xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปั้น “เมืองการบินอู่ตะเภา” เกตเวย์เอเชีย “หมอเสริฐ-คีรี-ชิโนไทยฯ” ยังไงก็ต้อง “สู้”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล 19 มิถุนายน 2563
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไวรัสโควิด-19 อีกไม่นานก็จะต้องสร่างซาไป กลุ่มมหาเศรษฐีเมืองไทย ได้ฤกษ์เปิดม่านโครงลงทุนเมืองการบินอู่ตะเภาอย่างเป็นทางการ รอเบิกฟ้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-การบิน-ขนส่งทางอากาศ กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

โครงการลงทุนระดับแสนล้านนี้ เจ้าสัว “คีรี กาญจนพาสน์” บิ๊กบอสบีทีเอสกรุ๊ป ควงคู่มากับ “หมอเสริฐ - นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” เจ้าของบางกอกแอร์เวย์-โรงพยาบาลในเครือ BDMS พร้อมด้วย “ชิโน-ไทย เอนจีเนียริ่งฯ” ทุ่มลงทุนกว่า 1.8 แสนล้าน ร่วมสานฝันปั้นอู่ตะเภาให้เป็นเกตเวย์แห่งเอเชีย โดยผลตอบแทนให้รัฐที่ 3.055 แสนล้านบาท ตั้งเป้าดึงผู้โดยสารเข้าไทย 200 กว่าล้านคน และสายการบินพันธมิตร 100 กว่าสาย เพื่อต่อจิ๊กซอว์โครงการลงทุนอีอีซี-อีสเทิร์นซีบอร์ด ให้สมบูรณ์แบบ

นับเป็นหมุดหมายสำคัญ หลังจากโครงการดังกล่าวก่อรูปร่างมาร่วมสองปี ผ่านการประมูลที่แข่งขันกันแบบลุ้นระทึก พลิกกันไปมาฝุ่นตลบ มีเรื่องถึงโรงถึงศาล กระทั่งในที่สุดก็ถึงวันที่กลุ่มเอกชนที่ชนะประมูลโครงการเมืองการบินอู่ตะเภา ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเป็นครั้งแรกถึงแผนการเดินหน้าลงทุน

บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS)
ผู้ได้รับสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามสัญญากับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการลงทุน 186,000 ล้านบาท โดยเอกชนได้สิทธิพัฒนาพื้นที่ 6,500 ไร่ อายุสัญญา 50 ปี

“หมอเสริฐ” เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ซึ่งวันนี้นั่งเป็นที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มั่นใจในประสบการณ์ด้านธุรกิจการบินที่คลุกคลีมานานกว่า 50 ปี และเป็นผู้ลงทุนสร้างและบริหารสนามบินภายในประเทศ 3 แห่ง คือ สมุย สุโขทัย และตราด เมื่อบวกกับความเชี่ยวชาญแต่ละด้านของผู้ร่วมทุนและการสนับสนุนโครงการของภาครัฐ จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จแน่นอน แม้ขณะนี้จะมีเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่กว่าจะก่อสร้างและเปิดสนามบินในปี 2567 เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อโครงการ

ตามเป้าหมายโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จะเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 เป็นศูนย์อุตสาหกรรมลอจิสติกส์และการบินของอีอีซี และเป็นศูนย์กลางของเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งที่ตั้งของสนามบินอู่ตะเภาเป็นจุดที่ได้เปรียบในการเชื่อมโยงและรองรับการเดินทางจากภาคอีสานตอนล่างและภาคตะวันออก ทั้งทางบก ทางน้ำ ส่วนทางอากาศ และเชื่อมต่อกับต่างประเทศได้สะดวกและเร็วกว่าเข้าไปยังสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง

“.... บางกอกแอร์เวย์ มีพันธมิตรสายการบินประมาณ 100 สาย เชื่อว่าหากชวนก็พร้อมจะมาใช้อู่ตะเภา” นพ.ปราเสริฐ กล่าวถึงคอนเนกชันพันธมิตรสายการบินที่จะดึงมาใช้บริการที่อู่ตะเภา


สำหรับการออกแบบและการบริหารสนามบินอู่ตะเภานั้น นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.การบินกรุงเทพ กล่าวว่า เบื้องต้นจะจ้างทาง Narita International Airport Corporation มาเป็นที่ปรึกษา เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับในการบริหารจัดการสนามบินนาริตะที่อยู่ห่างจากเมืองโตเกียว 70-80 กม. ซึ่งมีความคล้ายกับอู่ตะเภาอย่างมาก

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา กรรมการบริหาร บมจ.การบินกรุงเทพ ประเมินว่า ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ความต้องการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเพิ่มจาก 30% เป็น 42.8% และคาดว่า ในปี 2573 ประเทศไทยจะมีผู้โดยสารทางอากาศ 200 ล้านคน/ปี ขณะที่การพัฒนาสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิรวมกัน จะรองรับได้ 160 ล้านคน/ปี ดังนั้น ส่วนเกิน 40 ล้านคน/ปี คือเป้าหมายที่ทำให้ต้องมีสนามบินแห่งที่ 3 โดยวางเป้าสนามบินอู่ตะเภา เป็นเกตเวย์เอเชีย ทั้งด้านผู้โดยสาร ด้านลอจิสติกส์ สร้างเมืองและพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินแบบครบวงจร

เขายังบอกว่า อัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) โครงการ เป็นตัวเลข 2 หลัก มีระยะเวลาคืนทุนในปีที่ 15-16 ตามแผนงานหลังลงนามสัญญา ภาครัฐจะมีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Process : NTP) ภายใน18 เดือน จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และมีเวลาบริหารสัมปทาน อีก 47 ปี

สำหรับแผนการลงทุน แหล่งที่มาของเงินลงทุนแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ เงินสดและทุนของกลุ่มบริษัท 90,264 ล้านบาท, กู้สถาบันการเงินระยะยาว 87,302 ล้านบาท, เงินทุนจากการชำระค่าหุ้นวันดำเนินการ 9,000 ล้านบาท และเงินชำระค่าหุ้นวันลงนามสัญญา 4,500 ล้านบาท โดยการลงทุนจะแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 มีงานอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุน 31,290 ล้านบาท

ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2573 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อวัน วงเงินลงทุน 23,852 ล้านบาท

ระยะที่ 3 ต่อขยายอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด แล้วเสร็จประมาณปี 2585 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุน 31,377 ล้านบาท

ระยะที่ 4 ขยายอาคารผู้โดยสาร หลังที่2 กว่า 82,000 ตารางเมตร ติดตั้งระบบ เช็คอินอัตโนมัติ เพิ่มหลุมจอด 14 หลุมจอด เสร็จปี 2598 รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุน 38,198 ล้านบาท มีค่าซ่อมบำรุงรวม 61,849 ล้านบาท

ด้านเจ้าสัวคีรี ซึ่งบอกว่านี่เป็นการแถลงข่าวครั้งแรกของเอกชน เพราะตอนประมูลไม่ได้รับอนุญาตให้พูดอะไร ยืนยันถึงความพร้อมด้านการลงทุน ทั้งการเงิน บุคลากร และความเชื่อมั่นในพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในธุรกิจการบิน จะทำให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ

เขายังให้ความมั่นใจว่าจากการวิเคราะห์ผลตอบแทนด้านการลงทุน ผลตอบแทนให้รัฐที่ 3.055 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่ถูกต้องแน่นอน หากคิดสัดส่วนรายได้ในอนาคตแต่ละปีกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งเมื่อขยายการลงทุนไปจนถึงปีที่ 50 จะทำให้รัฐได้ผลประโยชน์สูงถึง 1.326 ล้านล้านบาท

การทุ่มลงทุนในโครงการนี้ กลุ่มบีทีเอส ยังหวังต่อยอดธุรกิจในเครือ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ ระบบขนส่งมวลชนทางรางทั้งรถไฟฟ้าภายในโครงการ และเชื่อมต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพราะไม่เพียงแต่ได้พัฒนาสนามบิน แต่ได้พื้นที่เพื่อพัฒนาเมืองการบิน ฟรีเทรดโซน และดิวตี้ฟรี อีกด้วย

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.Commercial Gateway 269 ไร่ หรือ 4.3 แสนตารางเมตร จะพัฒนาเป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์ ช็อปปิ้ง โรงแรม และลักชัวรี่ เอาท์เลต

2.Airport City 654 ไร่ หรือ 1 ล้านตารางเมตร จะพัฒนาเป็นพื้นที่ธุรกิจ Innovation Park, Exhibition area และเมดิคคัล ฮับ รวมถึงพื้นที่สำนักงาน และ 3.Cargo zone and FTZ (ฟรีเทรดโซน) 262 ไร่ หรือ 4.19 แสนตารางเมตร จะพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้า รองรับการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร ทั้งนี้กองทัพเรือมีกำหนดส่งมอบพื้นที่ให้บีบีเอส ภายในเวลา 18 เดือน จึงจะเริ่มก่อสร้าง

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เรื่องโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

สาระสำคัญ คือ โครงการดังกล่าวจะมีทั้งศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งสินค้า ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เขตประกอบการค้าเสรี ศูนย์ฝึกอบรมการบิน โดยมีผลตอบแทนด้านการเงิน มูลค่าปัจจุบัน 3.05 แสนล้านบาท (เป็นเงินรวม 1.326 ล้านบาท ใน 50 ปี) เมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินจะตกเป็นของรัฐ โครงการนี้จะเป็นโยชน์ในการสร้างรายได้จากภาษี ประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ภายใน 5 ปีแรก

อีอีซี วางยุทธศาสตร์ให้เมืองการบินตะวันออก เป็นสนามบินกรุงเทพฯแห่งที่ 3 เชื่อมดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ลอจีสติกส์ ศูนย์ซ่อมและศูนย์ฝึกอบรมด้านการบิน เป็นศูนย์กลางมหานครการบินภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่การพัฒนาเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร รอบสนามบิน (เมืองพัทยาถึงตัวเมืองระยอง) เติมเต็มการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญ เชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯและปริมณฑลฝั่งตะวันออก ที่เชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ (ท่าเรือ) บก (ทางด่วน รถไฟ และรถไฟความเร็วสูง) และอากาศ (สนามบิน)

ตามยุทธศาสตร์เชื่อมโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่กลุ่ม “หมอเสริฐ” และพันธมิตร ชนะประมูล กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งกลุ่มซีพีและพันธมิตร ชนะประมูล ให้เกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกันนั้น รัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานร่วม เพื่อบูรณาการแผนการก่อสร้างและการเปิดบริการให้สอดคล้องกัน

เมื่อการแข่งขันในเวทีประมูลอย่างดุเดือดผ่านไปแล้ว นับจากนี้กลุ่มผู้ลงทุนในอีอีซี ต่างถือเป็นพันธมิตรร่วมเกื้อหนุนเพื่อเป้าหมายเกตเวย์แห่งเอเชีย สานฝัน win-win solution กันทุกฝ่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น