ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขณะที่เศรษฐกิจโลกพังพินาศสิ้น บริษัทธุรกิจหลากหลายล้มหายตายจาก แต่สำหรับ Gulf กลับเติบโตสวนกระแสได้อย่างน่าอัศจรรย์ ล่าสุดทุ่มทุนร่วมสองหมื่นล้านเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เยอรมนี หลังก่อนหน้านี้เพิ่งเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เกาะเทรนด์พลังงานหมุนเวียน พลังงานแห่งโลกอนาคต เติมเต็มพอร์ตลงทุนตามเป้าหมายในอีก 5-6 ปีข้างหน้าที่จะทุ่มถึงระดับ 154,000 ล้านบาท
โครงการใหม่ที่เพิ่งเข้าไปลงทุนตามที่ นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยคือ Gulf International Holding Pte. Ltd. (GIH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับกลุ่ม Global Infrastructure Partners (GIP) เพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของ Borkum Riffgrund Investor Holding GmbH, Frankfurt am Main, Germany (BKR2 Holding) ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 50% ในโครงการ Borkum Riffgrund 2 Offshore Wind Farm GmbH & Co. oHG (โครงการ BKR2) ด้วยมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 548-558 ล้านยูโร หรือประมาณ 19,219-19,570 ล้านบาท
ส่วนที่เหลืออีก 50% ถือหุ้นโดยบริษัทในกลุ่ม Ossted A/S หรือ เดิมชื่อ DONG Energy โดยสัญญามีผลใช้บังคับในวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 คาดว่าการโอนหุ้นจะเกิดขึ้นภายในครึ่งปีหลังของปี 2563 และส่งผลให้ BKR2 Holding เป็นบริษัทย่อยของ GIH
โครงการ BKR2 เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 464.8 เมกะวัตต์ มีขนาดกำลังการผลิตส่งออก 450 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในทะเลเหนือทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเยอรมนี โครงการดังกล่าวได้เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และสัญญาบำรุงรักษา กับกลุ่มบริษัท Orsted เป็นระยะเวลา 20 ปี นับจากวันที่เปิดดำเนินการ
นอกจากนี้ โครงการ BKR2 ยังมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ feed-in tariff (FiT) ที่รับประกันโดยรัฐบาลประเทศเยอรมนี เป็นระยะเวลา 9.5 ปี หลังจากเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ และจะได้รับค่าไฟฟ้าตาม merchant price โดยมีการรับประกันราคาขั้นต่ำ สำหรับปีที่ 9.5-20 จึงส่งผลให้ โครงการดังกล่าวมีเสถียรภาพทางรายได้ในระยะยาว และเนื่องจากเป็นโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้และกำไรได้ทันทีหลังจากการโอนหุ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มฐานรายได้และกำไรของบริษัทฯ ให้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
การลงทุนครั้งนี้ บริษัทฯ เล็งเห็นถึงศักยภาพของโครงการ BKR2 ที่สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ ในการขยายธุรกิจไปยังพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการ BKR2 มีผู้ร่วมทุนที่แข็งแกร่งอย่าง Orsted ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจพลังงานลมในทะเลมากกว่า 25 ปี มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเลติดตั้งทั่วโลกรวม 6.8 กิกะวัตต์ และอีก 3.1 กิกะวัตต์ ที่จะสร้างเสร็จภายในปี 2565 ในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นต้น การร่วมดำเนินธุรกิจด้วยจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของบริษัท และเพิ่มโอกาสการแข่งขันในระดับสากลอีกด้วย
สำหรับแหล่งเงินลงทุนเบื้องต้นจะใช้เงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินในประเทศที่เป็นสกุลเงินบาท บริษัทจะจัดหาเงินทุนระยะยาวเพื่อนำมาชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นดังกล่าวในภายหลัง เช่น การออกหุ้นกู้ เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน โดยบริษัทจะเข้าทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงทั้งทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
เมื่อไม่นานมานี้ GULF เพิ่งลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบนบก 2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 100 เมกะวัตต์ ที่เวียดนาม ซึ่งจะผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าเวียดนาม เป็นระยะเวลา 20 ปี มูลค่าลงทุนประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทฯ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการภายในปี 2564 และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ประมาณไตรมาส 4 ปี 2565
ก่อนหน้านี้ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF บอกว่า ในปี 2563 วางเป้ารายได้ 36,000 ล้านบาท จากปี 2562 อยู่ที่ระดับ 33,000 ล้านบาท เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้จากโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน กล่าว ในงาน Opportunity Day เมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า GULF ตั้งเป้าใช้เงินลงทุนทั้งหมด 154,000 ล้านบาท โดยในปี 2563 มีแผนใช้เงินลงทุน 36,000 ล้านบาท
ส่วนรายได้ในปี 2563 GULF ตั้งเป้าเติบโต 10% และนับจากปี 2564 เป็นต้นไป GULF จะมีรายได้เติบโตก้าวกระโดด โดยคาดว่าในปี 2564 รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ (IPP) บลอคที่ 1 และ 2 ได้เปิดดำเนินการ และหลังจากที่โครงการ IPP สร้างเสร็จทั้งหมดในปี 2568 รายได้ของบริษัทฯจะอยู่ที่ 140,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ในปี 2562 GULF มีรายได้ 34,552 ล้านบาท เติบโตขึ้น 67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ กำไรสุทธิในปี 2562 อยู่ที่ 4,886 ล้านบาท เติบโตขึ้น 61% เนื่องจาก GULF มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ณ สิ้นปี 2562 บริษัทฯมีสินทรัพย์ 134,277 ล้านบาท เติบโตขึ้น 9% จากที่มีการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง มีหนี้สิน 85,237 ล้านบาท เติบโตขึ้น 8% จากการมีการเบิกเงินกู้เพื่อก่อสร้างโครงการกัลฟ์ ศรีราชา
GULF มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ “กลุ่มรัตนาวะดี” ในสัดส่วนถือหุ้นรวมกัน 58.06% โดยผู้ก่อตั้ง “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ถือครองหุ้นสูงสุด 35.44% ส่วนที่เหลือเป็นการถือครองหุ้นในนาม GULF CAPITAL HOLDINGS LIMITED สัดส่วน 10.48%, GULF INVESTMENT AND TRADING PTE. LTD. สัดส่วน 7.45% และ บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) สัดส่วน 4.69%
ที่ผ่านมา GULF ถูกยกให้เป็นหุ้นโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ด้วยกำลังผลิตในปัจจุบันและทยอย COD จนถึงปี 2567 มากกว่า 11,000 เมกะวัตต์ นอกจากธุรกิจไฟฟ้า GULF ยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจด้านอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง ที่สำคัญๆ ได้แก่ ธุรกิจด้านก๊าซธรรมชาติ และการรุกลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเทศ รวมทั้งธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับพลังงานทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา และภูมิภาคอื่น เช่น โอมาน
โครงการลงทุนที่สำคัญของบริษัทนั้นคือการร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นถึง 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการ Gulf JP ซึ่งร่วมทุนกับทาง Japan Power มีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2 IPPs และโรงไฟฟ้า SPP 7 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 4,237 เมกะวัตต์
โครงการที่สอง Gulf MP ร่วมทุนกับ Mitsui & Co จะมีโครงการโรงไฟฟ้า SPP ทั้งหมด 12 โรงไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการเสร็จ และจ่ายไฟฟ้าไปแล้ว 6 แห่ง ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการก่อสร้าง กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,563 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปีนี้ และโครงการ Independent ร่วมทุนกับ Mitsui & Co เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในโครงการ 2 IPPs กำลังการผลิตรวม 5,300 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2024
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งหมด 11,910 เมกะวัตต์ จาก 33 โครงการ ใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย 28 โครงการ, เวียดนาม 4 โครงการ และโอมาน 1 โครงการ โดยทั้งหมดนี้เป็นโครงการที่ COD แล้ว 5,409 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาอีก 6,501 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ ยังดำเนินการพัฒนาและก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง/เตรียมการก่อสร้างจำนวน 10 โครงการ และเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 2 โครงการ และทั้งหมดจะ COD ภายในปี 2567
นอกจากนี้ GULF ยังมีธุรกิจที่น่าสนใจอีกหนึ่งไลน์ธุรกิจ และหลายฝ่ายคาดว่าจะเข้ามามีบทบาทต่อแผนดำเนินงานของบริษัทมากขึ้นในอนาคต นั่นคือ การขยายธุรกิจเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 อีกทั้งยังมีโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M8) ผ่านกิจการร่วมค้า บีจีเอสอาร์ หรือ BGSR
ส่วนความคืบหน้าของโครงการต่างๆ นั้น เช่น โครงการก๊าซธรรมชาติ Gulf SRC (ประเทศไทย) ขนาดกำลังการผลิต 2,650 เมกะวัตต์ จะเปิดดำเนินการ 2564 – 2565 ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง, โครงการ Gulf PD (ประเทศไทย) ขนาดกำลังการผลิต 2,650 เมกะวัตต์ กำหนดเปิดดำเนินการ 2566 – 2567 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างใน ไตรมาส 3/2563
นอกจากนั้น ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง (ประเทศไทย) กำลังการผลิตติดตั้ง 1,400 เมกะวัตต์ กำหนดเปิดดำเนินการ 2567 – 2568 คาดว่าจะได้รับอนุมัติ EIA ภายในปี 2563 และจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2564, โครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ (ประเทศไทย) กำลังการผลิตติดตั้ง 540 เมกะวัตต์ กำหนดเปิดดำเนินการ 2570 คาดว่าจะได้รับอนุมัติ EIA และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2567 เป็นต้น
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซและ LNG terminal ในเวียดนามขนาด 6,000 เมกะวัตต์ ที่เซ็นเอ็มโอยูไปแล้วเมื่อปลายปี 2562 อยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดเพื่อเดินหน้าโครงการ โดยก่อนหน้านี้ GULF ได้มีการลงทุนที่เวียดนามในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ไปแล้วกว่า 460 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2561
จากแผนการลงทุนที่หลากหลาย นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ปี 2563 คาดว่ารายได้รวมของ GULF จะอยู่ที่ 40,595 ล้านบาท และคาดว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 4,290 ล้านบาท ซึ่งประเมินว่าปี 2563 จะมี P/E ที่ระดับ 86.50 เท่า จะปี 2562 คาดอยู่ที่ระดับ 106 เท่า
นับเป็นกลุ่มบริษัทผลิตไฟฟ้าของไทยที่มีศักยภาพขยายการลงทุนและเติบโตต่อไปได้ แม้โลกจะเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 อย่างหนักหน่วง