xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนไทยปี62ทะลุเป้า7.56แสนล้าน จีนแซงหน้าญี่ปุ่น "สมคิด"สั่งเพิ่มแพกเกจอีก4กลุ่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน360-"สมคิด"เผยปี 62 ปิดยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนทะลุเป้า เม็ดเงินกว่า 7.56 แสนล้านบาท จีนแซงญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกครองแชมป์ต่างชาติลงทุนในไทยสูงสุด แต่ภาพรวมญี่ปุ่นยังมียอดสะสมมากสุด สั่งบีโอไอเปิดมิติใหม่ดึงดูดการลงทุน หนุน 4 กลุ่มเป้าหมายช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและเอสเอ็มอี พร้อมสั่งเพิ่มแพกเกจดันเมืองอัจฉริยะ หลังโครงการในอีอีซีเกิดได้ตามแผน เร่งชงบอร์ดบีโอไอ ก.พ.นี้ อนุมัติมาตรการผลักดันเอกชนไทยชงทุนช่วงเงินบาทแข็งค่า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า บีโอไอได้รายงานสถานการณ์การลงทุนในปี 2562 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,624 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 756,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 750,000 ล้านบาทโดยในจำนวนดังกล่าวเป็นการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประมาณ 500,000 ล้านบาท และพบว่าในปี 2562 นักลงทุนจากจีนมีการลงทุนสูงสุด 260,000 ล้านบาท

"ปี 2562 จีนมีการเข้ามาลงทุนในไทยสูงสุดเป็นครั้งแรก จากปกติจะเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งมาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน และคาดว่านักลงทุนจีน จะเข้ามาต่อเนื่องจากปัญหาสงครามการค้า ประกอบกับการมีนโยบายมุ่งออกสู่ต่างประเทศ ส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในไทยมานาน ถือว่ามียอดสะสมจำนวนมากสุด และยังคงถือเป็นนักลงทุนที่สำคัญสำหรับไทย"นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า ได้มอบหมายให้บีโอไอเปิดมิติใหม่จากโอกาสหลายๆ อย่างในการลงทุน จากเดิมที่ภาคอุตสาหกรรมไทยที่ดำเนินงานมากว่า 20 ปี และเริ่มก้าวสู่ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเห็นว่าโครงสร้างเริ่มมีการเปลี่ยนไป ดังนั้น จึงต้องการให้มองอุตสาหกรรมในมิติใหม่ที่จะสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเชื่อมโยงกับการลงทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งต้องการให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ให้ได้

โดยมี 4 กลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ที่จะเป็นตัวรองรับการจ้างงานและผลกระทบจากวิทยาการด้านการผลิตที่เปลี่ยนไป เนื่องจากไทยมีศักยภาพสูงในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ต้องการให้เป็นเป้าหมายใหญ่ และท่องเที่ยวไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมโรงแรม ต้องมองการบริหารในทุกรูปแบบและเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย

2.อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ที่มีมูลค่าสูงมากในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนต์ งานแอนิเมชัน การพัฒนาดีไซน์ ศิลปะการละคร บีโอไอควรจะเข้ามาเซ็ตนโยบายจูงใจให้เพิ่มขึ้น เพื่อดึงการลงทุนกลุ่มนี้เข้ามาให้ได้

3.อุตสาหกรรมกลุ่มโมเดลเศรษฐกิจรูปแบบ BCG (Bio Economy , Circular EconomyและGreen Economy) ซึ่งขณะนี้หลายกลุ่มอุตสาหกรรมได้มีการขับเคลื่อนแล้ว แต่ต้องการให้บีโอไอวางเป้าให้ธุรกิจต่างๆ มุ่งไปสู่ทิศทางดังกล่าวมากขึ้นและให้เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลัก โดยเหตุผลหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าทางยุโรปเข้ามาลงทุนในไทยต่ำ เพราะภาคการผลิตไม่อาจสู้จีนได้ แต่เขามีความสามารถสูงในเรื่องของ BCG

4.การลงทุนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากชุมชนด้านเกษตรแปรรูป แต่ให้มีการลงทุนที่เป็นกลุ่มมากขึ้น เช่น หลายบริษัทได้มีแผนงานCSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็สามารถปรับส่วนนี้มาส่งเสริม โดยให้ทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เป็นต้น

นายสมคิดกล่าวว่า เป้าหมายการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในปี 2563 ยังไม่ได้มีการวางไว้ แต่ยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดีนัก แต่ก็ต้องการให้บีโอไอเร่งรัดการทำงาน ขณะเดียวกันการประชุมบอร์ดบีโอไอในเดือนก.พ.นี้ กระทรวงการคลังจะร่วมมือกับบีโอไอเสนอมาตรการเพื่อเร่งรัดการลงทุนของผู้ประกอบการไทยใน 6 เดือนข้างหน้า โดยอาศัยจังหวะที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่า

"การลงทุนเอกชนขณะนี้ไม่ค่อยขยับ ทั้งที่ค่าเงินบาทแข็ง จึงอยากให้มีมาตรการที่จะทำอย่างไรให้เขาเห็นว่าเป็นจังหวะที่ควรจะลงทุน ก็ไปหารือมาเพื่อที่จะเข้าบอร์ดบีโอไอครั้งหน้า"นายสมคิดกล่าว

นอกจากนี้ ยังต้องการให้ให้คิดเป็นพิเศษ คือ โครงการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) เพราะโครงการใหญ่ๆ ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็เกิดหมดแล้ว ภายในอังคารนี้ ก็คงจะทราบผลการประมูลสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ก็จะเหลือเพียงศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ซึ่งอีอีซียืนยันว่าจะสรุปเอกชนภายในปีนี้ ดังนั้น เมื่อมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็จะต้องมีพื้นที่อยู่อาศัย สำนักงานออฟฟิศที่เป็นสมาร์ทอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในจ.ฉะเชิงเทรา ก็จะหารือที่จะคลอดออกมาเป็นแพคเกจ

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า คำขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 506 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 444,880 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยจังหวัดระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด ตามด้วยจังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทราตามลำดับ ส่วนยอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีจำนวน 838 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 286,520 ล้านบาท หรือคิด 38% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด

"ยอดขอรับส่งเสริมปีนี้ที่ทะลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะเห็นว่ายอดขอจะมาช่วงสิ้นปีมาก ส่วนจีนปีนี้เป็นปีแรกที่ลงทุนจากต่างชาติสูงสุดจากปกติญี่ปุ่นจะลงทุนมากสุด แต่ก็ต้องเข้าใจว่าญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานผลิตที่นานแล้ว ลงทุนสะสมก็ยังสูงมาก โดยญี่ปุ่นปีที่ผ่านมาลงทุนราว 7 หมื่นกว่าล้านบาท ก็เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่วนปี 2563 การลงทุนยังคงมีแนวโน้มที่ดี เพราะบีโอไอมีการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมหลายด้าน"น.ส.ดวงใจกล่าว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดการลงทุนในช่วงจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ เช่น การเปลี่ยนหรือนำเข้าเครื่องจักร ซึ่งจะให้บีโอไอหารือกับกรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมามาตรการกระตุ้นการลงทุนต่อไป โดยมาตรการนี้ ก็จะเป็นการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไทยด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น