xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เป็นสักขีพยานพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประยุทธ์” เป็นสักขีพยานพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ดันอีอีซีเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาค ขอบคุณ “สมคิด” ริเริ่ม พร้อมสานต่อทุกโครงการ “ปราสาททองโอสถ-บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์-ซิโนไทย เอ็นจีเนียริ่ง” พร้อมหน้า

วันนี้ (19 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่างสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจโดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ยื่นข้อเสนอเงินประกันขั้นต่ำเป็นผลตอบแทนให้แก่รัฐดีที่สุด เพื่อร่วมกันลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ณ ตึกสันติไมตรี ทําเนียบรัฐบาล โดยผู้ร่วมลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ประกอบด้วย พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) และนายภาคภูมิ ศรีชํานิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรี รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสําคัญของอีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทําให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ โครงการฯ จะทําให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบิน ภาคตะวันออก ที่ครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 กม.โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสําคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออกที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ํา ทางบก และทางอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทุกคนยินดีที่โครงการมีความคืบหน้าซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนต่อเนื่องจากการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เมื่อ 24 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา ถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลแรกที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนรี เป็นผู้เริ่มโครงการจนมาถึงวันนี้มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี มาขับเคลื่อนต่อ ตนขอบคุณทุกคนและทุกภาคส่วนที่ริเร่มมาด้วยกัน กว่าจะถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซีที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาค

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า การลงนามในวันนี้เป็นการยืนยันในเจตจำนงของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นแนวทางในการลงทุนของรัฐบาลต่อไป ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นมิติใหม่ในการก้าวเดินของประเทศไทย พร้อมยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค อีกทั้งจะมีความต่อเนื่องในการลงทุนในทุกมิติ ซึ่งรัฐบาลพยายามเร่งรัดในทุกเรื่องเพื่อตอบสนองเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงขอบคุณประชาชนในพื้นที่ที่มีส่วนร่วม

“เราจะต้องเป็น new normall คิดใหม่ ชีวิตที่เป็นปกติใหม่ เราต้องมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึเนคือความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ซึ่งไม่มีอะไรทำได้โดยคนๆเดียว หรือเพียงหน่วยงานเดียว โครงการอีอีซีเกิดขึ้นโดยการนำพาของรัฐบาล มีหลายพรรคหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในวันนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกคน และขอฝากทุกคนไว้ด้วยว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นแบบนี้ขอให้ทำกันต่อไป ในเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศของเรา ไม่มีอะไรจะทำได้นอกจากการคิดใหม่ ทำใหม่ บูรณาการในสิ่งใหม่ๆ ก็จะทำให้การทำงานลุล่วงได้ ถ้าเรามีปัญหาอุปสสรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรต้องเร่งแก้ไข ผมคาดหวังว่าส่งที่ทำในวันนี้จะเป็นประโยชน์เพื่ออนาคต โครงการนี้มีอายุสัญญาโครงการกว่า 50 ปี พวกเราใครจะอยู่ก็อยู่ ผมก็หวังว่าจะอยู่กันได้ทุกคน แต่ไม่ว่าเราจะอยู่หรือไม่อยู่โครงการนี้ก็จะอยู่คู่กับประเทศยาวนานเป็นร้อยปี” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะทำได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนว่าจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็ไม่เกิดประโยชน์และถ้าเราพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้ประเทศก็เดินหน้าไม่ได้ วันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมทุกด้านเหลือเพียงอย่างเดียวคือเรื่องของคน ซึ่งเราต้องมีการพัฒนาจิตใจและการศึกษาที่จะทำให้ทุกอย่างเดินหน้าได้

นายกฯ กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า สิ่งสำคัญเราต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 13 อุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว รวมทั้งเมืองอัจฉริยะ ซึ่งทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพราะนี่คือโลกยุคใหม่ อาจไม่ใช่แค่หลังโควิด-19 เพราะถึงอย่างไรก็ต้องเปลี่ยนแปลง วันนี้ถ้าโลกปรับหรือเปลี่ยน แต่เราไม่ปรับหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ประเทศไทยก็อยู่ไม่ได้ คนไทยก็อยู่ไม่ได้ ต่อให้ใครก็ตามที่จะเข้ามาบริหารแผ่นดินก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เมื่อประเทศ และประชาชนอยู่ไม่ได้แล้วเราจะทำอย่างไร วันนี้ตนจึงขอฝากคำขอบคุณและกำลังใจให้ทุกคน เพราะรู้ว่าทุกคนทำงานหนัก














กำลังโหลดความคิดเห็น