xs
xsm
sm
md
lg

เปิด พ.ค.นี้! มอเตอร์เวย์ “พัทยา-มาบตาพุด” ทดลองใช้ฟรีถึง ส.ค. เพิ่มทางเลือกใหม่สู่อีอีซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




“กรมทางหลวง” เตรียมเปิดใช้มอเตอร์เวย์ “พัทยา-มาบตาพุด” พ.ค.นี้ แบบทดลองวิ่งฟรี ก่อนเปิดเต็มระบบ ส.ค. เก็บค่าผ่านทางสูงสุด 130 บาท เพิ่มทางเลือกใหม่สู่ “อีอีซี” คาดรถใช้ 3.6 หมื่นคัน/วัน


นายอภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทางรวม 32 กิโลเมตร ว่าปัจจุบันงานก่อสร้างภาพรวมคืบหน้า 95% โดยงานโยธาคืบหน้าไปแล้ว 98% (ข้อมูล ณ เดือน ก.พ.) แบ่งเป็น 13 ตอน เสร็จสมบูรณ์แล้ว 12 ตอนเหลือ อีก 1 ตอน ส่วนงานระบบมี 1 ตอน จะมีการก่อสร้างเชื่อมโยงระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ระบบควบคุมการจราจร และระบบอำนวยความปลอดภัยมีความคืบหน้า 60.32% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2563 และเปิดใช้จริงในเดือนสิงหาคม 2563

ทั้งนี้ จะมีการเปิดทดลองใช้ก่อน ในเดือน พ.ค. 2563 โดยจะยังไม่จัดเก็บค่าผ่านทาง

โดยมีอาคารเก็บค่าธรรมเนียม 3 แห่ง คือ ด่านฯ ห้วยใหญ่ บริเวณกิโลเมตรที่ 15+300 ด่านฯ เขาชีโอน บริเวณกิโลเมตรที่ 26+375 และด่านฯ อู่ตะเภา บริเวณกิโลเมตรที่ 30+250

เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ทั้งระบบ กรมทางหลวงจะเปิดให้บริการระบบปิดอย่างเต็มรูปแบบ โดยแบ่งกลุ่มอัตราค่าธรรมเนียมตามประเภทรถยนต์ 4 ล้อ ในอัตรา 10-130 บาท, รถยนต์หกล้อในอัตรา 15-210 บาท และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อขึ้นไป ในอัตรา 20-305 บาท

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีปริมาณจราจรช่วงพัทยา-มาบตาพุด ประมาณ 36,000 คัน/วัน โดยเป็นรถที่วิ่งต่อเชื่อมจาก มอเตอร์เวย์กรุงเทพ-พัทยา ประมาณ 70% และอีก 30% เป็นรถที่ใช้บริการช่วง พัทยา-มาบตาพุด และคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 300-400 ล้านบาท/ปี

โดยรายได้จะเข้ากองทุนมอเตอร์เวย์ ซึ่งปัจจุบันกองทุนฯ มีรายได้ประมาณ 25 ล้านบาท/วัน หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท/ปี โดยปัจจุบันกองทุนมีเงินสะะสมที่ 1.4 หมื่นล้านบาท

สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด วงเงินกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืนประมาณ 6,000 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา ประมาณ 10,000 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานระบบ 2,000 ล้านบาท โครงการมีจุดเริ่มต้นก่อสร้างเชื่อมกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 บริเวณทางแยกต่างระดับมาบประชัน ผ่านอำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งจะไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 3 บริเวณอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

ส่วนของทางเข้าออกทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด จะช่วยให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยหากใช้เส้นทางด่านฯห้วยใหญ่ จะเชื่อมต่อไปยังถนนสุขุมวิท สามารถเดินทางไปยังหาดจอมเทียน ตลาดน้ำสี่ภาค แต่หากใช้เส้นทางด่านฯเขาชีโอน จะเชื่อมต่อไปยังทางหลวงหมายเลข 331 ไปยังสถานที่สำคัญ อย่างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ ไร่องุ่นซิลเวอร์เลค และหากใช้เส้นทางผ่านด่านฯอู่ตะเภา จะเชื่อมต่อไปยังถนนสุขุมวิท มุ่งหน้าไปอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

นอกจากนี้ เส้นทางดังกล่าวกรมทางหลวงได้ควบคุมการก่อสร้างให้มีมาตรฐานที่สูง สำหรับผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต สภาพความเรียบของผิวทางต้องมีค่าดัชนีความขรุขระสากล (International Roughness Index : IRI) ไม่เกิน 2.0 เมตร/กิโลเมตร สำหรับผิวทางคอนกรีต สภาพความเรียบของผิวทางต้องมีค่าดัชนีความขรุขระสากล (International Roughness Index : IRI) ไม่เกิน 2.5 เมตร/กิโลเมตร

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด นับเป็นเส้นทางที่สายหลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการขนส่งทางรถไฟ และการขนส่งทางอากาศ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน








กำลังโหลดความคิดเห็น