"สมคิด" มอบหมายให้บีโอไอและคลังหารือชงบอร์ดบีโอไอ ก.พ.คลอดแพกเกจเร่งรัดให้เอกชนไทยลงทุนในช่วง 6 เดือนข้างหน้าให้ได้เพื่อใช้โอกาสของบาทแข็งค่าให้เป็นประโยชน์ พร้อมมอบให้บีโอไอเปิดมิติการลงทุนใหม่ 4 กลุ่มเป้าหมายกระตุ้น ศก.ฐานราก
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า เป้าหมายการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในปี 2563 นั้นยังไม่ได้มีการวางไว้ แต่ยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดีนักแต่ก็ต้องการให้บีโอไอเร่งรัดการทำงาน ขณะเดียวกัน การประชุมบอร์ดบีโอไอในเดือน ก.พ.นี้กระทรวงการคลังจะร่วมมือกับบีโอไอเสนอมาตรการเพื่อเร่งรัดการลงทุนของผู้ประกอบการไทยใน 6 เดือนข้างหน้าโดยอาศัยจังหวะที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่า
"การลงทุนเอกชนขณะนี้ไม่ค่อยขยับทั้งที่ค่าเงินบาทแข็ง จึงอยากให้มีมาตรการที่จะทำอย่างไรให้เขาเห็นว่าเป็นจังหวะที่ควรจะลงทุน ก็ไปหารือมาเพื่อที่จะเข้าบอร์ดบีโอไอครั้งหน้า" นายสมคิดกล่าว
นอกจากนี้ยังต้องการให้คิดเป็นพิเศษคือโครงการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) เพราะโครงการใหญ่ๆของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็เกิดหมดแล้ว ภายในอังคารนี้ก็คงจะทราบผลการประมูลสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ก็จะเหลือเพียงศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ซึ่งอีอีซียืนยันว่าจะสรุปเอกชนภายในปีนี้ ดังนั้น เมื่อมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็จะต้องมีพื้นที่อยู่อาศัย สำนักงานออฟฟิศที่เป็นสมาร์ทอย่างแท้จริงโดยเฉพาะใน จ.ฉะเชิงเทรา ก็จะหารือที่จะคลอดออกมาเป็นแพกเกจ
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้บีโอไอเปิดมิติการลงทุนใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมๆ ไปสู่อุตสาหกรรมที่เน้นใช้เทคโนโลยีในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยเชื่อมโยงกับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งจะต้องเกิดให้ได้ภายในปีนี้ โดยประกอบด้วย 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ 2. อุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรือ Creative Economy 3. อุตสาหกรรมกลุ่มโมเดลเศรษฐกิจรูปแบบ BCG (Bio, Circular และ Green) และ 4. การลงทุนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เช่น หลายบริษัทได้มีแผนงาน CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมก็สามารถปรับส่วนนี้มาส่งเสริมฯ โดยให้ทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดการลงทุนในช่วงจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ เช่น การเปลี่ยนหรือนำเข้าเครื่องจักร ซึ่งจะให้บีโอไอหารือกับกรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนต่อไป โดยมาตรการนี้ก็จะเป็นการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไทยด้วย