xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลัง กสทช.ใจถึง “ไม่จ่ายโบนัส” พนักงานกว่า 1,000 คน จัด 200 ล้าน ส่งคืนรัฐสมทบสู้ภัยโควิด-19 ** ห้องประชุมถก พ.ร.ก.กู้เงินกร่อย!! แต่ที่เข้มข้น ดุเดือดคือห้องประชุม กมธ.ป.ป.ช.เมื่อ “จุรินทร์” เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องหน้ากากอนามัยหายไปไหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

** เบื้องหลัง กสทช. ใจถึง “ไม่จ่ายโบนัส” พนักงานกว่า 1,000 คน จัด 200 ล้าน ส่งคืนรัฐสมทบสู้ภัยโควิด-19

วิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อสังคมในทุกมิติ ขณะที่การเยียวยาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศเป็นภาระเร่งด่วนของรัฐบาล โดยสภาผู้แทนราษฎร กำลังอยู่ระหว่างการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน ที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหานี้กันอยู่

ฟังว่า เมื่อวานนี้ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ กสทช.ซึ่งมีมติ “ไม่จ่ายโบนัส” ประจำปี 2563 ให้แก่พนักงาน กสทช.รวมกว่า 1,000 คน คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 200 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ถ้ายังจำกันได้เพื่อสู้ภัยโควิด-19 “กสทช.” ก็เป็นหน่วยงานแรกๆ เช่นกัน ที่ตัดงบประมาณในส่วนที่ไม่มีความจำเป็นมาไว้ตรงกลาง ตั้งเป็นกองทุนรวมกว่า 1,200 ล้านบาท เพื่อให้โรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์ ที่ได้ยื่นเรื่องเข้ามาขอรับความช่วยเหลือ

เห็นว่า ล่าสุด “กสทช.” ยังได้อนุมัติเงิน 181.38 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐเพิ่มเติมอีก 46 แห่ง ช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด-19 และยังเหลือการพิจารณาโรงพยาบาลที่ค้างอยู่ประมาณ 1,000 กว่าแห่ง ซึ่ง กสทช. ยังเปิดรับการขอความช่วยเหลือไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 63

ฐากร ตัณฑสิทธิ์
กลับมาที่เงินที่ควรเป็นโบนัสพนักงาน กสทช. 200 ล้านบาทก้อนนี้ จะนำเงินส่งคืนรัฐทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในสถานการณ์สู้ภัยโควิด-19 นี้

แว่วว่า เบื้องหลังก่อนที่จะขอมติบอร์ด “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เป็นผู้ผลักดันนำเสนอเรื่องนี้ได้ส่งสารถึงพนักงานขอความร่วมมือร่วมใจ “ไม่รับโบนัส” แม้จะทราบดีว่า พนักงานก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เช่นเดียวกับคนในสังคม และแม้บางส่วนจะไม่เห็นด้วย โดยอาจจะรู้สึกเจ็บปวดที่ไม่ได้รับโบนัสจากการทำงานเหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งปี แต่เมื่อมองเห็นร่วมกันว่า ประชาชน หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ทั้งตกงาน ปิดกิจการ ไม่สามารถมีรายได้มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องนั้น มีอยู่จำนวนมาก

ขณะที่สังคมลำบาก “พนักงาน กสทช.” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็คงไม่อาจจะรับโบนัสเหมือนเดิมได้แบบสบายใจ จึงขอร้องกันเพื่อให้ กสทช.เป็นองค์กรตัวอย่าง

เมื่อเห็นพ้องต้องกัน จึงเป็นที่มาที่ไปของมติบอร์ดที่จะไม่จ่ายโบนัสให้พนักงานดังกล่าว ถือว่า กสทช. เป็นองค์กรแรกๆ ที่ประกาศความชัดเจนนี้ออกมา

นำร่องแบบนี้แล้ว ก็ต้องดูว่าจะมีองค์กรอื่นๆ ที่มีกำไรเยอะ โบนัสกันคนละหลายๆ เดือน จะเห็นตัวอย่าง ใจถึงพึ่งได้ตาม กสทช.หรือไม่

งานนี้ก็ต้องขอชื่นชมพนักงาน กสทช.กันมาตรงนี้เลย.

** ห้องประชุมถก พ.ร.ก.กู้เงิน กร่อย!! แต่ที่เข้มข้น ดุเดือดคือห้องประชุม กมธ.ป.ป.ช. เมื่อ “จุรินทร์” เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องหน้ากากอนามัยหายไปไหน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
การประชุมสภาเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วันแรกก็ผ่านไปแล้ว โดย “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องออก พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยยังคงยึดมั่นในกรอบวินัยการเงิน การคลัง พร้อมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้นี้เป็นไปอย่างคุ้มค่า... ก่อนตบท้ายด้วยการให้คำมั่นว่า รัฐบาลสามารถบริหารจัดการในการชำระหนี้ที่กู้มานี้ได้อย่างแน่นอน

ขณะที่การอภิปรายของฝ่ายค้าน ส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านเรื่องการกู้เงิน แต่เป็นห่วงเรื่องการใช้เงิน เพราะรัฐบาลยังไม่มีรายละเอียดว่าจะใช้เงินจำนวนนี้ไปทำอะไรบ้าง จึงกังวลว่าเงินจะไปไม่ถึงผู้เดือดร้อนจริงๆ ซึ่งเป็นรายเล็กรายน้อย แต่เกรงว่า “ทุนใหญ่” จะได้ประโยชน์มากกว่า รวมทั้งเรื่องเงินกู้จำนวนนี้จะตกเป็นภาระให้ลูกหลานต้องมาใช้หนี้กันหัวโต

ประเด็นหลักที่ฝ่ายค้านยกมาถล่มรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความล่าช้า ความผิดพลาด ในการบริหารจัดการควบคุมโรค และการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจให้ทรุดหนักลงไปอีก และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคคลี่คลายลงแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังคงยืดเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก เพื่อผลในด้าน “ความมั่นคงทางการเมือง” มากกว่า “ความมั่นคงทางสาธารณสุข”

กลายเป็นว่า การอภิปรายครั้งนี้ เป้าที่ฝ่ายค้านรุมถล่มคือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” แทนที่จะเป็น “พ.ร.ก.กู้เงิน” !!

เพราะฝ่ายค้านไม่ได้มีข้อมูลใหม่ ที่จะชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการกู้เงิน การใช้จ่ายเงินครั้งนี้ แต่จะเน้นไปที่การ “สร้างวาทกรรม” ในเชิงเสียดสีเสียเป็นส่วนใหญ่ บรรยากาศใน “ห้องประชุมใหญ่” จึงค่อนข้างกร่อย !!

ต่างจาก “ห้องประชุมเล็ก” คือ ห้องกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) ที่มีวาระการพิจารณาที่สำคัญ คือ การตรวจสอบบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกักตุน และลักลอบนำหน้ากากอนามัยส่งขายต่างประเทศ โดยฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งกรมการค้าภายใน ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมกันทุจริตและประพฤติมิชอบ ทำให้ประเทศเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน

โดยผู้ที่ได้รับเชิญให้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง คือ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รมว.พาณิชย์

แม้การชี้แจงครั้งนี้จะไม่เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมรับฟัง แต่ก็มีรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด เข้มข้น ทั้งผู้ซักถาม และผู้ที่เข้าชี้แจง !!

การที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ต้องเข้าชี้แจงต่อ กมธ.ป.ป.ช. ก็สืบเนื่องมาจาก “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ซึ่งเป็นที่ปรึกษาประธาน กมธ.ป.ป.ช. ได้นำปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน เสนอให้ กมธ.พิจารณา ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากมีกระแสข่าวการกักตุนหน้ากากอนามัยถึง 200 ล้านชิ้น แต่อธิบดีกรมการค้าภายใน ออกมาปฏิเสธว่า เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากโรงงานทั่วประเทศมีเพียง 11 แห่ง และผลิตได้เพียง 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน ใน 1 เดือน สามารถผลิตได้เพียง 36 ล้านชิ้นเท่านั้น แล้วจะเอาหน้ากากอนามัยที่ไหนมากักตุนถึง 200 ล้านชิ้น

สมชัย ศรีสุทธิยากร  - พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส
แต่สืบค้นย้อนหลังไป 1 เดือน จนถึงช่วงที่มีข่าวว่า “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ลงพื้นที่ตรวจโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย และให้ข่าวว่ามีสต๊อกถึง 200 ล้านชิ้น และมีศักยภาพการผลิตถึง 100 ล้านชิ้นต่อเดือน จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า “หน้ากากอนามัยหายไปไหน” !!

และเมื่อย้อนไปดูประกาศของ “คณะกรรมการราคากลางว่าด้วยสินค้าและบริการ” ที่มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ก็พบว่า มีประกาศที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 2 ออกเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 63 มีสาระสำคัญว่า การส่งออกหน้ากากอนามัยสามารถส่งออกได้ไม่เกินครั้งละ 500 ชิ้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก เลขาธิการคณะกรรมการราคากลาง คือ อธิบดีกรมการค้าภายใน

หลังจากนั้น วันที่ 20 ก.พ. 63 ก็มีการออกประกาศ ฉบับที่ 8 โดยมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนไป คือ ไม่อนุญาตให้มีการส่งออก เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการราคากลาง ตามข้อเสนอของอนุกรรมการที่คณะกรรมการแต่งตั้ง ซึ่งไม่มีการกำหนดปริมาณไว้ชัดเจน

จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการขอส่งออกหน้ากากอนามัยจำนวนมาก เพราะไม่มีการจำกัดจำนวน ... “สมชัย” จึงเสนอให้ กมธ.ป.ป.ช. ขอข้อมูลการส่งออกหน้ากากอนามัยจากกรมการค้าภายใน ช่วงตั้งแต่ วันที่ 4-20 ก.พ. ว่า มีเอกชนรายใด ทำเรื่องส่งออกหน้ากากอนามัยเกินกว่า 500 ชิ้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าเอกชนรายดังกล่าวจะล่วงรู้ข้อมูลภายใน ถึงการตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

…เพราะราคาหน้ากากอนามัยภายในประเทศถูกจํากัดไว้ที่ ชิ้นละ 2.50 บาท แต่ในต่างประเทศราคาสูงกว่าเป็น 10 เท่า ...นับเป็นผลประโยชน์ ล่อตา ล่อใจอย่างยิ่ง

กมธ.ป.ป.ช. จึงต้องเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง โดยช่วงที่ผ่านมานั้น ได้เชิญหลายหน่วยงานเข้าให้ข้อมูล อาทิ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ เมื่อวานนี้ (27 พ.ค.) ก็ถึงคิวของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รมว.พาณิชย์

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายไปมากแล้ว แต่ปัญหา “หน้ากากอนามัยหายไปไหน” ยังไม่คลี่คลาย … ต้องจับตาดูฝีมือของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” ประธาน กมธ.ป.ป.ช. ว่าจะไปได้สุดแค่ไหน




กำลังโหลดความคิดเห็น