xs
xsm
sm
md
lg

เมืองการบินอู่ตะเภา อีกหนึ่งก้าวสำคัญของอีอีซี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

การเซ็นสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และเป็นสิ่งที่ตอกย้ำความมั่นใจของนักลงทุน และประชาชนว่า โครงการอีอีซีจะเดินหน้าไปได้ตลอดรอดฝั่งแน่

โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา เป็น 1 ใน 5 โครงการ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ของรัฐที่เป็นหัวหอกนำร่องให้อีอีซีได้แจ้งเกิด ทั้งในแง่ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และในมุมจิตวิทยา สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนไทยว่า อีอีซี เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่โครงการขายฝัน

5 โครงการ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา เชื่อม 3 สนามบิน โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา

3 ใน 5 โครงการเซ็นสัญญากับเอกชน ผู้ร่วมลงทุนไปแล้ว คือ โครงการท่าเรือมาบตาพุด โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก อีก 1 โครงการคือ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 ได้คัดเลือกผู้ลงทุนแล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานซึ่งตามแผนจะเป็นการร่วมลงทุนของการบินไทยกับแอร์บัสต้องยุติลงชั่วคราว หลังจากบริษัทแอร์บัส ปฏิเสธไม่ร่วมลงทุน ในขณะที่การบินไทยต้องขอฟื้นฟูกิจการ ภายใต้กฎหมายล้มละลาย

กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการนี้ ประกอบด้วย บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบางกอกแอร์เวย์ส ของหมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ บีทีเอสของคีรี กาญจนพาสน์ และซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง ซึ่งได้ตั้งบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ขึ้นมาเป็นผู้ดำเนินโครงการนี้ และมีบริษัท นาริตะ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ผู้บริหารสนามบินนาริตะ เป็นที่ปรึกษา และผู้บริหารสนามบิน

โครงการซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 2.9 แสนล้านบาท แบ่งทางกลุ่ม BBS หรือบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ

ระยะที่ 1 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2573 โดยประมาณการว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี

ส่วนระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2598 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

นอกจากอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 แล้ว โครงการเมืองการบินตะวันออกยังประกอบด้วย ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้น ศูนย์ซ่อมอากาศยาน เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ และศูนย์อบรมการบินบนพื้นที่ 6,500 ไร่ ซึ่งบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น นอกจากต้องลงทุนในเรื่องเหล่านี้แล้ว ยังต้องจ่ายผลตอบแทน ในรูปของค่าเช่า ส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำให้กับกองทัพเรือ เจ้าของพื้นที่ตลอดอายุสัญญา 50 ปี เป็นมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท และเมื่อครบ 50 ปี ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกองทัพเรือให้

สนามบินอู่ตะเภา เกิดขึ้นในยุคสงครามเวียดนาม สหรัฐฯ เป็นผู้สร้างให้ เพื่อใช้เป็นสนามบินสำหรับเครื่องบิน บี 52 บินไปทิ้งระเบิดในเวียดนาม และลาว จนถึงปี 2519 หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ของไทย อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการนักศึกษา ประชาชน รณรงค์ ต่อต้านให้สหรัฐฯ ถอนฐานทัพในประเทศไทยออกไปทั้งหมด จนรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีมติให้ถอนฐานทัพสหรัฐฯ ออกไป รวมทั้งยุติการใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อการทหารด้วย

วันนี้ สนามบินอู่ตะเภากำลังเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ สู่การเป็นสนามบินนานาชาติ และศูนย์กลางการบินในเอเชียแปซิฟิก




กำลังโหลดความคิดเห็น