xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาประกาศ 10 หน้าที่ “ผู้ป่วย” เจอดรามาคัดค้าน ก่อนแจงเป็นแค่ข้อแนะนำ เตือนระวังบางการกระทำ อาจมีโทษตาม กม.อื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทยสภาออกประกาศ หน้าที่ผู้ป่วย 10 ข้อ ต้องเปิดเผยข้อมูลเป็นจริง เคารพสิทธิผู้อื่น หากละเลยจนส่งผลเสียการรักษา หรือทำสถานพยาบาลเสียหาย หรือผู้ป่วยคนอื่น อาจมีโทษตาม กม. ด้านเครือข่ายผู้ป่วย ชี้ แพทยสภาไม่มีอำนาจประกาศ ควรเป็น สธ. และต้องรับฟังความคิดเห็น เลขาธิการแพทยสภา แจงเป็นข้อแนะนำ ยกเหตุโควิดปกปิดข้อมูลทำให้ติดเชื้อ ระบุบางพฤติกรรมอาจละเมิด กม.อื่นๆ จึงต้องเตือน เช่น ตีกันใน รพ.

วันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศแพทยสภา ที่ 50/2563 เรื่อง หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ลงนามโดย ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยมีเนื้อหา ดังนี้

ด้วยกระบวนการรักษาพยาบาลภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น ทุกอย่างล้วนเป็นไปเพื่อมุ่งหวังให้ผู้ป่วยพ้นจากความเจ็บป่วย และทุกข์ทรมานอันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นสำคัญ แต่นอกเหนือจากความพยายามของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและบุคลากรสาธารณสุขแล้ว หนึ่งในปัจจัยสำคัญอันจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ คือ “การได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย” ซึ่งหลายประเด็นเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยอาจไม่ทันตระหนักหรือทราบมาก่อนว่า เป็นสิ่งจำเป็นและมีผลอย่างยิ่งต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21(1) ประกอบกับ มาตรา 7(2) และ 7(4) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 แพทยสภา จึงออกประกาศเรื่อง “หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย” ดังนี้

ข้อ 1 การเอาใจใส่และดูแลสุขภาพของตนเอง รวมทั้งการปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเห็นว่าไม่อาจทำตามคำแนะนำดังกล่าวได้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้ทราบโดยทันที เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน

ข้อ 2 ผู้ป่วยพึงเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพ “ที่เป็นจริงและอยู่ในความรับรู้” ของผู้ป่วย แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ เพื่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะได้รับทราบข้อมูลด้านสุขภาพทั้งหมด อันจะเป็นประโยชน์ต่อการให้การรักษาพยาบาลและป้องกันมิให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อตัวผู้ป่วยเอง และต่อผู้ป่วยรายอื่น รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 3 ผู้ป่วยพึงปฏิบัติตามระเบียบที่สถานพยาบาลกำหนดไว้

ข้อ 4 ผู้ป่วยพึงตระหนักว่าการใช้สิทธิการรักษาพยาบาล รวมทั้งสิทธิผู้ป่วยตามที่กำหนดไว้ ต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ป่วยท่านอื่น

ข้อ 5 ผู้ป่วยพึงหลีกเลี่ยงการกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและบุคลากรสาธารณสุข หากมีกรณีที่ผู้ป่วยไม่เห็นด้วยต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ท่านสามารถให้คำแนะนำหรือใช้สิทธิร้องเรียนได้ตามระเบียบปฏิบัติของสถานพยาบาลนั้นๆ

ข้อ 6 ผู้ป่วยพึงตระหนักว่า ห้องฉุกเฉินเป็นสถานที่ซึ่งจัดเตรียมไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ตกอยู่ใน “ภาวะเร่งด่วนและเป็นภยันตรายอันใกล้ต่อชีวิต” เป็นสำคัญ บุคลากรสาธารณสุขจะให้การรักษาตามลำดับความเร่งด่วนทางการแพทย์เป็นสำคัญ ดังนั้นพึงหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นการกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบของบุคลากรในห้องฉุกเฉิน

ข้อ 7 ผู้ป่วยพึงตระหนักว่า “ทรัพยากรในระบบสาธารณสุขมีราคาแพงและมีจำนวนจำกัด” ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมร่วมกับสถานพยาบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการจัดสรรการใช้ทรัพยากรอันมีค่าอย่างระมัดระวัง การกระทำการใดๆ ของผู้ป่วยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรอันมีค่า และส่งผลเสียร้ายแรงต่อการรักษาพยาบาลของตัวผู้ป่วยเอง รวมทั้งต่อผู้ป่วยท่านอื่น

ข้อ 8 ผู้ป่วยพึงเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคลากรสาธารณสุขและผู้ป่วยท่านอื่นในสถานพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามกระทำการถ่ายรูป บันทึกเสียงหรือภาพเคลื่อนไหว รวมทั้งกระทำการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันนี้ โดยมิได้รับความยินยอมก่อน

ข้อ 9 ผู้ป่วยพึงตระหนักว่า “เอกสารลงนามในการให้ความยินยอมเพื่อรับการรักษาพยาบาล” เป็นเอกสารสำคัญที่ให้รายละเอียด ตลอดจนข้อจำกัดและความเสี่ยงของการรักษาพยาบาล ดังนั้น ก่อนทำการลงนามในเอกสารดังกล่าว ผู้ป่วยต้องอ่านและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือมีความไม่เข้าใจใดๆ ควรสอบถามผู้เกี่ยวข้องก่อนการลงนามทุกครั้ง

ข้อ 10 ผู้ป่วยพึงตระหนักว่า การละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามรายละเอียดข้างต้น อาจส่งผลเสียต่อการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเอง และในบางกรณี หากเกิดความเสียหายต่อสถานพยาบาล หรือผู้ป่วยท่านอื่น ท่านอาจได้รับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ

ด้าน นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกประเภท กล่าวว่า การออกประกาศแพทยสภาเรื่องหน้าที่ของผู้ป่วย อาจขัดต่อกฎหมายแพทยสภา และไม่มีอำนาจในการออกหน้าที่ของผู้ป่วย เนื่องจากอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21(1) ซึ่งเป็นการให้อำนาจคณะกรรมการแพทยสภาในการบริหารกิจการแพทยสภา ตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 7 หากพิจารณาตามอำนาจของแพทยสภาตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 7(2) เป็นการส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบอาชีพในทางการแพทย์ และ (4) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชน และองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งไม่ได้เป็นอำนาจในการออกประกาศที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยแต่อย่างใด ทำได้เพียงการช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และการให้การศึกษาแก่ประชาชน แต่ไม่ใช่การออกคำสั่งต่อการทำหน้าที่ของผู้ป่วยหรือประชาชน

นายธนพลธ์ กล่าวว่า หากจะมีการออกหน้าที่ผู้ป่วยจริง ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และควรจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และต้องระบุอย่างชัดเจนว่า หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีทางการแพทย์ และหากพิจารณาเนื้อหาหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยทั้ง 10 ข้อ สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างแพทย์และผู้ป่วยอย่างดี และทัศนคติของแพทยสภาที่มองผู้ป่วยเป็นลบ ไม่สนใจปัญหาสุขภาพของตนเอง ทั้งที่เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนทั้งสิ้น รวมทั้งหน้าที่ของผู้ป่วยหลายประการเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพที่จะซักถามจากผู้ป่วย ผู้ป่วยจำนวนมาก ไม่ทราบว่าสิ่งไหนสำคัญไม่สำคัญที่จำเป็นจะต้องให้ข้อมูล บางเรื่องที่เขียนเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายให้ผู้ป่วยหรือญาติได้รับทราบ เช่น การใช้ห้องฉุกเฉิน ความเหมาะสม หรือบางหน้าที่เป็นพฤติกรรมเฉพาะตนของผู้ป่วยในบางกรณีที่มีสาเหตุมาจากความไม่พอใจ ซึ่งไม่ควรกำหนดเป็นหน้าที่ของผู้ป่วยโดยภาพรวม เรื่องนี้คงต้องปรึกษาหารือในกลุ่มผู้ป่วยว่าจะมีการดำเนินการใดหรือไม่ เพราะเพิ่งจะทราบข้อมูล

ขณะที่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่โรคโควิด-19 ระบาด ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากไม่กล้าเปิดเผยความจริง จนมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากติดเชื้อ จึงมีการออกประกาศหน้าที่ผู้ป่วยนี้ขึ้น ซึ่งไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีโทษ เป็นเพียงคำแนะนำที่จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อผลประโยชน์ของผู้ป่วย โดยขอให้ผู้ป่วยให้ประวัติตามจริง ไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้ผู้รักษาเกิดการติดเชื้อ แล้วผู้ป่วยก็ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เมื่อแพทย์ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างไร แล้วมีการทำตาม จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศเราทรัพยากรมีจำกัด การรักษา การใช้ การบริการ เราจะเห็นว่าในช่วงโควิดเครื่องช่วยหายใจมีจำกัด จึงต้องช่วยกันถนอมรักษาและแบ่งปันกันตามความจำเป็น และในช่วงก่อนหน้านี้มีปัญหาผู้ก่อความรุนแรง ตีกันใน รพ. ทำให้ข้าวของอุปกรณ์เสียหาย ในส่วนนี้จะมีโทษตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ใช่กฎหมายของแพทยสภา จึงต้องเตือนกันไว้ แม้แต่การถ่ายรูปผู้ป่วยใน รพ.อาจจะมีการติดภาพญาติ คนไข้คนอื่นๆ ใน รพ. ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องเคารพสิทธิคนอื่นด้วย

“แพทยสภาต้องขออภัยที่ประกาศดังกล่าวทำให้เกิดการเข้าใจผิด ขอย้ำว่า ประกาศดังกล่าวไม่ได้มีการจำกัดสิทธิแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปี 2558 แพทยสภา ได้มีการออกประกาศเรื่อง สิทธิผู้ป่วยแล้วด้วย โดยสามารถขอการรักษาได้ แต่เมื่อมีสิทธิแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่ในการดูแลตัวเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำการรักษา ช่วยกันรักษาอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อให้ผลการรักษาที่ดี การร่วมมือของผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะนำไปสู่ชัยชนะต่อโรคภัย ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือการต่อสู้กับโควิด-19 ที่เราชนะในยกแรกมาแล้ว ก็เกิดจากการร่วมมือของประชาชน ถ้าผู้ป่วย แพทย์ ประชาชนไม่ร่วมมือกันไม่มีทางชนะ เป็นอันดันดับต้นๆ ของโลก” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น