างสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 4 โครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตกหล่นจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของกลุ่มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเราไม่ทิ้งกัน กลุ่มเปราะบาง และเกษตรกร
สำหรับ 4 โครงการนี้ ได้แก่ การช่วยเหลือเยียวประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากโครงการของภาครัฐ โดยมีจำนวน 1,164,222 คน เดือนละ 1,000 บาท 3 เดือน นับตั้งแต่พฤษภาคม-กรกฎาคม เท่ากับว่าเดือนมิถุนายนจะได้รับเงิน 2 เดือน หรือ 2,000 บาท โดยจ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ต้องมีการลงทะเบียนเพิ่มเติม รวมวงเงิน 3,492 ล้านบาท
การช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ไม่สำเร็จ จำนวน 302,160 คน ซึ่งตรวจสอบความซ้ำซ้อนแล้ว ยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย จากโครงการของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 906 ล้านบาท โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังไปพิจารณากำหนดกลุ่มเป้าหมายและกลไกการความช่วยเหลือให้ชัดเจน และส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ พิจารณาภายใน 1 เดือน
การช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบาง ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับระบบสวัสดิการของภาครัฐ และไม่เคยได้รับการเยียวยาจากมาตรการอื่นๆ ของรัฐ รวมทั้งสิ้น 6,781,881 คน ประกอบด้วย เด็กจากครัวเรือนยากจน ตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ปี จำนวน 1,394,756 คน ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 4,056,596 คน ผู้พิการ จำนวน 1,330,529 คน โดยจ่ายเงินเยียวยารายละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงเด็กแรกเกิด เพิ่มเติมจากเบี้ยความพิการ และเพิ่มเติมจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท เท่ากับว่าเดือนมิถุนายน จะต้องได้รับเงิน 2 เดือน หรือ 2,000 บาท
การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเกษตรกร รวมถึงเกษตรกรที่ด้อยโอกาสและยังไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร จำนวน 137,093 คน เน้นย้ำว่าต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการของกรมบัญชีกลาง และระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งมาตรการอื่นใดของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างเท่าเทียม โดยจะอยู่ภายใต้กรอบวงเงินและจำนวนเกษตรกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 10 ล้านคน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการขยายเวลาการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรได้อย่างสมบูรณ์ ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จำนวน 120,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในรอบการผลิตที่ผ่านมาแล้ว โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการลงทะเบียนเกษตรกรให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในการจะอนุมัติงบประมาณต่อไป