แพทยสภา ยันประกาศ 10 หน้าที่ผู้ป่วย ไม่ใช่กฎหมาย ไม่ได้บังคับ แค่ขอความร่วมมือ ให้เกิดการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพ เกิดความปลอดภัยทั้งผู้ป่วย และบุคลากร ไม่มีผลต่อคดีทางการแพทย์ ไม่มีบทลงโทษตามกฎหมาย แต่แค่เตือนบางการกระทำหากสร้างความเสียหาย อาจมีโทษตามกฎหมายอื่นๆ
วันนี้ (2 ก.ค.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 กล่าวถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การออกประกาศแพทยสภา เรื่องหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย 10 ข้อ ว่า หลังออกประกาศดังกล่าว อาจทำให้มีการตีความผิดไป ขอยืนยันว่า ประกาศดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย และแพทยสภาไม่ได้มีหน้าที่ในการออกกฎหมาย แต่ที่ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นคำแนะนำ และขอความร่วมมือจากประชาชนในการดูแลสุขภาพและการรักษาโรค อย่างประกาศข้อที่ 2 ระบุว่า ผู้ป่วยพึงเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพที่เป็นจริง ตรงนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและคนที่อยู่ใกล้ชิด อย่างการระบาดโรคโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อเข้ามารักษาที่ รพ.ศิริราช และไม่บอกว่าไปพื้นที่เสี่ยงมา ทำให้ครั้งนั้นมีบุคลากรทางการแพทย์ต้องกักตัว 26 คน หรือกรณีสอบถามว่า ผู้ป่วยใช้ยาอะไรอยู่หรือไม่ ก็เพื่อพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดการตีกันของยา
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนประกาศข้อที่ 10 ที่ระบุว่า ผู้ป่วยพึงตระหนักว่าการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามรายละเอียดข้างต้น อาจจะส่งผลต่อการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเอง ในบางกรณีหากเกิดความเสียหายต่อสถานพยาบาลหรือผู้ป่วยท่านอื่น อาจได้รับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ ในข้อนี้อาจจะทำให้เกิดการตีความและเข้าใจผิดว่า ถ้าไม่ทำตามแล้วจะมีบทลงโทษ ตนขอสื่อสารยืนยันว่าไม่ได้หมายความเช่นนั้น กรณีนี้แพทยสภาเป็นห่วงว่า หากมีการกระทำอะไร เช่น ตีกันใน รพ.แล้วทำให้เกิดความเสียหายต่อสถานพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ จะมีกฎหมายอื่นๆ กำกับอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาคประชาชนกังวลว่าประกาศดังกล่าวจะมีผลต่อการพิจารณาคดีความทางการแพทย์หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ประกาศฉบับนี้ไม่มีผลต่อการพิจารณาคดีความทางการแพทย์ เพราะตัวประกาศไม่ได้ใช้คำว่า “ต้องปฏิบัติ” แต่ใช้คำว่า “พึงปฏิบัติ” หมายถึงการแนะนำ การขอความร่วมมือ จะทำหรือไม่ทำก็ได้ เหมือนตอนนี้เราขอให้ทุกคนสวมหน้ากากเมื่อออกจากบ้าน ถ้าไม่ทำก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าทำก็จะเป็นผลดี ในการป้องกันการติดเชื้อโควิดของคนนั้น และช่วยลด หรือป้องกันการระบาดของโรคในสังคมไทย
“ขอย้ำว่า ประกาศฉบับดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีผลต่อการพิจารณาคดีความทางการแพทย์ เป็นเพียงประกาศขอความร่วมมือจากประชาชนเพื่อให้ผลในการรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อตัวผู้ป่วยเอง และเพื่อสังคม” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว