xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมเร่งทบทวน 106 โครงการ วงเงิน 2.52 แสนล้าน ผุดโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ระยะ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม” วางแผนโครงสร้างพื้นฐาน อีอีซี ระยะ 2 ลงทุนปี 65-70 สั่ง สนข.เร่งคัดกรอง 106 โครงการวงเงิน 2.52 แสนล้าน เช่น แทรมป์พัทยา เน้นระบบขนส่งเชื่อมเมือง-แหล่งท่องเที่ยว-อุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนอีอีซียั่งยืน และงานพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบ E-Logistic คาดสรุปใน 1 เดือนชง กพอ.

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระยะที่ 2 ครั้งที่ 1/2563 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งมีโครงการรวมทั้งสิ้น 168 โครงการ วงเงินลงทุน จำนวน 988,948.10 ล้านบาท โดยจัดอยู่ในแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2560-2561) จำนวน 99 โครงการ ระยะกลาง (พ.ศ. 2562-2564) จำนวน 62 โครงการ และระยะต่อไป (พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป) จำนวน 7 โครงการ และได้วางแนวคิดในการจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) ระยะเวลา 6 ปี ซึ่งเบื้องต้นได้มีการนำเสนอแผนงานจำนวน106 โครงการ วงเงินลงทุน 252,703 ล้านบาท โดยที่ประชุมให้ทบทวนแผนงานให้เหมาะสม โดยได้กำหนดแนวทางโครงการที่จะบรรจุไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐาน อีอีซี ระยะที่ 2 ดังนี้

1. โอนโครงการในระยะแรกที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ โดยพิจารณาโครงการที่มีความสำคัญจำเป็นเท่านั้น 2. เลือกโครงการใหม่ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ที่จำเป็นและตอบโจทย์ในการสนับสนุนโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) เป็นต้น

และ 3. โครงการด้านเทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ ที่เป็นการบริหารจัดการระบบ E-Logistic เพื่อให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงมาตรการส่งเสริมการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า โครงการในอีอีซี ระยะที่ 2 จะต้องคัดกรองที่มีจำเป็นจริงๆ และเป็นโครงการที่ส่งผลต่อการพัฒนาอีอีซีโดยตรง ให้คัดออกจากโครงการลงทุนในแผนอีอีซี และให้นำโครงการไปใส่ในแผนพัฒนาโลจิสติกส์แทน ซึ่งจะต่างจากการทำแผนโครงการในระยะแรกที่มีจำนวนค่อนข้างมากเนื่องจากใส่ โครงการที่อยู่ในพื้นที่อีอีซี ไปทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการเดินทางเพื่อส่งเสริมขนส่งสาธารณะ เช่นรถประจำทาง รถแทรมป์เมืองพัทยา หรือโครงการขนส่งมวลชนสาธารณะที่เชื่อมเข้าสู่เมือง พื้นที่ท่องเที่ยว และแหล่งอุตสาหกรรม เป็นต้น

“กรมทางหลวงชนบทเสนอโครงการปรับปรุงผิวจราจรถนน แต่ไม่ได้ส่งผลต่อ อีอีซี โดยตรงก็ให้ตัดไปไว้ใส่ในงบโลจิสติกส์ หรือกรมเจ้าท่าเสนอโครงการขุดลอกแม่น้ำบางปะกงเพื่อให้เรือขนาดใหญ่เข้าไปรับสินค้าจาก 18 ท่าเรือในแม่น้ำบางปะกงไปยังเกาะสีชังเพื่อส่งออก แม้แม่น้ำบางปะกงจะอยู่ในพื้นที่อีอีซี แต่โครงการไม่ได้ส่งผลโดยตรง อีอีซีก็ตัดออก เป็นต้น” นายชัยวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ได้ให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) คัดกรองโครงการให้สอดคล้องกับแนวคิดของที่ประชุม จากนั้นตะต้องเวิร์กชอปกับภาคเอกชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นและภาคประชาชน เพื่อปรับแผนให้สะท้อนผลประโยชน์โดยตรงกับอีอีซี เพื่อให้ได้เม็ดเงินลงทุนที่เหมาะสม และรายงานต่อที่ประชุมภายใน 1 เดือน เพื่อสรุปแผนและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน



นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม


กำลังโหลดความคิดเห็น