xs
xsm
sm
md
lg

"หมอเสริฐ-คีรี"ทุ่มแสนล้าน เมืองการบินอู่ตะเภา สู่"เกต์เวย์เอเชีย"15ปีคืนทุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360 - กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS เดินหน้าลงทุนปั้นเมืองการบิน”อู่ตะเภา” เฟสแรก มูลค่าลงทุนเกือบ 4 หมื่นล้านบาท “หมอเสริฐ-คีรี”ประสานเสียง ยืนยันจ่ายรัฐกว่า 3 แสนล้านบาทคุ้มค่า ปั้นเกต์เวย์เอเชีย ด้านบางกอกแอร์ ยันไม่ย้ายฐานจากสุวรรณภูมิ เผยสร้างเครือข่ายการบินใหม่ดึงแอร์ไลน์พันธมิตรรวมมากว่า 100 สายการบินร่วม คาดปี 67 มีผู้โดยสาร 5-6 ล้านคน

วานนี้(23 มิ.ย.) บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS) ผู้ได้รับสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก สัมปทาน 50 ปี โดยมี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมลงทุนโดยเสนอผลประโยชน์ ด้านการเงินแก่รัฐ 305,555 ล้านบาท ได้แถลงข่าวร่วมกันหลังจากได้มีการลงนามสัญญากับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.

นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายโครงการคือพัฒนาให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ เป็นศูนย์อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบินของอีอีซี และเป็นศูนย์กลางของเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งที่ตั้งของสนามบินอู่ตะเภาเป็นจุดที่ได้เปรียบ ในการเชื่อมโยงและรองรับการเดินทาง จากภาคอีสานตอนล่างและภาคตะวันออก ทั้งทางบก ทางน้ำ ส่วนทางอากาศ และเชื่อมต่อกับต่างประเทศ ได้สะดวกและเร็วกว่า เข้าไปยังสุวรรณภูมิและดอนเมือง

ขณะที่ บริษัท การบินกรุงเทพฯ มีประสบการณ์ด้านการบินมากว่า 50 ปี เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารสนามบินในประเทศ 3 แห่ง(สมุย สุโขทัย ตราด) ซึ่งที่ผ่านมา การทำสนามบินโดยเอกชนมีความยากลำบาก แต่โครงการนี้ภาครัฐสนับสนุน ดังนั้นเอกชนดูเรื่องการบริหารและการเงิน จึงเชื่อว่า ความเชี่ยวชาญแต่ละด้านของผู้ร่วมทุนจะทำให้โครงการประสบความสำเร็จแน่นอน

“แม้ขณะนี้จะมีปัญหาเรื่องโควิด-19 แต่กว่าจะก่อสร้างและเปิดสนามบินในปี67 เชื่อว่า จะไม่กระทบต่อโครงการ ส่วนการบริการด้านเที่ยวบินต่างๆ บางกอกแอร์เวย์ มีพันธมิตรประมาณ 100 สาย เชื่อว่า หากชวนก็พร้อมจะมาใช้อู่ตะเภา”

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีความเชื่อมั่นในพันธมิตร บางกอกแอร์เวย์สที่เชี่ยวชาญด้านการบิน และโอกาสของเมืองการบิน ดังนั้นจึงมั่นใจว่า ผลตอบแทนให้รัฐวงเงิน 3.055 แสนล้านบาท เป็นราคาที่ถูกต้องแน่นอน

จากการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ หากคิดส่วนลดรายได้ในอนาคต แต่ละปีกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Discount rate) ที่ 7% จะได้ผลตอบแทนแค่ 1 แสนล้านบาท แต่ทีโออาร์กำหนดให้ที่ 3.25% ตัวเลขจึงเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐกำหนดการลงทุนก่อสร้างเป็นขั้นบันได เริ่มต้นที่ 40,000 หมื่นล้านบาทและขยายการลงทุนไปตามความต้องการ จนถึง ปีที่50 จะทำให้รัฐได้ผลประโยชน์ ถึง 1.326 ล้านล้านบาท

“ครั้งนี้เป็นการพูดครั้งแรกของเอกชน เพราะตอนประมูลไม่ได้รับอนุญาตให้พูดอะไร ซึ่งโครงการนี้มีประโยชน์กับประเทศมาก เพราะจะมีทั้งการลงทุนสนามบิน เมืองการบิน ดิวตี้ฟรี เขตการค้าเสรี ฯลฯ ซึ่งยืนยันถึงความพร้อมด้านการเงิน บุคลากร จะทำให้โครงการสำเร็จแน่นอน”

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. การบินกรุงเทพ กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีการจ้างทาง Narita International Airport Corporation เป็นที่ปรึกษาออกแบบและบริหารสนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับในการบริหารจัดการ สนามบินนาริตะที่อยู่ห่างจากเมืองโตเกียว70-80 กม. ซึ่งมีความคล้ายกับอู่ตะเภาอย่างมาก

ส่วนการทำให้อู่ตะเภาเป็นเกต์เวย์ด้านการบินนั้น จะเป็นการสร้างเครือข่ายทางการบินใหม่ๆ รองรับความต้องการเดินทางและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น คงไม่ใช่การย้ายฐานการบินของบางกอกแอร์เวย์จากสุวรรณภูมิ เพราะเส้นทางบินและการใช้สนามบินแต่ละแห่ง มีปัจจัยในการบินอื่นประกอบอีกโดยคาดว่าปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารประมาณ 5-6 ล้านคน

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา กรรมการบริหาร บมจ. การบินกรุงเทพ กล่าวว่า ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ความต้องการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเพิ่มจาก 30% เป็น 42.8% และ คาดว่า ในปี 2573 ประเทศไทยจะมีผู้โดยสารทางอากาศ 200 ล้านคน/ปี ขณะที่การพัฒนาสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิรวมกัน จะรองรับได้160 ล้านคน/ปี ดังนั้น ส่วนเกิน40 ล้านคน/ปี คือเป้าหมายที่ทำให้ต้องมีสนามบินแห่งที่3

โดยวางเป้าหมายสนามบินอู่ตะเภาเป็นเกต์เวย์เอเชีย ทั้งด้านผู้โดยสาร ด้านโลจิสติกส์ สร้างเมืองและพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินแบบครบวงจร มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งโครงการภายในพื้นที่และรอบสนามบินจะเป็นตัวดึงดูดทั้งผู้มาใช้บริการและผู้ลงทุน

ทั้งนี้ โครงการจะมีอัตราผลตอบแทนการลงทุน(IRR) เป็นตัวเลข2 หลัก มีระยะเวลาคืนทุนในปีที่ 15-16 ตามแผนงานหลังลงนามสัญญา ภาครัฐจะมีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน(Notice to Process: NTP) ภายใน 18 เดือน จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และมีเวลาบริหารสัมปทาน อีก 47 ปี

สำหรับระยะที่ 1 มีงานอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี ลงทุน 31,290 ล้านบาท

ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2573 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด30 ล้านคนต่อวัน ลงทุน 23,852 ล้านบาท

ระยะที่ 3 ต่อขยายอาคารผู้โดยสาร หลังที่2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด แล้วเสร็จประมาณปี 2585 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี ลงทุน 31,377 ล้านบาท

ระยะที่ 4 ขยายอาคารผู้โดยสาร หลังที่2 กว่า 82,000 ตารางเมตร ติดตั้งีระบบ เช็คอินอัตโนมัต เพิ่มหลุมจอด 14 หลุมจอด เสร็จปี 2598 รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี ลงทุน 38,198 ล้านบาท มีค่าซ่อมบำรุงรวม 61,849 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น