xs
xsm
sm
md
lg

ทย.ปรับแผนให้ ทอท.เช่าบริหารสนามบินภูธร “ถาวร” แนะหาคนกลางศึกษาข้อดี-ข้อเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” ตั้งคณะกรรมการพิจารณา ทอท.บริหารสนามบินภูมิภาค ปรับแผนให้เช่าช่วงบริหารแทนโอน-จ้าง หลังพบติดขัดข้อกฎหมาย “ถาวร” แนะหาคนกลางศึกษาข้อดี-ข้อเสีย คาดสรุปเสนอ “นายกฯ” ใน 1-2 เดือน ส่วน PPP ยังเป็นทางเลือกหากรัฐและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด


นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในการพิจารณากำหนดแนวทาง วิธีการ ในการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทย.ว่า หลังจากที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาโอนสนามบินของ ทย. 4 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร ให้ ทอท.บริหาร โดยพิจารณาให้ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ต่อมาวันที่ 21 ส.ค. 2562 คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. มีมติขอรับบริหาร 4 แห่ง คือ ตาก อุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ ซึ่งยังไม่มีการตกลงใดๆ


ทั้งนี้ ทย.ได้พิจารณาข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ ผลประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชน โดยมีการศึกษาเบื้องต้น 3 แนวทาง พบว่าแนวทางใหม่คือการให้ ทอท.เช่าบริหารสนามบินมีความเป็นไปได้เนื่องจากทรัพย์สินคือสนามบินยังคงเป็นของรัฐ และประหยัดงบประมาณภาครัฐ ส่วน ทอท.สามารถลงทุนพัฒนาสนามบินหารายได้เพิ่มได้

ส่วนแนวทางการโอนสนามบินของ ทย. ให้ ทอท.และแนวทางการจ้าง ทอท.บริหารนั้น พบว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ไม่สามารถโอนทรัพย์สินที่รัฐลงทุนไปให้ หรือรับจ้างบริหารทรัพย์สินของรัฐได้


ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ได้ประชุมร่วมกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงาน มีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และมีผู้แทนจากสภาพัฒน์ กฤษฎีกา สำนักงบประมาณ กรมธนารักษ์ ทย. และ ทอท.ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมดังกล่าว และให้มีองค์กรที่เป็นกลาง เช่น สถาบันการศึกษา หรือทีดีอาร์ไอ เข้ามาศึกษาถึงผลกระทบผลได้ผลเสีย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน รอบคอบ คาดว่าจะสรุปเสนอนายกฯ ภายใน 1-2 เดือน

ประเด็นที่ฝากคณะกรรมการฯ คือ ต้องยึดหลักกฎหมาย โปร่งใส เปิดกว้าง เป็นธรรม ประชาชนและรัฐได้ประโยชน์ มีการพัฒนาสนามบินให้ทันสมัย และต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 3,4.10.12 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 4,8,56 กฎกระทรวงกรณีจัดซื้อจัดจ้างพัสดุด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2561 ข้อ 2(4) (ก), พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 4,8 และ 23, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประมวลกฎหมายอาญา 157 รวมถึงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ ฟ 5/2548 ระหว่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และพวก ผู้ฟ้อง กับนายกรัฐมนตรีและพวกเป็นผู้ถูกฟ้อง


“ข้อมูลทุกเรื่องต้องนำมาศึกษาประกอบกันอย่างรอบคอบ ระเบียบ กฎหมาย องค์กรกลางต้องเข้ามาช่วยศึกษา สนามบินต้องพัฒนาดีขึ้น รวมถึงหาก ทอท.บริหารจะมีความคล่องตัวอย่างไร ต้องนำข้อมูลมาดูหมด การทำงานที่ดี ต้องถูกต้อง และรวดเร็ว”

ขณะนี้มี 3 แนวทาง คณะกรรมการฯ ศึกษาพิจารณาแล้วอาจจะมีวิธีที่ 4 คือ PPP ก็ได้ หากพบว่า PPP เป็นการเปิดกว้าง แข่งขัน และรัฐและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดมากกว่าการให้เช่า เช่นกรณี PPP สนามบินอู่ตะเภา เอกชนให้ประโยชน์แก่รัฐกว่า 3 หมื่นล้านบาท ตรงนี้อยู่ที่นโยบาย ขณะที่การให้ ทอท.อาจจะเป็นแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งต้องดูว่ามีระเบียบยกเว้นทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย เพราะถือว่าสนามบิน ทย.เป็นทรัพย์สินของรัฐ มูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท

ด้านนายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า รูปแบบการจ้างบริหารทรัพย์สินของรัฐ สัญญาระยะสั้นการลงทุนจะไม่คุ้มค่า ขณะที่ ทย.ยังต้องลงทุนพัฒนาสนามบินต่อไป ซึ่งแบบนี้ ทย.บริหารเองดีกว่า แต่ไม่ตรงนโยบายที่ต้องการลดภาระงบประมาณในการลงทุนพัฒนาสนามบิน จึงเกิดแนวคิดในการให้เช่าบริหารคล้ายกับการเช่าช่วง เมื่อหมดสัญญาเช่าทรัพย์สินจะกลับมาเป็นของ ทย.เหมือนเดิม

เบื้องต้นสัญญาเช่าควรระยะยาว เพราะ ทอท.จะต้องลงทุน ขยายเพิ่มความสะดวกในการบริการ รวมถึงลงทุนพัฒนาพื้นที่ต่อยอดเพื่อหารายได้เพิ่ม เช่น โรงแรม หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับผู้โดยสาร ซึ่งทอท.ทำได้คล่องตัวกว่า ทย.ที่เป็นราชการ ขณะที่จะต้องกำหนดเงื่อนไขสัญญาเช่าบริหาร กำหนดตัวชี้วัดต่างๆ จากจำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบิน ระยะเวลาสัญญาที่เหมาะสม ผลตอบแทนรัฐที่เหมาะสม
สำหรับแนวทางการเปิดประมูล PPP เพื่อให้เกิดการแข่งขันนั้น นายทวีกล่าวว่าคงต้องศึกษาว่าต้องการให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาบริหารสนามบิน หรือต้องการเปิด PPP ซึ่งอาจจะมีเอกชนต่างชาติเข้ามา ซึ่งต้องพิจารณาว่าสนามบินภูมิภาคเป็นทรัพย์สินของรัฐ ขณะที่เส้นทางการบิน น่านฟ้า เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด หากต่างชาติได้สัมปทาน และจ่ายผลตอบแทนให้รัฐก้อนหนึ่ง คุ้มค่าหรือไม่ กระทบต่อการบริหารนโยบายหรือไม่


อย่างไรก็ตาม จะต้องรายงานนายกฯ ว่าข้อสั่งการที่ให้โอน 4 สนามบินให้ ทอท.นั้นมีข้อจำกัดทางกฎหมาย เพราะ ทอท.เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีเอกชนถือหุ้น 30% โดยจะมีการศึกษาแนวทางการเช่าบริหาร หรืออาจจะต้องดูแนวทางที่เป็นประโยชน์มากที่สุดต่อประเทศและประชาชน ส่วนจะเป็นสนามบินใดบ้างจะต้องรอผลการศึกษาก่อน ขณะนี้ถือว่ากรอบแนวคิดเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องการให้โอนสนามบินภูมิภาคให้ ทอท.

@ รอ “ศักดิ์สยาม” เคาะแบ่งค่า PSC จาก ทอท.เข้ากองทุน ทย.

ส่วนกรณีการแบ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) จาก ทอท.เข้ากองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยานนั้น นายทวีกล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบยืนยันแล้วว่าสามารถดำเนินการได้ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนด ซึ่งการแบ่งรายได้ PSC จากทอท.นั้นเป็นประเด็นที่ต้องการให้ ทอท.ช่วยอุดหนุนสนามบินภูมิภาคที่มีผู้โดยสารน้อยและมีผลประกอบการขาดทุน โดย ทย.เองไม่สามารถขึ้นค่า PSC ได้ ดังนั้น หากไม่แบ่งรายได้ค่า PSC จาก ทอท.ก็จะดำเนินการแนวทางอื่น คือ การให้ ทอท.บริหารสนามบินและแบ่งรายได้ให้ ทย. ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการลดภาระงบประมาณภาครัฐเหมือนกัน

สำหรับการแบ่งรายได้ ค่า PSC สนามบิน 6 แห่งของ ทอท. 10% เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน เป็นไปตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2562 มาตรา 60/42 ที่กำหนดว่าเพื่อประโยชน์ในการบริหารสนามบินที่ใช้เพื่อสาธารณะเป็นการทั่วไป รัฐมนตรีมีอำนาจให้เจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาตนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 เข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียน กรมท่าอากาศยาน ตามมาตรา 60/44 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาคของ ทย. ทั้ง 28 แห่ง




กำลังโหลดความคิดเห็น