ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ตั้งกระทู้ ชี้ กองทุนประกันสังคมติดลบ รัฐค้างหนี้ 8 หมื่น ล.จ่ายเงินคนตกงานช้า ปัญหาที่ระบบไม่ใช่ รมต. หวังนายกฯให้ “หม่อมเต่า” นั่งแรงงานต่อ แนะทบทวนสิทธิ์ประกันตนต่างด้าว และให้ความเป็นธรรมคนไทย
วันนี้ (24 มิ.ย.) นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถาม เรื่องปัญหากองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพติดลบ ต่อ รมว.กระทรวงแรงงาน ว่า จากที่มีข่าวว่าในระยะข้างหน้าระบบประกันสังคมจะไม่มีเงินเหลือ เพราะการจ่ายเงินได้มีการเริ่มต้นแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตนที่ชราภาพ คือ เป็นการกล่าวครบ 15 ปี และมีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญจากประกันสังคมไปอีกเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังคนไทยมีอายุยืนมากขึ้น มีผู้ประกันตนรวม 16 ล้านคน ขณะเดียวกัน ก็มีคนต่างด้าวเป็นผู้ประกันตน มีจำนวนหลักล้านคน ที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบให้คนกลุ่มนี้อีกด้วย
ดังนั้น จึงขอถามว่า จะเกิดปัญหาดังกล่าวจริงหรือไม่ รวมทั้งปีนี้ที่มีการจ่ายเงินประกันสังคมที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 กล่าวคือให้ผู้ประกันตนจ่ายน้อยลง และรัฐให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าเยียวยา จึงอยากให้กระทรวงแรงงานให้ความมั่นใจว่าเงินที่จ่ายออกไปอยู่ในกรอบที่สามารถดูแลได้ และจะไม่ทำให้เงินหมดเร็วขึ้นหรือไม่อย่างไร
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า เรื่องของกองทุนประกันสังคมนั้น ประเทศไทยก็ไม่แตกต่างจากทั่วโลก ดังนั้นเพื่อให้มีการจ่ายเงินชราภาพได้ในอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนๆ สุดท้าย จะต้องมีการจัดเก็บเงินสมทบประมาณร้อยละ 30 แต่ตามกฎหมายแม่บทกำหนดให้กองทุนประกันสังคมเก็บเงินสมทบได้ร้อยละ 28.75 แต่ปัจจุบัน มีกฎกระทรวงให้จัดเก็บสมทบเพียงร้อยละ 12.75 ย่อมเป็นเหตุให้เงินไม่เพียงพอในอนาคต ขณะที่ตั้งแต่บัดนี้จะมีการจ่ายเงินออกจากกองทุนตามอัตราการเกิด-ตายของคนไทย โดยในปี 2563 มีประชากร 66.1 ล้านคน และจะมี 42 ล้านคนในปี พ.ศ. 2643 ดังนั้น การจ่ายเงินกองทุนชราภาพจะติดลบกระแสเงินรับ-จ่ายในปี 2586 ซึ่งจะเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขโดยรัฐบาลจะต้องกำหนดอัตราเงินสมทบให้เพียงพอกับการจ่ายสิทธิประโยชน์ต่อไป
นายพิสิฐ ถามต่อว่า ปัญหาดังกล่าวจะต้องเริ่มแก้ตั้งแต่บัดนี้ โดยระบบประกันสังคมได้มีการออกแบบมาตั้งแต่ 2530 เป็นเวลา 30 ปีแล้ว ปัจจุบันนี้สมมติฐานต่างๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว อาทิ อัตราดอกเบี้ย อายุประชากร เงินสมทบจากรัฐบาล รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงในวิถีสังคม ประกอบอาชีพอิสระ แม้จะมีการออกมาตรา 40 เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้เข้ามาอยู่ในระบบ แต่ก็เป็นการจ่ายเงินบำเหน็จ ไม่ใช่เงินบำนาญ ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมา อย่างช่วงวิกฤตโควิด ทำให้กลุ่มคนที่ไม่อยู่ในระบบ ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้รัฐต้องหาทางเยียวยาด้วยการไปจัดระบบ Big Data ขณะที่ระบบไอทีของประกันสังคมในการเยียวยาคนในระบบก็ล้าสมัย ต้องคีย์ข้อมูลด้วยมือ จึงกลายเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ประกันตนจึงได้รับเงินล่าช้า
ระบบประกันสังคมที่เราอิมพอร์ตมาจากสวีเดนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เป็นระบบที่เงินต่างๆ ถูกเก็บมาแล้วก็มากองไว้ โดยรัฐรับประกันกับผู้ประกันตนว่า ถ้าหากว่าเขาจ่ายเงินครบ 15 ปี ก็จะได้เงินออกไป โดยที่เจ้าตัวจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเงินนั้น ว่าจะขาดทุนหรือกำไรมากน้อยแค่ไหน เขาจะได้สิทธิ์ตามที่ประกาศ ซึ่งจะต่างจากกรณีของ กบข. หรือระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่เจ้าของเงินจะคอยติดตามตลอดว่าเงินที่บริหารโดย กบข. จัดการบริหารดีแค่ไหน มีการ Check & Balance เป็นอย่างดี แต่ระบบที่ออกแบบมาในประกันสังคมยังเป็นระบบราชการ แม้ว่าหลายปีก่อนได้ขอให้ ธปท. มาช่วยจัดระบบ Asset Allocation ของเงินประกันสังคม แต่ผ่านไป 3 ปีข้อเสนอของ ธปท. ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล
“ความจริงท่าน รมต. เป็นผู้มีความรู้ด้านการเงินดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศ เพราะเคยเป็นปลัดกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการแบงก์ชาติ ท่านเคยเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตั้ง กบข. ตอนที่มาเป็น รมต.แรงงาน ก็หวังว่า จะมาปฏิรูประบบประกันสังคมให้ทันสมัย จึงหวังว่านายกฯ จะให้ได้ทำงานนี้ต่อ เพราะเป็นงานใหญ่ของประเทศ”
นายพิสิฐ กล่าวว่า ตนต้องการให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคม และให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัว มีความเป็นอิสระ ไม่ยึดติดกับระบบราชการ ซึ่งขอให้ดูจากโมเดล กบข. เพื่อไม่ให้สูญเสียบุคลากรที่ดีไป และให้เงินกองทุนนี้มีผลประโยชน์ตกทอดมา ทุกวันนี้ระบบของการบริหารกองทุนมีหลักอยู่ว่า เงินจ่ายเข้า อาจจะไม่ต้องมาก แต่ถ้ามีมือดีๆ บริหารจัดการเงินให้มีความปลอดภัย มีผลตอบแทนสูง ก็จะทำให้กองทุนมีความมั่นคง และเป็นหลักประกันของอนาคตคนไทย ตนอยากให้ รมว.แรงงานทบทวนกรณีผู้ประกันตนเป็นคนต่างด้าวที่เป็นผู้มีรายได้ประจำได้รับสิทธิ์ในการเข้าระบบประกันสังคม แต่เมื่อผู้ประกันตนเดินทางกลับประเทศเมื่อพ้นการทำงานก็ยังได้สิทธิ์ติดตัวกลับประเทศ เพราะกองทุนฯ ต้องตามจ่ายเงินผู้ประกันตนดังกล่าวไปตลอดชีวิต แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนไทยที่ประกอบอาชีพอิสระ อย่างพ่อค้า แม่ค้า ซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมเพราะไม่มีรายได้ประจำ กลับไม่ได้รับสิทธิ์ที่รัฐสมทบเหมือนคนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้ปฏิรูประบบประกันสังคม