย้งของประชาชนที่แบ่งฝักฝ่ายยังอยู่ ความคลางแคลงใจของคนในชาติยังอยู่ ความรู้สึกถึงความอยุติธรรมและการได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันยังอยู่ ก็อาจนำไปสู่เงื่อนไขที่จะใช้ปลุกปั่นคนในชาติจนกระทั่งเกิดความรุนแรงที่ยิ่งกว่าความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทุกครั้งในอดีต รวมถึงที่ ท่านใหม่ หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ออกมาเตือนเรื่องการเปลี่ยนแปลงระดับ 2475 ก็เป็นได้

ไม่รู้เหมือนกันว่า รัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจ โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือให้เกิดการได้เปรียบผ่านพิธีการการเลือกตั้ง จะมองเห็นถึงความขัดแย้งที่กำลังก่อตัวรุนแรงขึ้นหรือไม่ หรือมองว่าจะใช้อำนาจกำลังและกฎหมายเป็นกำปั้นเหล็กในการจัดการอย่างเด็ดขาดเพียงอย่างเดียว หรือมองเห็นว่า ทางออกของบ้านเมืองคือ การสร้างความสมานฉันท์ปรองดองและใช้ความยุติธรรมเป็นเครื่องมือ

หรือไม่รัฐบาล ผู้นำ และนักการเมืองที่กำลังมีอำนาจก็อาจไม่มีสายตาที่มองเห็นความเป็นไปของบ้านเมืองที่กำลังคุกรุ่น มองไม่เห็นภยันตรายที่รออยู่เบื้องหน้าจากการที่เรามองเห็นพวกเขายังแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจกันอยู่

รัฐบาลนี้ใช้ความขัดแย้งของประชาชนเข้ามาสู่อำนาจ บางทีเขาอาจมองว่าจะนิรโทษกรรมเพื่อขจัดความขัดแย้งไปทำไม เมื่อความขัดแย้งนั่นแหละคือความมั่นคงของอำนาจ และความสามัคคีของประชาชนคือความไม่มั่นคงในอำนาจนั่นเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น