xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คืนเงินชราภาพ” ก่อนวัยเกษียณ “ปชช.” ขอ “ลุงตู่” ให้ได้หรือเปล่า?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบาดในเมืองไทย ล่วงเวลานานกว่า 4 เดือน ลูกจ้างในระบบกลายเป็นคนตกงาน เบื้องต้นมีจำนวนกว่า 9 แสนคน ยื่นขอใช้สิทธิประกันสังคมจ่ายเงินทดแทน กรณีลูกจ้างว่างงานจากเหตุสุดวิสัย แต่เงินเยียวยายังค้างเติ่งจ่ายล่าช้าไม่ทันการณ์ ถึงขั้นเกิดข่าวลือว่ากองทุนประกันสังคมถังแตกมีเงินไม่พอจ่ายชดเชย เกิดคำถามว่าเงินกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่กว่า 2.2 ล้านล้านบาทหายไปไหน

อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม ได้ยืนยันเสถียรภาพความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม และคลายความกังวลของผู้ประกันตน ส่วนปัญหาความล่าช้าชี้แจ้งว่าเป็นเหตุสุดวิสัยติดขัดเรื่องเอกสาร ความล้าหลังของระบบงาน สรุปความได้ว่าเป็นปัญหาโครงสร้างของรัฐราชการ ที่เน้นการทำงานที่เอาหลักเกณฑ์เป็นที่ตั้ง ไม่ได้เอาปัญหาของประชาชนเป็นฐาน
สำหรับเงินกองทุนประกันสังคม ณ ปัจจุบันมีจำนวน 2,032,841 ล้านบาท ทาง สปส. ได้นำไปแบ่งลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคง สัดส่วน 82 % ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ฯลฯ และลงทุนในหลักทรัพย์ 18% ได้แก่ หุ้นสามัญ หน่วยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ ฯลฯ

ขณะที่การจ่ายเงินเยียวยาของสำนักงานประกันสังคม กรณีว่างงาน เป็นปัญหาล่าช้า เกิดการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชน “กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน” แสดงอารยะขัดขืนออกมาเรียกร้องให้รัฐ “คืนเงินประกันสังคม กรณีชราภาพ” ให้สิทธิผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถเบิกเงินสมทบชราภาพ ออกมาก่อนกำหนดได้ในช่วงวิกฤตโควิด 19 เพื่อบรรเทาความทุกข์ของผู้ประกันตน“ลุงตู่ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลา

เรียกร้องขอไปยัง โหม ให้พิจารณาออก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ให้สิทธิผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ขอคืนเงินชราภาพได้ก่อนกำหนด โดยมี 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ให้คืนเงินสมทบชราภาพ 30 - 50% ในช่วงที่เดือดร้อน ณ ขณะนี้ 2. แก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคม เปิดทางให้สามารถเบิกเงินสมทบชราภาพออกมาได้ ก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และ 3. กรณีเงินสมทบชราภาพ ให้ผู้ประกันตนเลือกได้เองว่าจะรับบำเหน็จ หรือบำนาญ

กล่าวสำหรับกองทุนประกันสังคม เป็นสวัสดิการรัฐที่มอบให้แก่ลูกจ้าง โดยลูกจ้างและนายจ้างจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมาย โดยจะทำการหักเงินจากฐานเงินเดือน 5% สูงสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน โดยให้สิทธิกับลูกจ้างหรือที่เรียกว่าผู้ประกันตน 7 กรณี ประกอบด้วย 1. เจ็บป่วย 2. คลอดบุตร 3. ทุพพลภาพ 4. เสียชีวิต 5. สงเคราะห์บุตร 6. ว่างงาน และ 7. ชราภาพ

ในส่วนของกรณีชราภาพ เสมือนการเงินออมไว้ยามเกษียณอายุ ให้ความคุ้มครองเมื่อผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ โดย สปส. แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ “เงินบำเหน็จชราภาพ” และ “เงินบำนาญชราภาพ”

สำหรับ “เงินบำเหน็จชราภาพ” คือ จ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว แบ่งเป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน และผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน ได้บำเหน็จเท่ากับเงินที่จ่ายสมทบ บวกกับเงินที่นายจ้างสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน (ดอกเบี้ย) ตามที่ สปส. ประกาศกำหนด และกรณีผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพไปแล้วแต่รับไม่ถึง 60 เดือนแล้วเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย

โดยสูตรคำนวณเงินบำเหน็จชราภาพ หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 1 - 11 เดือน จะเท่ากับ เงินสมทบของผู้ประกันตนฝ่ายเดียว และถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 - 179 เดือนจะเท่ากับเงินสมทบของผู้ประกันตน+เงินสมทบของนายจ้าง+ผลประโยชน์ตอบแทน

และ “เงินบำนาญชราภาพ” จะจ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต หากผู้ประกันตน จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) ได้รับเงินบำนาญชราภาพในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่คำนวณเงินสมทบ (สูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท) และ จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน (15 ปีขึ้นไป) ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก ๆ 12 เดือนก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม การออกมาเรียกร้องให้รัฐ คืนเงินชราภาพแก่ผู้ประกันตนนั้น นสพ.บูรณ์ อารยพล ตัวแทนกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน เปิดเผยว่าต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมเห็นว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 นั้นมีความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกันตน โดยเฉพาะกรณีชราภาพ จะจ่ายคืนต่อเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หากต้องรอถึงกำหนดจ่ายตามกฎหมาย ความผันแปรของเศรษฐกิจในห้วงยามวิกฤต อัตราคนว่างงานสูงขึ้น ผู้ประกันตนเดือดร้อนแสนสาหัญอาจถึงขั้นอดตายกันเสียก่อน จึงออกมาผลักดันให้มีการปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม

นสพ.บูรณ์ ระบุว่า เงินสมทบกรณีชราภาพ ที่ทุกคนจ่ายสะสมไว้ในกองทุนประกันสังคม แต่ละคนจะมีเงินสะสมอยู่ราวๆ 1 - 2 แสนบาท จึงอยากให้นำเงินส่วนนี้คืนให้ผู้ประกันตน 30 - 50% หรือ 40,000 - 50,000 บาทขึ้นไป เพื่อนำมาใช้จ่ายในยามที่ไม่มีงานไม่มีเงิน

นอกจากนี้ ยังเกิดกรณีผู้ประกันตนต้องการเงินออมชราภาพในรูปแบบเงินก้อน หรือ เงินบำเหน็จ มากกว่าบำนาญที่รัฐจะจ่ายรายเดือน แต่ไม่สามารถเลือกได้เพราะข้อกำหนดทางกฎหมายที่ระบุไว้

เครือข่ายฯ วางโรดแมปเรียกร้องต่อประเด็นดังกล่าว โดยเข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานประกันสังคม จากนั้นได้เดินทางไปยื่นหนังที่กระทรวงแรงงาน โดยตัวแทนรัฐมนตรีกล่าวว่าหากขอคืนเพียงส่วนหนึ่งมีความเป็นไปได้ แต่ต้องมีการแก้กฎหมาย ซึ่งกำหนดให้รับเงินชราภาพเมื่ออายุ 55 ปี

ต่อมา มีการยกระดับเข้าร้องเรียนโดยตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเดินทางไปเปิดแล้วสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาเชื่อม เชื่อมต่อการเดินทางสัญจรระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดตัวและรับหนังสือร้องเรียนไว้แทน

การขับเคลื่อนประเด็น “คืนเงินชราภาพ” เรียกร้องให้รัฐแก้ปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เร่งด่วน โดยออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประตนในระบบประกันสังคมที่มีอยู่กว่า 16 ล้านคน ซึ่งจำนวนมากกำลังได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของกองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ เป็นหลักประกันให้กับผู้มีรายได้ที่ส่งเงินสมทบต่อเนื่องเป็น “เงินออมยามเกษียณ” ในส่วนของเงินชดเชยชราภาพ สปส. มีข้อกำหนดไว้ว่าสามารถใช้สิทธิเบิกเงินชดเชยได้ในกรณีที่ผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

หากผู้ประกันตนมีอายุเกณฑ์ไม่สามารถขอเบิกค่าชดเชยกรณีชราภาพได้ ยกเว้นกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนอายุ 55 ปีเท่านั้น ประกันสังคมถึงจะจ่ายเงินชดเชยให้กับทายาทผู้มีสิทธิรับผลประโยชน์ และหากมีการปรับแก้ให้สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายได้ก่อนที่จะมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ จะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมของกองทุนฯ

แต่ด้วยสถานการณ์ไม่ปกติ แรงงานในระบบประกันสังคมได้รับความเดือนร้อนแสนสาหัญ หากได้สิทธิคืนเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ก่อนกำหนด แม้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของจำนวนทั้งหมดที่สะสมมาตลอดชีวิตวัยทำงาน ย่อมบรรเทาความทุกข์ร้อนให้ข้ามผ่านวิกฤตโรคระบาดไปได้

คงต้องถามไปยัง “นายกฯ ลุงตู่” ถึงข้อเรียกร้อง “คืนเงินชราภาพ” จะตัดสินใจอย่างไร?


กำลังโหลดความคิดเห็น