“ศักดิ์สยาม”สั่งทุกรัฐวิสาหกิจ งดจ่ายโบนัสพนักงานเด็ดขาด หลังมีรสก.แห่งหนึ่งเตรียมจัดสรรงบการเงินจ่ายโบนัส ขู่หน่วยไหนขัดคำสั่ง รายงาน”นายกฯ”ให้พิจารณาเก้าอี้ผู้บริหาร ชี้ยังอยู่ในวิกฤติ”โควิด-19” รัฐต้องการเงินไปช่วยประชาชน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้เสนอรายงานงบการเงิน โดยระบุถึงการจ่ายโบนัสประจำปีด้วย ซึ่งได้ให้กลับไปทบทวนแล้ว เพราะขณะนี้เป็นภาวะที่ทุกคนเดือดร้อน การที่หน่วยงานกำหนดที่จะจ่ายโบนัสพนักงาน จึงไม่น่าเป็นหลักการที่ดี
โดยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โควิด -19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบภาคการบริการคมนาคมขนส่งสาธารณะ ทั้งการเดินทางทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ อีกทั้งจะต้องดำเนินมาตรการ เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด ในขณะที่ยังคงอัตราค่าโดยสารไว้ ซึ่งภาครัฐทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม ซึ่งสายการบิน ขอให้ช่วยเหลือค่าบริการขึ้น-ลง อากาศยาน (Landing Fee) ค่าจอดอากาศยาน ( Parking fee) ซึ่งในการพิจารณาจะต้องดูขีดความสามารถของหน่วยงานด้วยว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ในระดับไหน หากพออยู่ได้ ต้องช่วยกันทุกฝ่าย ไม่ใช่ จะเก็บเท่าเดิมแล้วเราอยู่ได้ แต่คนอื่นอยู่ไม่ได้ สุดท้ายทั้งหมดก็จะอยู่ไม่ได้ เหมือนกัน
ส่วนมาตรการ เว้นระยะห่าง ที่มีผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการ และอาจทำให้ค่าโดยสารที่จัดเก็บไม่คุ้มกันต้นทุน เรื่องนี้ต้องดูต้นทุนแท้จริงๆว่ามีเท่าไร และควรมีรายได้เท่าไรถึงจะพอประกอบการไปได้ ไม่ใช่ที่ผ่านมาเคยมีกำไร 30% วันนี้จะต้องมีกำไรเท่าเดิม แบบนี้คงเป็นไปไม่ได้ เรื่องต้นทุน อาจต้อง ตอนนี้มาดูว่ารัฐจะพอช่วยอะไรได้บ้าง เช่น ลดต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าธรรมเนียม หรือช่วยเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ดูว่าอะไรที่รัฐพอช่วยเหลือได้บ้าง
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า นายศักดิ์สยาม ได้พูดถึงเรื่องโบนัสของรัฐวิสาหกิจในการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกระทรวงคมนาคม โดยสั่งห้ามเสนอเรื่องจ่ายโบนัสเด็ดขาด หากหน่วยงานใดเสนอมานั้นจะรายงาน ต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาตำแหน่งผู้บริหารหน่วยงานนั้น เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อแก้ปัญหา โควิด-19 หากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ จะจ่ายโบนัส 7เดือน 8 เดือน ก็ได้ ดังนั้นขอความร่วมมือและให้ชี้แจงพนักงานให้เข้าใจสถานการณ์ นอกจากนี้การที่รัฐบาลต้องกู้เงิน แต่รัฐวิสาหกิจมีกำไรจ่ายโบนัส ต้องถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์แน่นอน
ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีทั้งสิ้น 12 หน่วยโดยล่าสุดเหลือ 11 หน่วยเนื่องจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พ้นจากสภาพรัฐวิสาหกิจหลังกระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้น โดยรัฐวิสาหกิจที่มีการจ่ายโบนัสสูงสุด คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. โดยปี 2562 จ่ายโบนัส 7.25 เท่าของเงินเดือน จากผลดำเนินงานที่มีกำไรสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 2563คาดว่าผลประกอบการและกำไรจะลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่สายการบินหยุดทำการบิน โดยช่วง 6 เดือนแรก/63 มีกำไรสุทธิ 1 หมื่นล้านบาทเศษ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.68% แต่คาดว่า ครึ่งปีหลัง มีโอกาสฟื้น และยังมีศักยภาพในการจ่ายโบนัสได้ ล่าสุด รายงานข่าวแจ้งว่า ทอท.จะงดจ่ายโบนัสในปี 63
นอกจากนี้ยังมีรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่ง ที่มีผลประกอบการดี และสามารถจัดส่งรายได้เข้าคลัง เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ซึ่งที่ผ่านมา มีโบนัสในระดับ 4-5 เท่า บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) มีโบนัสเฉลี่ย 4 เท่า หรือ รัฐวิสาหกิจที่มีงบการเงินในระดับดี มีคะแนนการประเมินจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จนสามารถจ่ายโบนัสได้ราว 0.5 เท่า เพื่อเป็นขวัญกำลังใจพนักงาน เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นต้น หากเป็นไปตามนโยบายนี้ ในปี 2563 ทุกรัฐวิสาหกิจ จะต้องงดจ่ายโบนัส และส่งรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น