“ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563 ตอน เบื้องหลัง จุดประกาย นิรโทษกรรม ไม่มีควัน ก็ไม่มีไฟ บิ๊กตู่ขยับไม่สุด
ประเด็นข่าวการเมืองร้อนๆในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กับการจุดกระแส”นิรโทษกรรมคดีการเมือง” และมีกระแสข่าวไปไกลถึงเรื่อง รัฐบาลสมานฉันท์ ถูกหยิบขึ้นมาอีกครั้ง โดยเรื่องนิรโทษกรรมนั้น ฝ่ายรัฐบาลออกมาดับกระแสข่าวอย่างรวดเร็วว่ารัฐบาลชุดนี้ ไม่มีแนวคิดเรื่อง การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ล้างผิด อะไรทั้งสิ้น
แต่ข้างฝ่ายค้าน อย่าง พรรคเพื่อไทย กลับออกมา
สนับสนุน เรียกร้องให้ รัฐบาลประยุทธ์ สร้างความปรองดอง และเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี ที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่เหตุการณ์ชุมนุมขนาดใหญ่ทางการเมืองที่ผ่านมา
เบื้องหลังสำหรับเรื่องโรดแมปปรองดอง และการนิรโทษกรรมมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มาสักระยะแล้ว โดยมีข่าวว่า เรื่องนี้ คนในทำเนียบรัฐบาล ระดับบิ๊กๆ รับรู้มาตลอด เพราะมีการประสาน สั่งการด้วยวาจา ไปยัง นักการเมืองบางคนที่มีตำแหน่งอยู่ในระดับ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรีเป็นตัวเดินงาน
สาเหตุที่นักการเมืองคนดังกล่าว ได้รับมอบภารกิจนี้ ก็เพราะเคยเป็นอดีตแนวร่วมแกนนำที่เคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มการเมืองเสื้อแดงมาแล้ว
ซึ่งบิ๊กรัฐบาล แจ้งให้ นักการเมืองคนดังกล่าว ไปพูดคุยกับแกนนำ-ผู้ประสานงานการเมือง ตัวแทนกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายเสื้อแดง อดีตแนวร่วมพันธมิตรฯ -กปปส. เพื่อขอรับฟังความเห็นว่า หากรัฐบาลจะทำโรดแมปปรองดองให้มีความคืบหน้า ควรต้องทำอย่างไร มีข้อเสนออะไรบ้าง
การหารือพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการดังกล่าว ที่ผู้ประสานงานจากทำเนียบรัฐบาลมาร่วมฟังความเห็นจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นหลายรอบ โดยใช้สถานที่นัดหมายเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม แต่หลักๆ จะมีแกนนำผู้ประสานงาน 1-2 คนที่เป็นผู้ใหญ่ที่วงการนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวการเมือง ให้ความเคารพนับถือ คอยประสานงานและเป็นโต้โผในการนัดหมายพูดคุย
โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงต้นปี ที่ผ่านมา ข่าวบอกว่า วงนัดพบหารือเรื่องปรองดองนิรโทษกรรม เริ่มกระชับวงล้อม ตีกรอบประเด็นให้แคบลงมามากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้คนในวงหารือบางส่วน มีความคาดหวังว่า อย่างช้า ช่วงต้นเดือน พฤษภาคม น่าจะมีอะไรที่ออกมาเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
ในการเสนออะไรบางอย่าง หรือส่งสัญญาณว่า รัฐบาลประยุทธ์ จริงจัง และ เอาแน่กับเรื่องปรองดอง นิรโทษกรรม คนเหล่านั้นอยากให้ นายกฯ ส่งสัญญาณต่อสาธารณชนออกมาบ้างว่า จะทำเรื่องปรองดองที่เห็นผลเป็นรูปธรรมจับต้องได้ โดยต้องไม่ใช่ใช้วิธีตั้งกรรมการอะไรขึ้นมาซื้อเวลาอีก
แต่แล้วเมื่อเกิด วิกฤตโควิดฯ ทุกอย่าง ประเทศล็อกดาวน์ จนเกิดผลกระทบกันไปหมด วงหารือเรื่องปรองดอง นิรโทษกรรม เลยต้อง หยุดตามไปด้วย
จนกระทั่งโควิดฯ เริ่มคลี่คลาย จึงมีข่าวว่า คนในวงหารือ บางส่วนก็มองว่า เรื่องปรองดอง จะปล่อยให้เงียบไปเฉยๆ ไม่ได้ ถึงเวลาต้องออกมาทวงถาม เรื่องนี้ต่อสาธารณชน ไม่อยากให้มีการซื้อเวลาเรื่องนี้ออกไปอีก เพราะว่าหลายปีที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องการสร้างความปรองดองมาหลายชุดแล้ว
แม้แต่ในยุคคสช. เองก็ตาม จนได้ผลการศึกษาออกมามากมาย เช่นรายงานข้อเสนอเรื่องการสร้างความปรองดองของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ปี2558 ที่มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน
แม้แต่ในระดับทหาร ตอนหลังรัฐประหารปี 2557 ใหม่ๆ ทางพลเอกประยุทธ์ ก็ให้ตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือศปป.ที่สโมสรกองทัพบก โดยเชิญตัวแทนจากหลายกลุ่มไปให้ความเห็นเรื่องการสร้างความปรองดอง จนมีรายงานออกมาส่งถึงบิ๊กๆคสช.ในเวลานั้น
เรียกได้ว่า รายงานผลการศึกษาและข้อเสนอเรื่องการสร้างความปรองดอง นิรโทษกรรม มีการศึกษาและทำข้อเสนอกันออกมามากมายหลายสูตร
ทำให้ ฝ่ายที่ร่วมหารือเรื่องปรองดองนิรโทษกรรมกับคนของฝ่ายรัฐบาล จึงไม่อยากให้เสียเวลามาศึกษาอะไรอีกแล้ว ต้องเดินหน้าตัดสินใจเอาไม่เอาสถานเดียว
เรื่องปรองดอง และนิรโทษกรรม ข่าวในทางลับ พบว่าเรื่องนี้ มีการขยับกันจริง เพียงแต่ไม่ได้มีข้อสรุปใดๆ ออกมาอย่างเป็นทางการ อีกทั้ง ไม่ได้มีการตกปากรับคำใดๆ ทั้งสิ้นในวงหารือหลายรอบดังกล่าว
เพียงแต่หลักการใหญ่ๆ ที่วงหารือตกผลึกระดับหนึ่งก็คือ หากบ้านเมืองเดินหน้าไปด้วยดี ไม่มีปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง แล้ว ก็ให้รัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ หาโอกาสเหมาะๆ ออกหน้า ขยับแอคชั่นเรื่องปรองดอง นิรโทษกรรมอีกสักรอบ เพื่อเช็คกระแส สังคมจะขานรับหรือไม่
สำหรับวิธีสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ดูแล้ว สูตรที่คาดว่า หลายกลุ่มการเมืองน่าจะพอรับกันได้มากที่สุด ก็คือ สูตรของ คณะกรรมการชุดดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์"ที่เสนอแนวทางให้นิรโทษ ให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์การเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2557
ที่เรียกกันว่า นิรโทษกรรมการเมืองแก่นักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิด แต่ไม่รวมถึง ผู้ทำผิดกฎหมายอาญาที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
เรื่องปรองดอง นิรโทษกรรม ที่ข่าวว่ามีคนในรัฐบาลกำลังขยับ จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่ เข้าทำนองว่า ไม่มีควัน ก็ไม่มีไฟ เพียงแต่เรื่องยังไม่ทำแบบทางการ และเป็นแค่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวบรวมข้อมูล เท่านั้น
ประเด็นความปรองดองนี้ นับว่ามีความอ่อนไหวทางการเมือง และเป็นเผือกร้อนในมือรัฐบาลด้วย จนคาดว่าคงยากที่ บิ๊กตู่ พลเอก ประยุทธ์ จะแบกหน้า รับเป็นเจ้าภาพได้ เว้นเสียแต่ มีสัญญาณจากทุกระดับให้ทำได้ พลเอกประยุทธ์ ก็น่าจะขยับต่อไป