บอร์ดบีโอไอสั่งปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนใน EEC เพิ่มกิจการเป้าหมายและสิทธิภาษีเงินได้นิติบุคคล ลดหย่อนสูงสุด ร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 3 ปี พร้อมอนุมัติ 4 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 30,170 ล้านบาท ในกิจการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล กิจการการผลิตยางรถยนต์และยางจักรยานยนต์ จำนวน 2 โครงการ และกิจการสกัดโลหะที่ไม่ใช้แล้วและเศษโลหะ
วันนี้ (18 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 3/2562 โดยเห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้ดึงดูดมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มประเภทกิจการเป้าหมายให้ครอบคลุมกว้างขึ้น ได้แก่ (1) กิจการในกลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปีตามสิทธิพื้นฐานเกือบทุกประเภท (กลุ่ม A1, A2, A3) ยกเว้นกิจการบางกลุ่ม เช่น กิจการที่ไม่มีที่ตั้งสถานประกอบการชัดเจน กิจการที่มีเงื่อนไขบังคับเรื่องที่ตั้งสถานประกอบการซึ่งไม่อยู่ใน 3 จังหวัด EEC เป็นต้น (2) กิจการในกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ได้แก่ ไบโอเทค นาโนเทค วัสดุขั้นสูง และดิจิทัล และกลุ่มที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย เช่น กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้มีการกำหนดเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมใน 2 ทางเลือก ได้แก่ เกณฑ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเกณฑ์ที่ตั้ง โดยสามารถเลือกดำเนินการทั้งสองเกณฑ์ควบคู่กันเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสูงสุด หรือเลือกเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งก็ได้ ดังนี้
1. เกณฑ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
กรณีมีการพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามรูปแบบที่กำหนด เช่น โครงการ Work-integrated Learning (WiL) สหกิจศึกษาและทวิภาคี หรือรูปแบบที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นชอบ จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมใน 2 ลักษณะแตกต่างกันตามกลุ่มประเภทกิจการ คือ
• กิจการในกลุ่ม A1, A2, A3 จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เพิ่มเติม 3 ปี
• กิจการในกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายและกิจการสนับสนุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
นิติบุคคล เพิ่มเติม 2 ปี
2. เกณฑ์ที่ตั้ง
ในกรณีตั้งโครงการในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ ได้แก่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คือ 1) กิจการในกลุ่ม A1, A2, A3 จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เพิ่มเติม 2 ปี 2) กิจการในกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายและกิจการสนับสนุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มเติม 1 ปี นอกจากนี้ กรณีตั้งในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ปี ด้วย
มาตรการนี้ให้มีผลบังคับใช้สำหรับคำขอรับการส่งเสริมที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 จนถึงสิ้นปี 2564 ยกเว้นโครงการที่จะตั้งในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ 4 แห่ง (EECi EECd EECa และ EECmd) สามารถยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการนี้ได้โดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในการยื่นคำขอ
สำหรับมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมการขนาดกลางและขนาดย่อม จะมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้ครอบคลุมทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการอย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สำหรับมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีปัจจุบัน ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาของมาตรการออกไปถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563
พร้อมกันนี้ บอร์ดบีโอไอ เห็นชอบอนุมัติ 4 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 30,170 ล้านบาท ในกิจการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล กิจการการผลิตยางรถยนต์และยางรถจักรยานยนต์ จำนวน 2 โครงการ และกิจการสกัดโลหะที่ไม่ใช้แล้วและเศษโลหะ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. กิจการผลิตเอทานอล เงินลงทุน 7,800 ล้านบาท ตั้งโครงการในจังหวัดนครสวรรค์ โครงการมีรูปแบบการผลิตที่รองรับนโยบายรัฐบาลเรื่องอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ (Bio Economy) โดยนำผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่ อ้อย มาผลิตเป็นเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงความเข้มข้นร้อยละ 99.5 ปีละประมาณ 237,600,000 ลิตร และผลิตไฟฟ้าจากไอน้ำที่ได้จากเชื้อเพลิงชีวมวลขนาด 85 เมกะวัตต์
2. กิจการผลิตยางเรเดียล ยางตีนตะขาบ และยางในจักรยานยนต์ เงินลงทุน 7,478 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง จังหวัดระยอง วัตถุดิบหลัก ได้แก่ ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ โดยจะใช้ยางธรรมชาติในประเทศ ประมาณ 72,000 ตัน/ปี
3. กิจการผลิตยางเรเดียลสำหรับรถยนต์ เงินลงทุน 11,018 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยจะใช้ยางธรรมชาติในประเทศประมาณ 17,006.5 ตัน/ปี
4. กิจการสกัดโลหะ เช่น ทองแดง นิกเกิล สังกะสี ดีบุก เงิน ทอง และแพลเลเดียม เป็นต้น จากแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ที่ไม่ใช้แล้ว และเศษทองแดงเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เงินลงทุน 3,874 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง จังหวัดชลบุรี กำลังการผลิต ปีละประมาณ 148,000 ตัน