xs
xsm
sm
md
lg

อยู่ในใจเสมอ! “ปู-ยิ่งลักษณ์” ชื่นมื่นวันเกิด “ญาติวีรชน 35” จี้ “ลุงตู่” นิรโทษกรรม-ปรองดอง “ทักษิณ” ไว้ทีหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จาก เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra
“ปู-ยิ่งลักษณ์” หวานชื่นวันเกิด ขอบคุณทุกคำอวยพร ทุกท่านอยู่ในใจเสมอ “แดงแอลเอ-แคลิฟอร์เนีย” ไม่พลาด “ญาติวีรชนฯ 35” จี้ “ลุงตู่” เร่ง “นิรโทษกรรม-ปรองดอง” ระบุ “ทักษิณ” ต้องรอให้คนในชาติตัดสิน

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (21 มิ.ย. 63) เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ของ “ปู- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความระบุว่า

“เป็นอีกปีหนึ่ง ที่ดิฉันขอส่งความขอบคุณสำหรับทุกคำอวยพรในวันเกิดปีนี้ ที่ส่งผ่านมาจากหลายช่องทางมาให้กับดิฉัน บางท่านก็นัดกันเป่าเค้กอวยพรวันเกิดและส่งคำอวยพรเป็นวิดีโอมาให้ แม้ว่าปีนี้สถานการณ์จะทำให้วิถีชีวิตเราต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่เรียกว่า New Normal ทุกคนต้องปรับตัวสู่มาตรฐานแบบใหม่ แต่สำหรับดิฉันไม่ว่าจะความหมายใด ทุกท่านยังคงอยู่ในใจของดิฉันเสมอค่ะ

ขอให้ทุกคำอวยพร ทุกความปรารถนาดีที่ทุกท่านตั้งใจมอบให้กับดิฉัน ส่งผลย้อนกลับไปสร้างสิ่งดีๆ ให้กับแฟนคลับ และพี่น้องประชาชนทุกคนด้วยนะคะ

ขอให้เราผ่านพ้นจากสถานการณ์โควิด-19 และพิษจากเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงกันมา ดิฉันก็ขอให้ทุกคนมีกำลังใจที่ดี มีหัวใจที่เข้มแข็ง เพื่อที่ฟันฝ่าต่ออุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ไปได้ด้วยดี เราจะเป็นกำลังใจให้กันและกันเหมือนเดิม ตลอดไปค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ”

ขณะ เฟซบุ๊ก Jom Petchpradab ของ นายจอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ซึ่งลี้ภัยหนีคดีความมั่นคงอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็โพสต์ข้อความสั้นๆ พร้อมวิดีโอบรรยากาศคนเสื้อแดงมอบเค้กอวยพรวันเกิดให้กับ “ยิ่งลักษณ์” ว่า

“เนื่องในโอกาสคล้ายวันเกิดอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยในแอลเอ แคลิฟอร์เนีย ร่วมกันอวยพรอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ เหมือนเช่นทุกปี”

ภาพ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ จากแฟ้ม
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจไม่แพ้กันในวันนี้ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และอดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 เรื่อง “หยุดฉีกสัญญาประชาคม แบ่งแยกแล้วปกครอง เดินหน้าสู่การปรองดอง หลอมรวมคนไทยทุกภาคส่วน”

โดยแถลงการณ์ระบุว่า จากกรณีที่มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งให้ทีมงานไปรวบรวมรายชื่อบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีการเมืองทั้งหมด เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการนิรโทษกรรมคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง แต่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกลับปฏิเสธว่า ไม่มีมูลความจริงนั้น คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 มีข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. เป็นที่น่าเศร้าอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยที่มีความแตกแยกและขัดแย้งทางการเมืองมาอย่างยาวนาน แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายหรือแนวทางการสร้างความสมานฉันท์และการปรองดองที่เป็นรูปธรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยไปข้างหน้า ทั้งที่ คสช.ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่า จะเข้ามายุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จะทำให้ประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคีตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ

จากนั้นได้ตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองโดยตรงเพื่อรับฟังปัญหาจากพรรคการเมืองและภาคประชาชนทุกฝ่าย

แต่ที่ผ่านมา กลับไม่ให้ความสำคัญและเสนอแนวทางแก้ไขความขัดแย้งที่เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ศึกษาแนวทางและข้อเสนอแนะแนวทางการสร้างความปรองดองไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งได้ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ให้รัฐบาลแล้ว แต่รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการแต่อย่างใด ล่าสุดยังออกมาปฏิเสธอีก ถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชนทั้งประเทศ และฉีกทิ้งสัญญาประชาคมหรือไม่

2. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ และเดินหน้าปฏิรูปประเทศและสร้างความสมานฉันท์ปรองดองแห่งชาติ ก่อนที่จะสายเกินไป โดยมีข้อเสนอแนวทางการปรองดองและสมานฉันท์ที่ชัดเจน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในอดีตและเดินหน้าพัฒนาการประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมการเมืองแก่นักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิด รวมถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองต่างๆ โดยนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ภายใต้สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ได้ศึกษาไว้แล้ว

รวมถึงกระบวนการและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งได้เสนอไว้อย่างครบถ้วน เพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นำหลักความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของคนในชาติ

3. ขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมสนับสนุนการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ตามแนวทางของคณะกรรมการศึกษาแนวทางทางการสร้างความปรองดอง สปช. เริ่มต้นด้วยการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่รวมถึงการกระทำความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอนหลายประการ มุ่งเน้นฟื้นความสัมพันธ์ของคนในชาติ ให้เกิดสร้างความรักสามัคคี เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา ในวันที่ 28 ก.ค. 2563 นี้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่รับฟังและทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน หากดำเนินการสำเร็จจะถือเป็นวีรบุรุษ แต่หากไม่ดำเนินการ แสดงว่าต้องการแบ่งแยกแล้วปกครองเพื่อสืบทอดอำนาจให้นานที่สุด จะกลายเป็นคู่ความขัดแย้งใหม่ของสังคมโดยตรงชัดเจนขึ้น และจะสร้างความขัดแย้งสะสมและรุนแรงขึ้นในอนาคต

4. กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรื่อง "วิธีการทำงานแบบ New Normal ของนายกรัฐมนตรี” ระบุว่า จะผนึกประชาชนทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศ จะทำงานเชิงรุกเพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศนั้นถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

แม้จะสำนึกช้าไปหลายปี แต่รัฐบาลจะไม่สามารถผนึกประชาชนทุกภาคส่วนได้เลย หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังเรื้อรังและสร้างความปรองดองของคนในชาติ

ดังนั้น รัฐบาลต้องดำเนินการแนวทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 หมวด 6 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ และเร่งให้มีการปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและสร้างความสมานฉันท์ของสังคม

5. การปรองดองสมานฉันท์จะสำเร็จลุล่วงได้ ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ต้องเปิดใจกว้างให้อภัยซึ่งกันและกัน พร้อมให้ความร่วมมือ และต้องทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง อย่าให้มีวาระซ่อนเร้นเหมือนครั้งที่มีการผลักดัน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย จนนำไปสู่ความขัดแย้งบานปลาย

ดังนั้น จึงขอฝากถึง นายทักษิณ ชินวัตร ถ้าอยากกลับบ้านแบบเท่ๆ ต้องรู้จักการอดทนรอคอยและพิสูจน์ตัวเองให้ได้ก่อน ต้องเสียสละให้ประชาชนที่ร่วมชุมนุมเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม แต่กลับได้รับความทุกข์ทรมานให้ได้รับการเยียวยาและเกิดสามัคคีของคนในชาติก่อน จากนั้นคนในชาติจะพิจารณาเองว่าจะให้โอกาสนายทักษิณหรือไม่อย่างไร
................

ภาพ ทักษิณ - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากแฟ้ม
ดูเหมือนเป็นคนละเรื่องเดียวกันก็ว่าได้ เพราะทั้ง “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” ต่างก็หลบหนีโทษและคดี โดยเฉพาะเป็นคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งคงต้องลุ้นกันว่า หากมีการ “นิรโทษกรรม” และ “ปรองดอง” จะครอบคลุมด้วยหรือไม่ แม้ว่า ในเบื้องต้น ข้อเสนอของหลายฝ่ายค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ครอบคลุมก็ตาม

และแม้ว่าแถลงการณ์ของ “ญาติวีรชนฯ 35” จะกระตุ้นเตือนรัฐบาล “ลุงตู่” ได้ดี และมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย แต่การจะก้าวไปถึงการนิรโทษกรรมทางการเมือง และ “ปรองดอง” ทางการเมือง ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ประเด็นสำคัญ อาจอยู่ที่ การไม่รวมเอา “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” ซึ่งมีฐานมวลชนอย่างหนาแน่นในภาคเหนือและภาคอีสาน ต่อให้ “นิรโทษกรรม” อย่างไร ก็คงไม่นำไปสู่การปรองดองได้โดยง่าย เพราะอย่าลืม ความเชื่อที่ว่า “ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง” มันฝังอยู่ในสมองของคนเหนือและคนอีสาน ไม่ต่างอะไรกับ “ฝังชิป” เอาไว้นั่นเอง

สุดท้าย “วังวน” ก็คงต้องย้อนกลับมาว่า “ไม่ให้ความเป็นธรรม” กับ “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” กลัว การกลับมาของ “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” อยู่ดี และคนไทยจำนวนมาก ก็จะยังคงไม่ยอมรับการ “ปรองดอง” อยู่นั่นเอง

แต่ครั้น “นิรโทษกรรม” โดยรวมเอา “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” ด้วย ก็เหมือนกับ “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” หรือ “นิรโทษกรรมสุดซอย” ประชาชนอีกจำนวนมาก ก็ไม่ยอมเช่นกัน

แค่นี้ก็เห็นแล้วว่า “ลุงตู่” งานหนักแค่ไหน แทบไม่มีทางเลือกที่ดีที่สุดให้ด้วยซ้ำ แต่ถึงกระนั้น ก็ต้องหาทาง “ปรองดอง” ให้ได้ ซึ่งท้าทายที่จะเป็น “วีรบุรุษ” หรือ สืบทอดอำนาจ อย่างที่ประธานญาติวีรชนฯว่า ก็ไม่แน่เหมือนกัน ซึ่งต้องรอพิสูจน์กันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น