xs
xsm
sm
md
lg

“EEC-BBS” ลงนามร่วมทุน 2.9 แสนล้านแล้ววันนี้ ลุยพัฒนา “อู่ตะเภา เมืองการบินภาคตะวันออก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (19 มิ.ย.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจโดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ยื่นข้อเสนอเงินประกันขั้นต่ำเป็นผลตอบแทนให้แก่รัฐดีที่สุด เพื่อร่วมกันลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โดยผู้ร่วมลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ประกอบด้วย พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของอีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ โครงการฯ จะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมืองประมาณ 30 กม.โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ ทางบกและทางอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 290,000 ล้านบาท แต่เป็นโครงการที่รัฐได้ผลประโยชน์ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปีในระยะ 5 ปีแรก เกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านธุรกิจการบินและธุรกิจเชื่อมโยง เพิ่มเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านธุรกิจการบิน โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา

“เมื่อผสานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจะก่อให้เกิดการลงทุนในมิติต่างๆ ทั้งจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมาสู่พื้นที่อีอีซี ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยและคนไทยทุกคน” นายคณิศกล่าว

สำหรับพื้นที่ของโครงการตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินตะวันออก อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อยู่ใกล้พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ในระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเพียง 20 นาที โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งทางอากาศทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า มีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ทางวิ่งมาตรฐาน 2 ทางวิ่ง มีความยาว 3,500 เมตร ซึ่งสามารถให้อากาศยานขึ้นลงทั้ง 2 ทางวิ่งอย่างอิสระต่อกัน และสามารถรองรับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทุกขนาด โดยมีหลุมจอดอากาศยานรวมทั้งสิ้น 124 หลุมจอด ในส่วนของอาคารผู้โดยสาร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทุกระยะแล้วจะมีขนาดพื้นที่กว่า 450,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี

ทั้งนี้ กลุ่ม BBS หรือบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2573 โดยประมาณการว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี

ส่วนระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2598 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

ส่วนโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ซึ่งเป็นทางวิ่งที่มีความยาว 3,500 เมตรนั้น กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง ซึ่งเป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EHIA ทั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างการออกแบบและจัดทำรายงาน EHIA โดยได้จัดการรับฟังความคิดเห็นฯ จากประชาชนโดยรอบโครงการฯ แล้วจำนวน 2 ครั้ง และคาดว่าจะจัดการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 3 ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งสุดท้ายของกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA ก่อนนำส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปลายเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาต่อไป โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 นี้คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานได้ภายในปี พ.ศ. 2567


นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ นี้ ทางกลุ่มฯ ได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งคือ สนามบินนานาชาตินาริตะ ซึ่งเป็นสนามบินชั้นนำของโลก เข้ามาร่วมบริหารสนามบินอู่ตะเภาด้วย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาบุคลากร การสร้าง และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารสนามบินเพื่อก้าวไปสู่ระดับสากล

“บริษัท และพันธมิตรฯ มีความพร้อมและมีความมุ่งมั่นที่จะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีมาใช้ในการพัฒนาโครงการร่วมกับอีอีซี และกองทัพเรือ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตามนโยบายและกรอบการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของรัฐบาล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการต่อเนื่องอื่นๆ ที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยได้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายพุฒิพงศ์กล่าวสรุป

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย และผมรู้สึกภาคภูมิใจที่กลุ่มบริษัทบีทีเอสได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการนี้ จากการผนึกกำลังของภาคเอกชนทั้ง 3 กิจการ ภายใต้ความร่วมมือกันใช้ทรัพยากรและศักยภาพที่โดดเด่น สามารถสร้างผลประโยชน์สูงสุดคืนให้แก่ภาครัฐและประชาชน ตลอดจนยกระดับการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น