รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ
กรรมการแพทยสภา, กรรมการแพทยสมาคม
หากไปเดินตามสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน เราจะเห็นประกาศสำคัญฉบับหนึ่งที่ติดอยู่ภายใน อันได้แก่ “คำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย” โดยมีเนื้อหาที่สำคัญสองส่วนคือ ส่วนแรกว่าด้วย “สิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับบริการสาธารณสุขทั้งหมด 9 ข้อ” และส่วนที่สองคือ “ข้อพึงปฏิบัติที่ผู้ป่วยและญาติพึงมีต่อบุคลากรสาธารณสุข ต่อสถานพยาบาล และที่สำคัญคือต่อผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยรายอื่น ๆ ทั้งหมด 7 ข้อ”
ทั้งนี้ประกาศฉบับนี้ได้ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2558 หรือ 5 ปีมาแล้ว ประกาศฉบับนี้มีที่มาที่ไปจากการประชุมร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุขและสภาวิชาชีพสาธารณสุขอีก 6 สภาวิชาชีพ (แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ และสภากายภาพบำบัด) ทั้งนี้เริ่มจากดำริของคณะกรรมการแพทยสภาในขณะนั้น ได้เล็งเห็นปัญหาที่สำคัญของระบบสาธารณสุขไทยที่ได้เกิดขึ้นและคาดว่าจะเป็นปัญหารุนแรงต่อมาในอนาคต คือ “ปัญหาการเรียกร้องหรือรู้จักใช้แต่สิทธิที่ตนเองได้รับ โดยละเลยสิทธิของส่วนรวม หรืออีกนัยหนึ่งคือ การเพิกเฉยและไม่ยอมรับว่าทุกคนต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบควบคู่ไปกับสิทธิเสมอ” ตัวอย่างเช่น การเรียกร้องสิทธิการได้รับการรักษาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ให้โดยไม่ยอมรับผิดชอบส่วนเกิน การเรียกร้องขอรับการตรวจที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจพิเศษราคาแพง การใช้ห้องฉุกเฉินโดยปราศจากข้อบ่งชี้ที่สำคัญคือ ภาวะเร่งด่วนฉุกเฉินถึงชีวิตในทางการแพทย์ โดยอ้างแต่ว่า ตนเองคิดว่าปัญหาส่วนตัวคือเรื่องด่วนฉุกเฉินเสมอ ดังนั้นแพทย์พยาบาลต้องตอบสนองให้อย่างไม่มีข้อจำกัด ทำให้ทุกวันนี้ห้องฉุกเฉิน(Emergency room) กลายเป็นห้องสารพัดปัญหา (Everything room) ส่งผลให้ผู้ป่วยหลายรายที่ตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนถึงแก่ชีวิตจริง ๆ ต้องเสียโอกาสในการอดชีวิตเพราะเมื่อไปถึงโรงพยาบาล กลับต้องพบกับความแออัดโดยไม่จำเป็น
ทั้งนี้เห็นได้จากสภาพห้องฉุกเฉินในสถานพยาบาลของรัฐที่กลายสภาพเหมือน 7-11 ที่ใครอยากเข้าใช้บริการเมื่อไรก็ต้องเปิดประตูรับ (ซึ่งต่างจากในต่างประเทศ ที่ห้องฉุกเฉินถือเป็นเขตหวงห้ามพิเศษ ที่อนุญาตให้เฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้นถึงจะเข้ามาได้ อย่างในญี่ปุ่น หากคุณต้องการใช้ห้องฉุกเฉิน จะมีรถพยาบาลไปรับถึงที่ (ห้ามเดินเข้ามาเอง เพราะตราบใดที่เดินมาได้ แสดงว่าไม่ฉุกเฉินเร่งด่วนถึงแก่ชีวิตจริง) และหากภายหลังรถพยาบาลไปรับมาแล้วพบว่าไม่ใช่กรณีเร่งด่วนจริง นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด!! ทำให้ชาวญี่ปุ่น (รวมทั้งอีกหลายประเทศ) ต้องพยายามหาความรู้การดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น ก่อนเรียกร้องความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้รัฐสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณสุขที่ไม่จำเป็นไปได้อย่างมาก
ในครั้งนั้น ทางแพทยสภาได้รับเป็นแกนหลักในการทำงานชิ้นนี้ โดยได้ตั้งคณะทำงานเพื่อร่างคำประกาศ “หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ป่วย (Patients’ responsibilities) เพื่อให้ออกประกาศติดควบคู่ไปกับคำประกาศสิทธิผู้ป่วย (Patient’s rights)ที่ออกมาก่อนหน้านานแล้ว ผู้เขียนในฐานะหนึ่งในคณะทำงานของแพทยสภาเพื่อให้กำเนิดคำประกาศเรื่องหน้าที่ผู้ป่วยออกมาบังคับใช้ในประเทศไทย ได้เล็งเห็นว่าการทำงานชิ้นนี้จะมีประโยชน์มากในอนาคต แต่ขณะเดียวกันก็รับรู้ได้ว่าจะมีแรงต่อต้านจากบางภาคส่วนในทำนองว่า “ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่ ขอแค่สิทธิก็เพียงพอแล้ว!!” ซึ่งในที่สุดก็เป็นจริงตามนั้น เพราะพลันที่ร่างคำประกาศออกมาก็มีแรงต่อต้านดังกล่าวอย่างรุนแรง ทำให้คณะทำงานในขณะนั้นเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างแพทย์พยาบาลในฐานะผู้ให้การรักษา กับ ผู้ป่วยหรือญาติในฐานะผู้รับการรักษาพยาบาล จึงได้ยอมถอยหนึ่งก้าวโดยหลีกเลี่ยงไม่ให้มีสภาพบังคับ (มีบทลงโทษ) จากการออกเป็นกฎหมาย กลายเป็นออกเป็นแนวทางการปฏิบัติ ทำให้ในที่สุดจึงได้คำประกาศ “ข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย” แทนที่จะเป็น “หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ป่วย”
ในสถานการณ์ปัจจุบันเราจะเห็นข่าวคราวการใช้ความรุนแรงในสถานพยาบาล เช่นการลงมือใช้ความรุนแรงของผู้ป่วยหรือญาติต่อบุคลากรทางการแพทย์ การใช้สถานพยาบาลเป็นที่ก่อเหตุความรุนแรง (ใช้สถานที่เพื่อชกต่อยหรือทำร้ายกันเอง) การเข้ามาทำร้ายคู่อริที่ถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล เรื่อยมาจนถึง ข่าวการปกปิดข้อมูลทางการแพทย์ที่สำคัญของตนเองและส่งผลให้การควบคุมการระบาดของโรคติดต่ออันตรายยุ่งยากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่นข่าว ป้าชาวเกาหลีที่ปฏิเสธการตรวจหาเชื้อ Covid-19จนทำให้เกิดการระบาดใหญ่จนควบคุมไม่ได้ในประเทศเกาหลี ข่าวการปกปิดว่ามีการเดินทางกลับมาจากประเทศเสี่ยงของนักท่องเที่ยวที่เฉยเมยต่อคำเตือนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงโดยไม่จำเป็น จนทำให้ทั้งแพทย์พยาบาล สถานพยาบาลและผู้ป่วยหรือญาติรายอื่น ๆ ใน รพ.ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย และล่าสุดข่าวของบรรดาผีน้อยที่ต้องการเดินทางกลับมาประเทศไทยโดยตั้งเงื่อนไข( เรียกร้องแต่สิทธิ)มากมายทั้งการขอเงินค่าตั๋ว ขอหน้ากากอนามัยและที่ร้ายไปกว่านั้นคือการปฏิเสธการถูกกักกันตัวเพื่อเฝ้าระวัง ถึงขนาดมีการขู่ว่าจะปล่อยเชื้อแพร่กระจายเพื่อระบายอารมณ์ ข่าวการกักตุนและโก่งราคาหน้ากากอนามัย ข่าวการปั่นกระแสเพื่อให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อชุมนุมทางการเมืองทั้ง ๆ ที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติต่อชีวิตของคนทั้งประเทศ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวอย่างของความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ รู้จักแต่เรียกร้องสิทธิตนเอง แต่ไร้ความรับผิดและปฏิเสธหน้าที่ต่อส่วนรวม
หันกลับมาดูข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยที่แพทยสภาร่างและได้ประกาศใช้ในทุกสถานพยาบาลที่น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคอันตรายในขณะนี้ ดังนี้
ข้อที่ 7.2) ผู้ป่วยต้องให้ข้อมูลด้านสุขภาพและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ทางการแพทย์ที่เป็นจริงและครบถ้วนแก่ผู้ประกอบวิชีพด้านสุขภาพ
ข้อ 7.3) ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
ข้อ 7.4) ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสถานพยาบาล”
ทั้งสามข้อดังกล่าวล้วนแต่เป็นสิ่งที่เขียนไว้ก่อนเกิดสถานการณ์การระบาดของไวรัส Covid-19 ซึ่งหากคำประกาศดังกล่าวมีสภาพเป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับ รัฐบาลชุดปัจจุบันคงไม่ตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้ หันกลับมาดูกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหน้าที่ของผู้ป่วยโดยตรงในบ้านเรา จะพบว่านอกเหนือจากคำประกาศ(ที่ไม่มีสภาพบังคับ)ดังกล่าวของสภาวิชาชีพแล้ว ที่ใกล้เคียงที่สุดคือ เนื้อหาใน หมวด 1 ของ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพของประชาชนชาวไทย แต่เมื่อไปดูเนื้อในกลับพบว่า ไม่มีมาตราใดเลย ที่เขียนถึงสภาพบังคับให้คนไทยรู้จักหน้าที่ต่อสุขภาพของตนเองและต่อส่วนรวม ทุกมาตราที่มีล้วนแต่เป็นเนื้อหาประเคนให้แต่สิทธิ โดยละเลยการกำกับด้วยหน้าที่ ดังนั้นสังคมไทยในขณะนี้คงต้องเป็นผู้ตัดสินว่าจะกดดันให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาล ลงมือผ่าตัดใหญ่เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการเปลี่ยนแปลงคำประกาศของสภาวิชาชีพว่าด้วย “ข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย” ให้กลายเป็น “กฎหมายว่าด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ป่วย” ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อสุขภาวะที่ดีของเราและลูกหลานในอนาคต