กพอ.เห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 2.9 แสนล้านบาทเตรียมชง”ครม.”อนุมัติก่อนลงนามระหว่างทร.และกลุ่มบีบีเอสต้นมิ.ย.นี้ “คณิศ”ปลื้มผลสำเร็จยันเป็นโครงการกระดูกสันหลังหลักอีอีซีร่วมไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบินที่จะสร้างประโยชน์ซึ่งกันและกันปักธงเสร็จพร้อมกันปี 2566
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันนี้(21พ.ค.) ได้อนุมัติเห็นชอบผลร่างสัญญาร่วมทุนลงทุนซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส(บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ถือหุ้น 35% กับ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ถือหุ้น 45%และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)ถือ 20%)เป็นผู้ชนะการคัดเลือก หลังจากนี้จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาและคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาระหว่างกองทัพเรือกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ไทยประสบความสำเร็จในการเดินหน้าลงทุนโครงการกระดูกสันหลังของอีอีซีคือสนามบินอู่ตะเภาฯและโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
“เราได้ใช้เวลาในการทำงานร่วมกันกว่า 1 ปีโดยต้องขอบคุณกองทัพเรือ(ทร.)ที่ได้นำพื้นมาใช้ประโยชน์ และเป็นถือเป็นโครงการกระดูกสันหลังที่ 2โครงการคือสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินฯ กับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะต้องร่วมร้างประโยชน์ซึ่งกันและกันโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำต้องเชื่อมกันให้ได้ในการสร้างประโยชน์ซึ่งกันและกันเพราะเป็นเอกชนคนละเจ้า เรื่องนี้จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงาน2โครงการเพื่อให้เปิดบริการและเสร็จพร้อมกันในปี 2566 เพราะหากปราศจากโครงการใดโครงการหนึ่ง ประเทศและประชาชนจะได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่”นายคณิศกล่าว
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการระบาดไวรัสโควิด-19 แต่มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเป็นปกติอีก 2 ปี ดังนั้นสาระสำคัญโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนา “เมืองการบินภาคตะวันออก” ในพื้นที่ 6,500 ไร่ โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญได้แก่ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจ ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ และศูนย์ฝึกอบรมการบิน ลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท รัฐได้ประโยชน์เพิ่มเติมอาทิ ด้านการเงิน (ค่าเช่าที่ดิน ส่วนแบ่งรายได้) มูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท (เป็นเงินรวม 1,326,000 ล้านบาท ใน 50 ปี) ได้ภาษีอากรเพิ่มมากกว่า 62,000 ล้านบาท จ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก เมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมด ตกเป็นของรัฐ เป็นต้น
พลเรือตรีเกริกชัย วจนาภรณ์ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวว่า แต่สามารถคืนงบประมาณซี่งนำมาใช้สร้างโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ที่ใช้งบ 117,227 ล้านบาท จึงยังมีรายได้สุทธิ จาก 2 โครงการนี้เพื่อลงทุนในอนาคต 188,328ล้านบาท เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจถึง 532,000 ล้านบาท รายได้ภาษีอากร 92,650 ล้านบาท และสร้างตำแหน่งงานอีก 2,9870 คน
นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองเลขาธิการสายงานโครงสร้างพื้นฐาน สกพอ. กล่าวว่า ภาครัฐเริ่มเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 – 13 เมษายน 2563 โดยตั้งคณะทำงานเจรจา 2 ชุด ได้แก่ คณะทำงานเจรจารายละเอียดด้านเทคนิคและ คณะทำงานเจรจาเงื่อนไขร่างสัญญาร่วมลงทุน โดยคณะทำงานเจรจาฯ รวมทั้งสิ้น 19 ครั้ง ภายใต้กรอบของเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ หลักการโครงการที่ กพอ. ได้เห็นชอบไว้ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง