xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นรถไฟฟ้าเริ่มฟื้นตัว ส่วนต่อขยายหนุนยอดผู้ใช้พุ่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นรถไฟฟ้า BTS และ BEM สดใสอีกครั้ง หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 คาดปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากส่วนต่อขยายที่เปิดใช้บริการเพิ่ม ขณะเตรียมเข้ายื่นประมูลโครงการใหม่ๆ หนุนรายได้ทั้งปีมีโอกาสทรงตัวหรือเพิ่มขึ้น

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา (ก.พ.-พ.ค.) สร้างผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศและทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะเดียวกันด้านระบบขนส่ง หากเป็นการขนส่งสินค้านั้นพบว่ามีการเติบโตในอัตราที่สูงขึ้น ตรงข้ามกับระบบขนส่งมวลชน หรือระบบขนส่งสาธารณะที่ถูกข้อจำกัด จากพ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลที่มีคำสั่งให้บริการได้ตามเวลาที่กำหนด หรือหยุดการให้บริการในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด จนส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้ในช่วงไตรมาส1 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ภายในประเทศที่คลี่คลายลงมาก จนทำให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมมาเป็นระยะ และปัจจุบันพบว่ามีหลายกิจการกลับมาให้บริการหรือดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ผู้ประกอบการ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทั้งบริษัท คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) น่าจะเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงไตรมาส2/63 บางช่วงเวลาจะได้รับผลกระทบบ้างก็ตาม

ไม่เพียงเท่านี้ ทั้ง 2 บริษัทผู้ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ยังมีแผนธุรกิจและแผนลงทุนที่น่าสนใจ จากแนวโน้มและโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจที่ยังมีอยู่อีกมาก

BTS : งานใหม่ๆยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เริ่มด้วย BTS ปัจจุบันถือว่าเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีความแข็งแกร่งทางโครงสร้างธุรกิจด้วยการลงทุนที่หลากหลาย ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหุ้น BTS เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ธุรกิจของ BTS แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจขนส่งมวลชน ซึ่งประกอบธุรกิจบริหารรถไฟฟ้าสายหลัก และรถโดยสารต่อด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) รวมถึงเป็นผู้บริหารเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงในส่วนต่อขยายสายสีเขียวในปัจจุบัน

ถัดมาคือ ธุรกิจสื่อโฆษณา ดำเนินการผ่าน บมจ. วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) ผ่านการถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกันกว่า 66% และ บมจ. มาสเตอร์ แอด (MACO) ซึ่ง BTS ถือหุ้นทั้งทางตรงและอ้อมประมาณ 50% นอกจากนี้ BTS ยังดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยดำเนินงานผ่าน บมจ. ยูซิตี้ (U) เพื่อพัฒนาธุรกิจที่ดินให้เพิ่มมูลค่า และธุรกิจบริการ ถูกยกให้เป็นหน่วยสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ทำให้มีหลากหลายในการเข้าลงทุน เช่น บริการรับส่งสินค้า (Kerry) เป็นต้น

ล่าสุด บริษัทรายงานผลประกอบการงวดปี 2562/63 (สิ้นสุด มี.ค. 2563) พบว่ามีกำไรสุทธิ 8.16 พันล้านบาท เติบโตอย่างโดดเด่นถึง 184.1 % หรือ 5.28 พันล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไร 2.87 พันล้านบาท ขณะมีรายได้รวมจากการดำเนินงานอยู่ที่ 4.22 หมื่นล้านบาท ลดลง 10.8% หรือ 5.09 พันล้านบาท จาก 4.72 หมื่นล้านบาท ในปี 2561/62 ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการรับเหมาติดตั้งและก่อสร้างและจัดหารถไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการรับรู้รายได้งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม การลดลงของรายได้รวมบางส่วนถูกชดเชยด้วยการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการขายและปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน 3.19 พันล้านบาท และส่วนใหญ่มาจากกำรบันทึกกำไรจากการขาย “เบย์วอเตอร์” รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการบริการและการขาย 1.69 พันล้านบาทซึ่งจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการเดินรถ ที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดให้บริการโครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้เต็มสาย และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับ 515 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจสื่อโฆษณาพบว่าสร้างสถิติกำไรสูงสุดที่ 1.42 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.3% หรือ 323 ล้านบาท จากปีก่อน

และเมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ได้อนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการเพิ่มวงเงินการออกหุ้นกู้อีก 3 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุน การขยายธุรกิจ การดำเนินงานของบริษัท การเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน

ไม่เพียงเท่านี้ BTS เพิ่งได้รับข่าวดีเพิ่มเติม เมื่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้อนุมัติเห็นชอบผลร่างสัญญาร่วมทุนลงทุน ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ถือหุ้น 35% กับ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ถือหุ้น 45% และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ถือหุ้น 20%) เป็นผู้ชนะการคัดเลือก โดยหลังจากนี้จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาระหว่างกองทัพเรือ กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ในเดือนมิถุนายนนี้

ดังนั้น จากทิศทางธุรกิจ ทำให้ผู้บริหาร BTS เชื่อว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานงวดปี 63/64 จะเป็นอีกปีแห่งความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาวะปกติแบบใหม่ (new normal) แต่ด้วยโครงการใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นโครงการสนามบินนานาชาติ อู่ตะเภา หรือโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทำให้คาดว่าผลดำเนินงานของบริษัทจะยังเติบโต แม้จะเริ่มต้นปี 2563/64 ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย แต่ด้วยพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ประกอบกับรูปแบบทางธุรกิจและโครงสร้างรายได้ที่หลากหลาย จะช่วยให้สามารถฟื้นตัวและสร้างผลประกอบการที่น่าพึงพอใจ

นอกจากนี้ BTS ยังมีแผนขยายโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยสนใจที่จะเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน - มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร 28สถานี) ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลในเดือนกันยายนนี้ รวมไปถึงโครงการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่อื่นๆ นั่นทำให้บริษัทเชื่อว่าในปีนี้จะมีการบันทึกรายได้จำนวนมากจากธุรกิจระบบขนส่งมวลชน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเปิดให้บริการ5 สถานีแรกของส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือเต็มปี และจากการทยอยเปิดให้บริการสถานีที่เหลือ

ส่วนธุรกิจสื่อโฆษณา ถึงแม้ VGI คาดว่าในปี 2563/64 นี้ ธุรกิจสื่อโฆษณาจะได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 แต่จากการมีแพลตฟอร์มทางธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจให้บริการชำระเงิน และธุรกิจโลจิสติกส์ ทำให้ VGI สามารถสร้างรายได้จากหลายช่องทางซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดได้

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดย บมจ.ยู ซิตี้ (U) คาดว่าในปี 2563 จะเป็นปีที่ท้าทายทั้งในสภาพเศรษฐกิจโดยรวมและผลการดำเนินงานของบริษัท โดยเฉพาะในส่วนของรายได้และความสามารถในการทำกำไร จะได้รับผลกระทบจากการปิดชั่วคราวของโรงแรมที่จะกินเวลาระยะหนึ่ง พร้อมกันนี้ บริษัทยังคงมองหาโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงเน้นกลยุทธ์การผนึกพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจที่เหมาะสม

นั่นทำให้ภาพรวม หลายฝ่ายเชื่อว่า แม้ช่วงต้นไตรมาส 2/63 บริษัทจะได้รับผลกระทบจากมาตรการของภาครัฐ แต่ผู้บริหาร BTS มั่นใจว่าจะได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้โดยสารลดลงในกรอบจำกัด อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก การต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสาย สีเขียว ,การเซ็นสัญญาโครงการมอเตอร์เวย์ 2 สาย และความคืบหน้าโครงการสนามบิน อู่ตะเภา ขณะที่ธุรกิจสื่อโฆษณาคาดว่ารายได้จะลดลง 43% มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีบันทึกบัญชีของ MACO นำไปสู่คาดการณ์กำไรปกติของ BTS ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 24% ตั้งแต่ปี 2562 – 2567 ซึ่งเร่งตัวขึ้นจากในอดีตที่โตเฉลี่ย 11% ต่อปี

BEM ส่วนต่อขยายหนุนปริมาณผู้ใช้เพิ่ม

สำหรับ BEM ก่อนหน้านี้ ถูกคาดการณ์ว่าในปี 2563 บริษัทจะได้รับอานิสงส์จากงบประมาณภาครัฐ ในส่วนของกระทรวงคมนาคม 1.78 แสนล้านบาท หลังจากมีการเจรจาหาข้อยุติข้อพิพาท แลกกับการต่อสัญญาทางด่วนระหว่างภาครัฐ ซึ่งกระทรวงคมนาคมเสนอทางออกที่อายุสัญญาให้กับ BEM ออกไป 15 ปี 8 เดือน โดยคาดว่าในปีนี้ผลดำเนินงานของบริษัทมีลุ้นเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 15% จากปีก่อน จากการเปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบทุกสถานี ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ทุกอย่างต้องสะดุดลงเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดย BEM ดำเนินธุรกิจให้บริการระบบคมนาคมขนส่งครบวงจร ประกอบด้วยการให้บริการทางพิเศษ และระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ ที่เกี่ยวเนื่อง ปัจจุบัน รับรู้รายได้จากธุรกิจทางพิเศษ 65% ธุรกิจระบบรางสัดส่วนรายได้ 30% และธุรกิจจัดทำสื่อและให้เช่าพื้นที่ร้านค้าในสถานีรถไฟฟ้า 5% แต่ในอนาคตบริษัทวางเป้าหมายมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 10-15% นอกจากนี้การเติบโตของรายได้จากธุรกิจระบบราง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากรายได้ที่รับรู้มากขึ้นตามปริมาณผู้โดยสารที่สูงขึ้น ทั้งสายสีน้ำเงิน ,สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายสีม่วงที่บริษัทได้รับสัมปทาน

สำหรับ ผลดำเนินงานไตรมาสที่ 1/63 บริษัทมีกำไรสุทธิ 508 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 351 ล้านบาท หรือ 40.9% จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 โดยมีรายได้จากธุรกิจทางพิเศษ 2.3 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 10.9% จากการงดเดินทางโดยไม่จำเป็นและทำงานที่บ้าน (Work From Home) ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา รวมถึงมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมาเพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 ส่วนรายได้จากธุรกิจระบบรางอยู่ที่ 1.29 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.8% จากรายได้ค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในช่วงส่วนต่อขยาย สถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสอง

มีรายงานว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเริ่มลุมลาม แต่ในแง่ธุรกิจของBEM ถือว่ายังเดินหน้าไปได้ด้วยดี โดย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ BEM ได้ทำการยื่นถอนฟ้องคดีระหว่างกันครบทั้ง 17 คดีและขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลมีคำสั่งถอนคดี และจากคำสั่งห้ามทำกิจกรรมในสถานที่แออัด พร้อมออกคำสั่งห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. ของภาครัฐบาลซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ปริมาณจราจรบนทางพิเศษ (ทางด่วน) เฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ BEM ได้ยื่นหนังสือถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อแจ้งถึงผลกระทบ พร้อมขอให้ กทพ. พิจารณาแนวทางการชดเชย

มีการคาดการณ์ว่า เดือนเมษายนที่ผ่านมา BEM ได้รับผลกระทบหนักสุด ด้วยปริมาณรถใช้บริการทางด่วนเพียง 5-6 แสนเที่ยวต่อวัน ขณะที่รถไฟฟ้ามีผู้โดยสารไม่ถึงแสนคน อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคมพบว่าประชาชนมีการปรับตัว ประกอบกับมีการผ่อนปรนมาตรการ จึงทำให้การเดินทางเริ่มกลับมามากขึ้น โดยพบว่าการเดินทางส่วนของรถไฟจะกลับมาช้ากว่าทางพิเศษ เพราะยังมีมาตรการวันระยะห่าง แต่คาดว่าในไตรมาสที่ 3 การเดินทางจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ นั่นทำให้ผู้บริหาร BEM คาดว่า ไตรมาส 3น่าจะดีกว่าไตรมาสแรก และไตรมาสที่2/63 ส่วนไตรมาส 4 จะกลับมาเหมือนเดิม เมื่อเข้าสู่สถานการณ์ปกติ แต่ทั้งปีคาดว่าภาพรวมทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วน จะมีกำไรลดลงกว่าปีก่อน โดยเบื้องต้นประเมินว่ารายได้จะเติบโตลดลง 15% หรือประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนกำไรคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2 พันล้านบาทภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย

อย่างไรก็ตามใน ปี 2564 บริษัทเชื่อว่าการเดินทางของประชาชนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เบื้องต้นประเมินว่าผู้โดยสารจะกลับมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากึง 4.5 แสนเที่ยวคนต่อวัน ซึ่งขึ้นอยู่กับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้า และระบบเศรษฐกิจกลับมาขยายตัว รวมไปถึงการเดินทางเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปลายปี 2563 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะส่งต่อผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า MRT ประมาณ 1 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน

ขณะที่แผนลงทุนโดยรวม บริษัทยังมองโอกาสการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ที่คาดว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยพร้อมจะจับมือพันธมิตรกับ ช.การช่าง (CK) (ผู้ถือหุ้นใหญ่) เข้าไปร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งคาดว่าจะมีการประมูลในช่วงต้นไตรมาส 3 นอกจากนี้ ยังสนใจโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) รวมถึงแผนที่จะขยายโครงการระบบรถไฟฟ้าออกไปจังหวัดขนาดใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้สามารถสรุปได้ว่า ผลดำเนินงานในช่วงที่เหลืออยู่สำหรับปี 2563 ของทั้ง 2 บริษัทรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนนั้นจะอยู่ในทิศทางบวก ซึ่งจะเข้ามาช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลงในช่วง เมษายน – พฤษภาคมที่ผ่านมาซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือส่วนต่อขยายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณผู้ใช้บริการเติบโตในอัตราที่เร่งตัว รวมถึงโอกาสในการชนะประมูลโครงการใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติมในอนาคต ดังนั้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายและไม่กลับมารุนแรงอีกครั้ง BTS และ BEM จะเป็นอีก2บริษัทในตลาดหุ้นที่ผลดำเนินงานโดยรวมเติบโตหรือทรงตัวจากปีที่ผ่านมา










กำลังโหลดความคิดเห็น