xs
xsm
sm
md
lg

เซ็นสัญญา'บีบีเอส'19มิ.ย.นี้…ลุยเมืองการบิน - คมนาคมดันอีอีซีเฟส2

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน360 - ครม.รับทราบผลการประชุมกพอ. เดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก คาดลงนามในสัญญา 19 มิ.ย.นี้ ระบุสร้างรายได้จากภาษี 62,000 ล้านบาท จ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี “คมนาคม”วางแผนโครงสร้างพื้นฐาน “อีอีซี” ระยะที่ 2 ลงทุนปี 65-70 สั่งสนข.เร่งคัดกรอง 106 โครงการวงเงิน 2.52 แสนล้าน อาทิ แทรมป์พัทยา ระบบขนส่งเชื่อมเมือง-แหล่งท่องเที่ยว-อุตสาหกรรม ขับเคลื่อนอีอีซียั่งยืน คาด 1 เดือนสรุป ชงกพอ.

วานนี้ (2มิ.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม. ว่า ครม.รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 21 พ.ค.63 เรื่องโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1.รับทราบผลการคัดเลือก กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งเป็นบริษัทที่เสนอเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำให้แก่รัฐได้สูงที่สุด

2.อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับนิติบุคลลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้น โดยเอกชนที่ได้รับคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

3. อนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอน เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานโครงการก่อสร้างทางวางวิ่งที่ 2 และทางขับไปพลางก่อน ระหว่างรอผลการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่จะยังลงนามในสัญญาว่าจ้างกับผู้รับจ้างที่ได้รับการคัดเลือกไม่ได้ จนกว่ารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

4.เห็นชอบให้กองทัพเรือขอรับการจัดสรรงบประมาณ กรอบวงเงิน 390 ล้านบาท สำหรับโครงการ พัฒนาการให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน ดำเนินการปี พ.ศ.2564-2566

5. เห็นชอบให้กองทัพเรือขอรับการจัดสรรงบประมาณ จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ.2563 กรอบวงเงิน 31.2 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการรื้อย้ายระบบสายไฟฟ้า ของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

6.เห็นชอบให้กองทัพเรือขอรับการจัดสรรงบประมาณ กรอบวงเงินไม่เกิน 468 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการนำสายไฟลงใต้ดิน

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 6,500 ไร่ มีทั้งศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งสินค้า ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เขตประกอบการค้าเสรี ศูนย์ฝึกอบรมการบิน โดยมีผลตอบแทนด้านการเงิน มูลค่าปัจจุบัน 3.05 แสนล้านบาท เมื่อสิ้นสุดสัญญา ทรัพย์สินจะตกเป็นของรัฐ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโยชน์ในการสร้างรายได้จากภาษี ประมาณ 62,000 ล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ภายใน 5 ปีแรก

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นจะมีการลงทุนในสัญญาการร่วมลงทุน ในวันที่ 19 มิ.ย. นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยกิจการร่วมค้าบีบีเอส เป็นการร่วมทุนระหว่าง บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง 35% บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ถือหุ้น 45%และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถือหุ้น 20 % โดยเสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน

คมนาคมวางโครงสร้างพื้นฐาน EEC ระยะ 2 คัด 106 โครงการ 2.52 แสนล. ลงทุนต่อเนื่อง

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงาน จัดทำแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระยะที่ 2 ครั้งที่ 1/2563 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560-2564 ) ซึ่งมีโครงการรวมทั้งสิ้น 168 โครงการ วงเงินลงทุน จำนวน 988,948.10 ล้านบาท โดยจัดอยู่ในแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2560 - 2561) จำนวน 99 โครงการ ระยะกลาง (พ.ศ. 2562 - 2564) จำนวน 62 โครงการ และระยะต่อไป (พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป) จำนวน 7 โครงการ

และได้วางแนวคิดในการจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) ระยะเวลา 6 ปี ซึ่งเบื้องต้นได้มีการนำเสนอแผนงานจำนวน106 โครงการ วงเงินลงทุน 252,703 ล้านบาท โดยที่ประชุมให้ทบทวนแผนงานให้เหมาะสม โดยได้กำหนดแนวทางโครงการที่จะบรรจุไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐาน EEC ระยะที่ 2 ดังนี้

1. โอนโครงการในระยะแรกที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ โดยพิจารณา โครงการที่มีความสำคัญจำเป็นเท่านั้น 2. เลือกโครงการใหม่ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ที่จำเป็นและตอบโจทย์ในการสนับสนุนโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบิน โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ,โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3.ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) เป็นต้น

และ 3 โครงการด้านเทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ ที่เป็นการบริหารจัดการระบบ E-Logistic เพื่อให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงมาตรการส่งเสริมการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า โครงการในEEC ระยะที่ 2 จะต้องคัดกรองที่มีจำเป็นจริงๆ และเป็นโครงการที่ส่งผลต่อการพัฒนาEEC โดยตรง ให้คัดออกจากโครงการลงทุนในแผน EEC และให้นำโครงการไปใส่ในแผนพัฒนาโลจิสติกส์แทน ซึ่งจะต่างจากการทำแผนโครงการในระยะแรกที่ใส่โครงการที่อยู่ในพื้นที่ EEC ไปทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการเดินทาง เพื่อส่งเสริมขนส่งสาธารณะ เช่น รถประจำทาง รถแทรมป์เมืองพัทยา หรือ โครงการขนส่งมวลชนสาธารณะที่เชื่อมเข้าสู่เมือง พื้นที่ท่องเที่ยว และแหล่งอุตสาหกรรม เป็นต้น

ได้ให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) คัดกรองโครงการให้สอดคล้องกับแนวคิดของที่ประชุม จากนั้นจะต้องเวิร์คช้อปกับภาคเอกชน และรายงานต่อที่ประชุมภายใน 1 เดือน เพื่อสรุปแผนและนำเสนอคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน



กำลังโหลดความคิดเห็น