xs
xsm
sm
md
lg

“รมว.จุรินทร์” เฉลยหน้ากากอนามัยในสต๊อก 200 ล้านชิ้น หายไปไหน **“แอมเนสตี้ ประเทศไทย” เตือนรัฐบาลไทยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รับมือโควิด-19 ต้องไม่จำกัดต่อสิทธิ-เสรีภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว



** “รมว.จุรินทร์” เฉลยหน้ากากอนามัยหายไปไหน...ที่บอกว่า มีในสต๊อก 200 ล้านชิ้นนั้น เป็นแค่วัตถุดิบสำหรับการผลิต ไม่ใช่หน้ากากอนามัยที่ผลิตเสร็จแล้วซะหน่อย

คงยังจำกันได้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ระบาดเข้ามาในไทยช่วงกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา... ซึ่งช่วงนั้น บังเอิญตรงกับช่วงที่สภาพอากาศในกรุงเทพฯ ปกคลุมไปด้วย ฝุ่นละออง PM 2.5 “หน้ากากอนามัย” จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนในการป้องกัน ทั้งฝุ่นละออง และเชื้อไวรัส รัฐบาลก็รณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ในการดูแลสุขภาพของตนเอง

เพื่อเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน ว่า หน้ากากอนามัยจะไม่ขาดแคลน ... วันที่ 30 ม.ค. “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ก็ยกทีมไปตรวจโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อสำรวจกำลังการผลิต พร้อมแถลงข่าวว่า ความต้องการในการใช้หน้ากากภายในประเทศ อยู่ที่เดือนละ 30 ล้านชิ้น... แต่เรามีโรงงานขนาดใหญ่ ที่ผลิตอยู่ 11 โรงงาน กำลังการผลิตรวมเดือนละ 100 ล้านชิ้น และยังมีอยู่ในสต๊อกอีกประมาณ 200 ล้านชิ้น ... ต่อให้ไม่มีการผลิตเพิ่มก็ยังมีเพียงพอให้ใช้ไปได้อีก 4-5 เดือน สบายๆ จึงไม่อยากให้ตื่นตระหนก ไม่ควรซื้อมาเก็บไว้เพิ่มอีก เพราะถ้าทุกคนยิ่งตื่นตระหนก ซื้อมาเก็บไว้ ก็จะยิ่งทำให้ของขาดตลาด...

คล้อยหลังจากที่ “รมว.จุรินทร์” ออกมาแถลงได้แค่วันสองวัน หน้ากากอนามัยก็เริ่มหายไปจากท้องตลาด

วันที่ 3 ก.พ. “รมว.จุรินทร์” ก็เรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. เพื่อแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยที่เริ่มจะ “ขาดตลาด” ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบให้หน้ากากอนามัย และวัตถุดิบในการผลิต รวมถึง เจลล้างมือแอลกอฮอล์ “เป็นสินค้าควบคุม” ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อขอความเห็นชอบ ในวันที่ 4 ก.พ. ซึ่ง ครม.ก็ให้ความเห็นชอบไปตามนั้น ... จากนั้นก็มีประกาศจากกระทรวงพาณิชย์ กำหนดราคาหน้ากากอนามัย ห้ามขายเกินราคาชิ้นละ 2.50 บาท

คราวนี้ หน้ากากอนามัย ก็เลยหายไปจากท้องตลาดแบบ “เบ็ดเสร็จเด็ดขาด” แต่ไปโผล่ที่ตลาดมืด ตลาดออนไลน์ ขายกันในราคาชิ้นละ 15-20 บาท รวมทั้งมีข่าวพ่อค้าไปตัดราคาหน้าโรงงาน เพื่อส่งออกนอก... เพราะเมื่อไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดออกไปในวงกว้าง ต่างประเทศก็มีความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มตามไปด้วย

ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยภายในประเทศ กลายเป็นเรื่องเดือดร้อนแสนสาหัสของประชาชน ลามไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ เพราะในโรงพยาบาลก็ไม่มีหน้ากากอนามัยให้ใช้ ...ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวเกี่ยวกับขบวนการหาประโยชน์จากหน้ากากอนามัย โดยมีพ่อค้า ข้าราชการ นักการเมือง สมคบกัน ...กระทั่งนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งย้าย “อธิบดีกรมการค้าภายใน” ไปประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี ...พร้อมให้กระทรวงพาณิชย์ ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ขณะที่ ภาคประชาชนอย่าง “อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ก็ออกมาเปิดโปง ถึงเรื่องหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น หายไปไหน ... ว่า มีผู้ใกล้ชิดรัฐมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้อง จนมีเรื่องฟ้องร้อง และตั้งกรรมการสอบกันอยู่

ถึงวันนี้ รัฐบาล “ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ออกมาแล้ว ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาด ก็ยังแก้ไม่ตก ผลการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ทั้งกรณีของ “อธิบดีกรมการค้าภายใน” และกรณี “ผู้ใกล้ชิดรัฐมนตรี” ก็ยังไม่มีผลสรุปออกมา

ล่าสุด เมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) “นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก็ออกมาเฉลยว่า หน้ากากอนามัย ที่ก่อนหน้านี้ มีการระบุกันว่า มีในสต๊อกถึง 200 ล้านชิ้นนั้น เป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อน... ข้อเท็จจริงคือ ที่ว่ามีในสต๊อกนั้น “เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตหน้ากากอนามัยได้ 200 ล้านชิ้น” ไม่ใช่หน้ากากอนามัยที่ผลิตสำเร็จแล้ว กองอยู่ในโกดัง 200 ล้านชิ้น... พร้อมแจกแจงรายละเอียดเรื่องหน้ากากอนามัยเป็นข้อๆ ว่า

1. กระทรวงพาณิชย์ ประชุมกับผู้ผลิต ที่ขึ้นทะเบียน อย. 11 โรงงาน กำลังการผลิตอยู่ที่ 1.2 แสนชิ้นต่อวัน 36 ล้านชิ้นต่อเดือน
2. ที่ว่ามีหน้ากากอนามัยในสต๊อก 200 ล้านชิ้น ตัวเลขนั้น เป็นการคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร
3. โรงงานให้ข้อมูลว่า ปัญหาขึ้นกับวัตถุดิบ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยสีเขียวๆ เป็นใยสังเคราะห์ ที่ผลิตในจีน แต่ในประเทศก็มีผลิต ส่วนที่เป็นชั้นกลาง แผ่นกรอง ไม่มีผลิตในไทย ต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น

4. ชั้นแผ่นกรองมีอยู่ 200 ล้านชิ้น ทำให้คนไทยคิดว่า มีหน้ากากอนามัยอยู่ในสต๊อก 200 ล้านชิ้น
5. กลางเดือน เม.ย.นี้ จะเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 2.8 ล้านชิ้นต่อวัน
6. เรามีวิธีใหม่ เน้นให้กับผู้ที่ต้องการมากที่สุด ขอจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน และเหลือจึงจะส่งให้ประชาชน โดยแรกวันนี้ 5 โมงเย็น ไปรษณีย์จะส่งไปยัง ณ ศาลาว่าการจังหวัดทั่วประเทศ

บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร
7. ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.เป็นต้นไป จะเปลี่ยนระบบ โดยให้ สธ. บริหารจัดการหน้ากากอนามัยให้กับโรงพยาบาลทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนที่กรมการค้าภายใน เคยบริหารจัดการส่งไปยังร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อนั้น เปลี่ยนไปให้ มหาดไทย เป็นผู้บริหาร เนื่องจากปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บัญชาการ แก้ปัญหาโควิดในระดับจังหวัด จึงควรมีหน้ากากอนามัยไปบริหารจัดการด้วย

หลังการแถลงของปลัดกรระทรวงพาณิชย์ ...“รมว.จุรินทร์” ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ แบบ “ตามน้ำ” ไปว่า ที่ตนเองเคยบอกว่า มีสต๊อกหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น และมีคำถามว่าหน้ากากอนามัยหายไปไหนนั้น ขอชี้แจงว่า หมายถึงมีวัตถุดิบที่ใช้ผลิตได้ 200 ล้านชิ้น ไม่ได้แปลว่า มีหน้ากากอนามัยกองอยู่ 200 ล้านชิ้นแล้วมันหายไป และเมื่อผลิตแล้วก็จะออกไปเข้าสู่ระบบตามปกติ...

จากต้นเดือน ก.พ.ถึงวันนี้ เป็นเวลา 2 เดือนเต็ม ที่ประชาชนตั้งคำถามว่า “หน้ากากอนามัยในสต๊อก 200 ล้านชิ้นหายไปไหน” วันนี้ “รมว.จุรินทร์” เฉลยแล้วว่า นั่นมันแค่มีวัตถุดิบที่จะผลิตได้ 200 ล้านชิ้น ไม่ใช่หน้ากากอนามัยที่ทำสำเร็จแล้วซะหน่อย ...

ประชาชนฟังแล้วว่าไง...อย่างนี้ก็ “ทัวร์ลง” สิคร้าบ !!

**เชิญรับยาช่อง 4 “แอมเนสตี้ ประเทศไทย” ออกแถลงไม่ดูสถานการณ์ เตือนรัฐบาลไทยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รับมือโควิด-19 ต้องไม่จำกัดต่อสิทธิ-เสรีภาพ

พลันที่ เว็บไซต์ “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” เผยแพร่คำแถลงท่าทีของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ต่อกรณีการใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีรายละเอียด ว่า มาตรการรับมือกับโรคโควิด-19 ของทางการไทย “ต้องไม่นําไปสู่เงื่อนไขจํากัดอย่างไม่จําเป็น ต่อสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออก” ...ปรากฏว่า มีคนในสังคมออนไลน์รุมแสดงความเห็นต่อว่า แอมเนสตี้ฯประเทศไทย อึงมี่ ดูท่าจะไม่สบาย...อุปมาเหมือนคนป่วยที่ต้องการยาไปรักษาอาการ

ภาวะวิกฤตของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ พิสูจน์แล้วว่า ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่ระบาดไปยังผู้อื่นๆ ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว หากรัฐ หรือ ผู้มีอำนาจไม่ดำเนินการออกมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด งดการชุมนุม ปิดพื้นที่ ขอความร่วมมือประชาชน ให้กักตัวเอง แม้แต่ยุโรป หรือหลายประเทศที่ในยามปกติให้สิทธิเสรีภาพต่อพลเมืองอย่างเต็มที่ ก็ยังมีมาตรการที่เข้มงวดกว่าไทย ...ถ้าไม่ทำอะไร ไม่ควบคุมสถานการณ์จะไปกันใหญ่ คนจะติดเชื้อ และเสียชีวิตมากมายมหาศาล

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ดูตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าแห่งสิทธิเสรีภาพ ประเทศที่ แอมเนสตี้ฯ ถือเป็นแบบอย่าง วันนี้ตัวเลขผู้ป่วยขึ้นเบอร์หนึ่งโลกไปแล้ว การแพร่ระบาดมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นไปอีก

แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ฯ ครั้งนี้ จึงออกมาแบบไม่ดูสถานการณ์ ยังคงเป็นองค์กรที่ไม่สนใจความเป็นไปของสังคม คิดแต่มุมมองเฉพาะของตน โดยแถลงว่า รัฐบาลไทยควรประกันว่าการประกาศใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่เป็นการกำหนดเงื่อนไขจำกัดอย่างไม่จำเป็นต่อสิทธิมนุษยชน มาตรฐานระหว่างประเทศกำหนด ให้ทางการไทยควรทบทวนการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 เพื่อประกันว่ามาตรการเหล่านี้ มีผลเพียงชั่วคราว ใช้ในกรณีที่เป็นข้อยกเว้น ใช้อย่างได้สัดส่วน จำเป็น และไม่เลือกปฏิบัติ และ ไม่ใช้เพื่อจำกัดโดยพลการ ต่อสิทธิประการต่างๆ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร

“แอมเนสตี้ฯ” ยังยกตัวอย่าง ช่วงที่ผ่านมาว่า รัฐบาลได้กำหนดรายละเอียดของการจำกัดการเดินทาง การชุมนุม ความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงออก โดยมีบทลงโทษ ทั้งการจำคุก และ/หรือปรับ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 อาจทำให้ประชาชน “เกิดความหวาดกลัว หรือเข้าใจผิด” ประกาศดังกล่าวยังให้อำนาจหน้าที่กับเจ้าพนักงาน ดำเนินคดีต่อบุคคล ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สำทับด้วยกรณี “การเซ็นเซอร์” ระหว่างการแถลงข่าวของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นักข่าวจะไม่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ และให้รายงานข้อมูลเฉพาะที่มาจากข่าวสารที่ได้รับแจกระหว่างการแถลงข่าว หรือ คำเตือนของนายกรัฐมนตรี “ลุงตู่” พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ให้ระวังกับข้อมูลในโซเชียลมีเดีย” และการขู่จะดำเนินคดี หากมีการ “ใช้โซเชียลมีเดียอย่างมิชอบ” ในระหว่างการแถลงข่าวอีกรายการหนึ่งว่า นี่เป็นการทำให้ประชาชนหวาดผวา

วิษณุ เครืองาม
“แอมเนสตี้ฯ” กังวลว่า ทางการได้อ้างอำนาจฉุกเฉิน เพื่อสั่งให้จำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เปิดให้มีการเซ็นเซอร์ข้อมูลและดำเนินคดีกับบุคคล ทางหน่วยงานเรียกร้องทางการไทยให้แก้ไขข้อห้ามเหล่านี้ และประกันว่า การนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาบังคับใช้จะไม่ส่งผลให้เกิดข้อห้ามต่อบุคคลในการแสดงความเห็น หรือ รายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อตน รวมทั้งการแสดงความเห็นทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้ รวมถึงการวิจารณ์นโยบายของรัฐ และการปฏิบัติตามนโยบาย หรือการแสดงความเห็นต่าง

สรุปได้ว่า “แอมเนสตี้ฯ” เป็นหวงสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ต้องการที่จะคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของคน มากกว่าจะเป็นห่วง สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

การเรียกร้องไม่ดูตาม้าตาเรือแบบนี้ จะให้ใครมาเห็นด้วย เห็นใจ คงไม่ไหว สถานการณ์ของโรคยังคุมไม่อยู่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง เรื่อง สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ชนพักไว้ก่อน จะเห็นว่า ตั้งแต่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คนไทยส่วนใหญ่ยินดีให้ความร่วมมือ มีส่วนน้อยที่ยังฝ่าฝืน ซึ่งคนกลุ่มนี้เองที่ไม่ใช่เพราะมีเสรีภาพหรอกหรือ ...ติดเชื้อแล้วก็ยังไปนู่น มานี่ หรือที่แพร่กระจายโรคไปทั่ว ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตามไปดูแล บุคลากรทางการแพทย์ ต้องเหน็ดเหนื่อยต่อความไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ไม่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในยามวิกฤต

มองด้วยใจเป็นธรรม ตัดอคติทางการเมือง การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลลุงตู่ ตัดสินใจออกบังคับใช้ มีเสียงเชียร์มากกว่าเสียงด่า ข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพ ก็เป็นอย่างที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ได้อธิบายไว้ก่อนหน้า จะบังคับใช้ 26 มี.ค. ว่า มีลำดับขั้นตอนการใช้ค่อยๆ ทำ จาก “ห้าม” หรือ “ทำ” อะไรได้บ้าง ตลอดหลายวันที่ผ่านมา เฉพาะพื้นที่ที่บังคับใช้ก็ได้ผลระดับหนึ่ง


งานนี้ แอมเนสตี้ฯ ถ้ามีสติ คงคิดได้ ถ้าป่วยไข้ก็ควรไปรับยาซะ !!





กำลังโหลดความคิดเห็น