xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” ปักหมุดเมืองใหม่อัจฉริยะที่ฉะเชิงเทรา วางเป้า 3 ปีดันคนในพื้นที่อีอีซีหลุดพ้นรายได้ต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สมคิด” เร่งเครื่องอีอีซีปี 2563 ให้เกิดการทยอยลงทุน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ พร้อมให้ความสำคัญพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะของอีอีซี ตั้งเป้า จ.ฉะเชิงเทรา และมุ่งกระจายรายได้สู่ฐานราก หวังยกระดับลดผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่อีอีซีให้หมดภายใน 3 ปี



นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ปี 2563 ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ว่า ได้มอบหมายให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก 5 โครงการในอีอีซี ได้แก่ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ให้ได้ผู้ชนะการประมูลครบภายในไตรมาสแรกเพื่อให้เกิดเม็ดเงินทยอยการลงทุนได้ภายในปี 2563 นี้จากที่โครงการทั้งหมดจะมีเงินลงทุน 6.5 แสนล้านบาทภายในระยะ 5 ปี และให้เร่งรัดการลงทุนโครงการเมืองใหม่อัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยจะต้องเห็นกรอบการทำงานภายในไตรมาสแรก ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้เชื่อมโยงไปยังเศรษฐกิจฐานราก โดยมีเป้าหมายยกระดับรายได้ให้ชุมชนใน 3 จังหวัดอีอีซีให้หลุดพ้นผู้มีรายได้น้อยภายใน 3 ปี

“ความคืบหน้าอีอีซีถือว่าไปได้ดีมากด้วยความร่วมมือกันหลายส่วน มาถึงจุดตั้งไข่ได้แล้ว เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเชื่อมั่นต่อต่างประเทศ โครงการที่เป็น Flag ship จะต้องเกิดให้ได้ในปีนี้ แต่ที่อยากให้คิดมากเป็นพิเศษคือการพัฒนาเมืองใหม่ ที่ จ.ฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ในแผนอยู่แล้วเพราะเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการพัฒนาที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ จะเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัวอย่าไปรอให้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยสร้าง” นายสมคิดกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ เมื่อโครงการต่างๆ ในอีอีซีขับเคลื่อนจะต้องนำความเจริญและการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนหรือเศรษฐกิจฐานรากให้กับ 3 จังหวัดอีอีซี (ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี) โดยนำเอาการท่องเที่ยวไปเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) โดยทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ต้องดึงเอกชนช่วยพัฒนาด้วย เช่น เกษตรแปรรูปและการท่องเที่ยวเมืองรอง รวมไปถึงการเชื่อมโยงกับโรงไฟฟ้าชุมชนของกระทรวงพลังงานด้วย เพื่อให้ลดผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่อีอีซีภายใน 3 ปี

“ผมจะเร่ง บมจ.ปตท.ให้ดำเนินการโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ให้เกิดให้ได้ในพื้นที่ระยอง และทำให้ ปตท.มียุทธศาสตร์ที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือชุมชน เช่น โครงการไทยเด็ดที่เป็นแผนงานโดยแท้จริงไม่ใช่เพียงแค่กิจการเพื่อสังคม (CSR) เพื่อทำให้ชีวิตลูกหลานในอนาคตดีขึ้น ขณะเดียวกันยังมอบให้ไปพิจารณายกระดับพื้นที่อื่นๆ เช่น ภาคใต้ (SEC) และภาคเหนือ (NEC) ด้วย” นายสมคิดกล่าว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า ปี 2562 ที่ผ่านมามีการลงทุนในพื้นที่อีอีซีทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล รวม 404,982 ล้านบาทแบ่งเป็น การลงทุนนิคมฯ 323,506 ล้านบาท นอกนิคมฯ 68,134 ล้านบาท และการลงทุนจริงจากการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ 125,548 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น