xs
xsm
sm
md
lg

เรียกร้องแต่สิทธิ ไม่ต้องการทำหน้าที่ นิสัยคนไทยหรือนิสัย NGO แอบอ้างผู้ป่วย?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


Image by Bruno /Germany from Pixabay
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข วุฒิสภา


ประเทศไทยเต็มไปด้วยนักร้อง ในที่นี้คือนักเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ระบบราชการไทยโดยเฉพาะในอดีต ไม่ได้ใส่ใจต่อสิทธิของประชาชนเลย แต่พอยุค Digital disruption และ Social media มา หากราชการทำอะไรที่เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนจะปรากฎเป็นข่าวไวรัลอย่างรวดเร็วมาก ทำให้ประชาชนได้สิทธิต่าง ๆ ดีขึ้นมาก กระทั่ง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็มาจากการเรียกร้องสิทธิจากกลุ่มความหลากหลายทางเพศเช่นกัน

ในมุมกลับกัน คนไทยหรือ NGO จำนวนหนึ่งก็มีแต่นิสัยนักร้องเรียกหาสิทธิแต่ไม่ต้องการทำหน้าที่พลเมืองที่ดี เก่งที่จะเรียกร้องสิ่งต่างๆ จนบางครั้งก็เลยเถิดเกินกว่าคำว่าเสรีประชาธิปไตย เราต้องตระหนักว่าในระบอบประชาธิปไตยและไม่ว่าการปกครองใดๆ ก็ตาม ผู้มีสิทธิย่อมต้องทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบเช่นกัน สิทธิของพลเมืองเป็นอำนาจยิ่งใหญ่ และแน่นอนว่าอำนาจยิ่งใหญ่ต้องเปี่ยมไปด้วยความรับผิดชอบเช่นกัน

สุนทรพจน์อันอมตะของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ได้กล่าวไว้ว่า

เพื่อนอเมริกันที่รัก โปรดอย่าถามว่าประเทศของคุณสามารถทำอะไรให้คุณได้ แต่โปรดถามว่าคุณสามารถทำอะไรให้กับประเทศของคุณบ้าง

น่าเป็นห่วงว่า ความเชื่อที่เกิดขึ้นกับคนไทยจำนวนมาก ที่เรียกร้องสิทธิแต่ไม่สนใจทำหน้าที่นั้นเกิดจากการที่ NGO สนใจแต่เรียกร้องสิทธิแต่ไม่เคยเรียกร้องให้คนไทยทำหน้าที่และแสดงความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองหรือไม่

โดยเฉพาะคนมีการศึกษาและมีเงินจำนวนมาก ไม่สนใจทำหน้าที่ อันเป็นหน้าที่พื้นฐานของพลเมืองโดยเฉพาะการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ยิ่งทำให้เห็นว่าอนาคตของชาติบ้านเมืองน่าจะมืดมน โปรดอ่านได้จาก คนมีเงินและมีการศึกษา ไม่ออกไปเลือกตั้ง บ้านเมืองจะยังอยู่ดีได้หรือไม่? https://mgronline.com/daily/detail/9620000026568

เรื่องเรียกร้องแต่สิทธิแต่ไม่สนใจทำหน้าที่นี้ ลุกลามไปกระทั่งในวงการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ป่วยได้รู้จักใช้สิทธิคู่กับการทำหน้าที่ แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ทันตแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สภาเทคนิคการแพทย์ และคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะได้ออกคำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ไว้ตั้งแต่วันที่12 สิงหาคม 2558 http://www.mtc.or.th/file_news/file1_18.pdf ขอให้สังเกตว่ามีการหลีกเลี่ยงคำว่าหน้าที่ โดยใช้คำว่าข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยแทน อันเป็นหลักการสำคัญที่เมื่อมีสิทธิย่อมต้องมีหน้าที่และต้องทำหน้าที่เช่นกัน แต่การใช้คำที่เบาลงน่าจะเพื่อให้เกิดการต่อต้านจาก NGO ลดลงไปบ้าง

เมื่อเร็วๆ นี้ แพทยสภา ได้ออกประกาศ หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ลงในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2563 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/152/T_0005.PDF ทำให้เกิดปฏิกิริยามากมายโดยเฉพาะฝั่ง NGO ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

ปฏิกิริยาต่างๆ มีหลายประการ เช่น

แพทยสภาไม่มีอำนาจในการออกระเบียบข้อบังคับ และหากมีการออกระเบียบใดๆ ควรประชาพิจารณ์ก่อน โปรดอ่านข่าว เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกประเภทค้านประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย 10 ข้อ https://www.hfocus.org/content/2020/07/19700

การออกประกาศหน้าที่ผู้ป่วยของแพทยสภา เป็นการฉกฉวยโอกาสจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ประชาชนยกย่องบุคลากรสาธารณสุข มาตอกย้ำความเป็นอำนาจนิยมของแพทย์ ซึ่งอันที่จริง ก็เป็นเจ้าชีวิตผู้ป่วยอยู่แล้ว และทำให้สิทธิผู้ป่วยยิ่งลดด้อยถอยลง แพทยสภามีอำนาจอะไร และมันใช่หน้าที่ของแพทยสภาไหม ที่จะสั่งให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามหน้าที่ https://www.voicetv.co.th/watch/3j92THpk7

เครือข่ายผู้ป่วยยื่นหนังสือ “อนุทิน” ร้องยกเลิกประกาศแพทยสภา คลอด 10 หน้าที่ผู้ป่วย ชี้ ลิดรอนสิทธิ เชื่อมีผลต่อการพิจารณาคดี มีเรื่องการเซ็นยินยอมเกี่ยวกับการรักษา https://mgronline.com/qol/detail/9630000070009

ประเด็นที่พึงพิจารณาในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของผู้ป่วยมีดังนี้

ประเด็นแรก แพทยสภาไม่มีอำนาจและไม่มีหน้าที่ออกประกาศหน้าที่ผู้ป่วย แพทยสภาทำให้เกิดการตอกย้ำอำนาจนิยมของแพทย์ที่เป็นเจ้าชีวิต

เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 https://www.tmc.or.th/download/law-medical_2525.pdf จะพบว่าแพทยสภาใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 7(2) และ 7(4) และ มาตรา 21(1) ของพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งระบุว่า

มาตรา 7 แพทยสภามีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (2) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพในทางการแพทย์
(4) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข

มาตรา 21(1) คณะกรรมการแพทยสภามีอำนาจหน้าที่ ในการบริหารกิจการแพทยสภาตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7

หาใช่การฉกฉวยโอกาสในการเพิ่มอำนาจนิยมให้กับแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 แต่อย่างใด และไม่น่าจะไปโยงกับข้อกล่าวอ้างที่ว่าแพทย์เป็นเจ้าของชีวิตของผู้ป่วย ขนาดพ่อแม่บุพการี ยังไม่ได้เป็นเจ้าชีวิตของผู้ป่วยเลย และการใช้คำว่าเจ้าชีวิต ก็ทำให้นึกถึงหนังสือเจ้าชีวิต สยามก่อนยุคประชาธิปไตย พระนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเดิมเขียนเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Lords of life ก็เป็นการกล่าวที่เกินเลยไปมาก ไม่เป็นการสมควร เพราะคำว่าเจ้าชีวิตในสมัยราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ย่อมหมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน เหตุใดถึงต้องลากโยงไปถึงสถาบันด้วยเหตุอันไม่สมควรก็ไม่อาจจะทราบได้

ทั้งนี้การออกประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ของแพทยสภา แท้จริงเป็นเพียงการทำหน้าที่ของแพทยสภาในการให้ความรู้แก่ประชาชนด้านการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วย เพี่อให้ผลการรักษา การควบคุม ส่งเสริม ป้องกันโรค ทำได้ดีมากขึ้น มีประสิทธิผลมากขึ้น

ประเด็นสอง ประกาศแพทยสภา เรื่องหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย มีสภาพเป็นกฎหมาย ทำให้ลิดรอนสิทธิผู้ป่วย มีผลต่อการพิจารณาคดี

ในความเป็นจริงประกาศนี้ไม่มีสภาพบังคับในตัวมันเอง เป็นเพียง "คำแนะนำ" + "การให้ความรู้แก่สาธารณะ"

ใครใคร่ทำ ก็ทำ ใครไม่ทำก็ไม่อาจบังคับได้

ใครจะทำหรือไม่ทำ..ขึ้นกับวิจารณญาณส่วนตน จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ว่ามีมากน้อยเพียงไร

ในความเป็นจริงหากจะมีสภาพเป็นกฏหมายได้ ต้องมีสภาพบังคับ และมีบทกำหนดโทษ ไม่ว่าจะเป็น ความผิดในตัวเอง (Mala in se) อันได้แก่การทำผิดร้ายแรง โดยผิดศีลธรรมอันดี ได้แก่ การฆ่าคนตาย ข่มขืนกระทำชำเรา ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ และความผิดตามที่มีกฎหมายกำหนด (Mala Prohibita) ซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำแล้วไม่ทำ เช่น ไม่ชี้แจงบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้องตามกฎหมาย ปปช. หรือกฎหมายห้ามทำแล้วทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม เช่น การชุมนุมทางการเมืองต้องไม่บุกรุกสถานที่ราชการ แต่ก็ไปบุกรุก เมื่อกฎหมายห้ามไม่ให้ทำแล้วทำ หรือกฎหมายบังคับให้ทำแล้วไม่ทำ ก็จะมีความผิดตามที่กฎหมายกำหนด โปรดอ่านได้จาก เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ (2549) คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1. หจก. จิรรัชการพิมพ์. หน้า 75.

ดังนั้นเมื่อคำประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของแพทยสภา ไม่มีบทลงโทษ เมื่อไม่ทำหน้าที่ผู้ป่วยที่พึงปฏิบัติ ก็ย่อมไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย อย่างไรก็ตามไปละเมิดกฎหมายอื่นซึ่งมีความคล้องจองกับหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ย่อมจะมีสภาพบังคับตามกฎหมายอื่น หาได้มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายตามพ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม ของแพทยสภาแต่อย่างใดไม่

ประเด็นสาม การออกประกาศหน้าที่ผู้ป่วยไม่มีการประชาพิจารณ์ ข้อนี้เป็นอันตกไป เพราะเมื่อคำประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของแพทยสภาไม่มีสภาพบังคับ ไม่มีบทลงโทษ ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย ก็ย่อมไม่จำเป็นต้องมีการประชาพิจารณ์กฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2560 มาตรา 77 ซึ่งกำหนดให้มีประชาพิจารณ์และการประเมินผลการบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Impact Assessment: RIA)

นอกจากนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจกระจ่างแก่ประชาชน ผู้ป่วย ญาติและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ขอให้ลองพิจารณาในอีกหลายประเด็นที่ควรตระหนักเกี่ยวกับหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยดังนี้

ประเด็นแรกที่พึงตระหนัก ความรับผิดชอบสิทธิและหน้าที่ผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติคู่กัน และเป็นมาตรฐานสากลทั่วโลก ซึ่งอาจจะใช้คำแตกต่างกันไป เช่น หน้าที่ หน้าที่พลเมือง ความรับผิดชอบ ดังนั้นการที่ NGO ด้านสุขภาพและสาธารณสุขกล่าวอ้างว่าไม่มีที่ไหนในโลกนี้ที่มีประกาศให้ผู้ป่วยต้องมีหน้าที่จึงเป็นข้อความอันเป็นเท็จ

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วนแต่มีประกาศลักษณะนี้ และหลายที่ออกโดยโรงพยาบาลเองแต่ละแห่ง และมีสภาพบังคับ (มีบทลงโทษรุนแรง)

ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐในรัสเซีย โรงพยาบาลเอกชนในสหรัฐอเมริกา สมาคมวิชาการทางการแพทย์ของอเมริกาที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก โรงเรียนแพทย์ชื่อดังระดับโลก ศูนย์การแพทย์เพื่อการศึกษาอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา กระทรวงสาธารณสุขของหลายประเทศ/หลายรัฐ เช่น บาห์เรน อินเดีย ออสเตรเลีย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งของอังกฤษและสก็อตแลนด์ ดังสรุปในตารางด้านล่างนี้


เหตุใดจึงต้องมีทั้งหน้าที่และสิทธิของผู้ป่วย คำตอบก็คือ หลักสุจริตทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายคนไข้เองก็มีหน้าที่สุจริตพึงปฏิบัติต่อบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างถูกต้อง ไม่โกหก พูดปด ในอาการหรือพฤติกรรมสุขภาพ อันจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อผลการรักษาของตนเอง และส่งผลเสียร้ายแรงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคต่อบุคลากรหรือแม้แต่ผู้ป่วยคนอื่นๆ ในทางกลับกันแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องปฏิบัติอย่างสุจริตต่อผู้ป่วยเช่นกัน อันเป็นการปฏิบัติอย่างสุจริต บนพื้นฐานความปรารถนาดี จริงใจ ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน และเข้าใจกันและกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

ประการที่สองที่พึงตระหนักคือการประกาศหน้าที่พึงปฏิบัติของผู้ป่วย เป็นการให้ความร่วมมือกันทั้งฝ่ายผู้ให้การบริบาลสุขภาพและผู้รับการบริบาลสุขภาพ การรู้และทำตามหน้าที่ของผู้ป่วยมีเหตุผลที่ดีหลายประการ และแต่ละข้อในประกาศน่าจะมีเหตุผลที่ควรตระหนักว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วยและผู้ให้การบริบาลผู้ป่วย ดังนี้


ประเด็นสามที่พึงตระหนัก ประกาศหน้าที่ผู้ป่วย ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย เป็นแค่การรวบรวมเพื่อให้ความรู้ประชาชนว่าควรมีหน้าที่อย่างไรเมื่อเจ็บป่วย อันเป็นผลดีต่อประชาชนและผู้ป่วยเอง อย่างไรก็ตามแต่ละข้อของประกาศหน้าที่ผู้ป่วย มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายอยู่แล้วโดยกฎหมายอื่นๆ หากต้องการคัดค้านประกาศหน้าที่ผู้ป่วยของแพทยสภาต้องไปยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเสียก่อน

หน้าที่พึงปฏิบัติของผู้ป่วยข้อสองการเปิดเผยข้อมูลให้กับแพทย์ มีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 31 ประชาชน ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการ หรือสถานที่อื่นใด เช่น โรงแรม ต้องแจ้งข้อมูลเมื่อพบมีผู้ต้องสงสัยหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่ออันตราย
มาตรา 34(1) ผู้ที่เป็นโรคติดต่ออันตราย หรือเข้าข่ายต้องสงสัย หรือมารับการตรวจรักษา ต้องเข้าสู่การแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ในสถานที่ที่กำหนด จนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ (ฝ่าฝืนมีโทษ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท)
มาตรา 52 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


หากผู้ป่วยไม่ทำตามหน้าที่ตามข้อสองนี้จะเกิดผลเสียร้ายแรงอย่างไรบ้าง ก็ขอให้นึกถึงคุณป้าเมืองแทกูในเกาหลีใต้ ที่เป็น super spreader หรือมหาพาหะเผยแพร่โรคโควิด-19 เป็นอาทิ หรือผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนหนึ่งในไทยที่โกหกแพทย์ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยไปเป็นจำนวนมาก ต้องถูกกักตัวร่วม 100 คน ทำให้ยิ่งขาดแคลนคนทำงาน

หน้าที่พึ่งปฏิบัติของผู้ป่วยข้อสามและสี่ นั้น เป็นการไม่ไปทำลายข้าวของทรัพย์สิน หรือไม่ไปรบกวนสิทธิของผู้คน คนทำงาน และผู้ป่วยคนอื่นๆ ซึ่งหากเกกมะเหรกเกเร ไปตีกันในโรงพยาบาลจนอุปกรณ์ทางการแพทย์เสียหาย หรือเกิดการทำร้ายร่างกายบุคลากรทางการแพทย์ พยายามข่มขืนพยาบาลสาวที่เข้าเวรดึก ย่อมเป็นความผิดทางอาญาได้หลายกระทง ไม่ว่าจะเป็น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้นเมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 362 มาตรา 363 หรือมาตรา 364 ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือในเวลากลางคืน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดตามวรรคแรกได้กระทำโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือได้กระทำเพื่อให้ผู้ถูกข่มขืนใจทำ ถอน ทำให้เสียหาย หรือทำลายเอกสารสิทธิอย่างใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


หน้าที่พึงปฏิบัติของผู้ป่วยข้อ 5 เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนหรือขัดขวางการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น ตบ/จิกหัวพยาบาล ด่าพยาบาลว่าอีxxx เอาปืนจ่อศรีษะแพทย์ในห้องฉุกเฉินให้ไปรักษาผู้ป่วยที่เป็นญาติของตัวเองก่อน ทั้งที่ไม่ได้มีอาการฉุกเฉินอย่างแท้จริง และมีผู้ป่วยคนอื่นที่ฉุกเฉินและเป็นอันตรายแก่ชีวิตมากกว่า หากมีการขัดขวาง/รบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ดังที่ยกตัวอย่างข้างต้นก็จะเป็นความผิดอยู่แล้วโดยทางแพ่งและอาญา เช่น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ......
............. ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 ผู้ใดข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินแปดหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 ถ้าความผิดตามมาตรา 138 วรรคสอง หรือมาตรา 139 ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

การต้องทำหน้าที่พึงปฏิบัติของผู้ป่วยในข้อเจ็ด ก็เพื่อให้เกิดการรักษาทรัพยากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ อันเป็นทรัพย์สิน (ของทางราชการ) ให้อยู่ในสภาพดีและให้ผู้ป่วยคนอื่นได้ใช้งาน หากผู้ป่วยบุกไปพังและทุบทำลายเครื่องมือแพทย์ ก็เป็นการกระทำผิดในคดีอาญาอยู่แล้ว

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


ส่วนการต้องทำหน้าที่พึงปฏิบัติของผู้ป่วยในข้อแปด ก็เป็นไปตามการเคารพในข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขเช่นกัน ไม่ใช่ว่าไปแอบถ่ายรูปพยาบาลโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม ก็ย่อมทำไม่ได้เช่นกัน และจะกลายเป็นความผิดตามกฎหมายฉบับอื่นๆ อีกหลายฉบับ เช่น

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14(1) ผู้ใดกระทำความผิด โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนอันมิใช่การกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้
พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 มาตรา 49 ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาท ได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีการใดๆ สิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ การกระจายเสียง กระจายภาพ หรือป่าวประกาศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ทั้งนี้ขอฝากข้อคิดทิ้งท้ายไว้ว่า สิทธิย่อมมาพร้อมหน้าที่และความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่สุขภาพดี หรือประชาชนที่เป็นผู้ป่วยก็ยังเรียกร้องสิทธิได้เต็มที่ แต่ต้องไม่ละเลยต่อการทำหน้าที่และความรับผิดชอบด้วย จึงจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตัวผู้ป่วยเอง และต่อสังคมด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น