xs
xsm
sm
md
lg

รัฐประหาร 2475 ผลลัพธ์คืออมาตยาธิปไตย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ


88 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองกำลังถูกคนกลุ่มหนึ่งเอามาเป็นเงื่อนไขเพื่อท้าทายอำนาจรัฐของรัฐบาลปัจจุบัน น่าสนใจว่า แท้จริงแล้วเหตุการณ์เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้นคืออะไร

“ในปี ค.ศ. 1925 เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกน ของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริง ในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์ มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี ในปี ค.ศ. 1932 ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ”


ข้อความข้างบนนั้นมาจากการสัมภาษณ์ ปรีดี พนมยงค์ โดยนิตยสารเอเชียวีค เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2523 ถ้าจะนับเป็นการสารภาพถึงความผิดพลาดในบั้นปลายชีวิตของท่านก็จะว่าได้

จอมพล ป.พิบูลสงคราม เองก็ได้เขียนจดหมายถึงปรีดี ทำนองว่าในสมัยนั้นท่านมีความเข้าใจผิดเพราะว่ายังอ่อนวัยและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความไม่ไว้วางใจกันในหมู่คณะราษฎรมันเกิดขึ้นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จเร็วเกินไป

แต่ในทัศนะของผมไม่มองว่าการกระทำของคนหนุ่มสาวที่ร่วมกับทหารยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ในขณะนั้นเป็นเรื่องที่ถูกผิด เพราะความเห็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเสรีภาพและรสนิยมของบุคคลโดยแท้ เพียงแต่เมื่อเราย้อนกลับไปมองผลพวงจากการรัฐประหารครั้งนั้นแล้วกลับพบว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เราได้มาคือระบอบอมาตยาธิปไตยไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวนิช ปาฐกถาหัวข้อ “ย้อนทวนเรื่องประวัติศาสตร์ จาก ร.ศ.130 ถึง 24 มิถุนายน 2475” ในการสัมมนา “จาก 100 ปี ร.ศ. 130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ตอนหนึ่งว่า

“ถ้าเรามาดูว่า 2475 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า ที่เราพูดว่าประชาธิปไตยมีอายุ 80 ปีจริงหรือเปล่า มีอะไรบ้างที่บ่งบอกถึงความเป็นประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลผู้มีอำนาจ และผู้มีอำนาจก็ไม่ใช่ประชาชน ประชาชนถูกอ้างชื่อเท่านั้น ผู้ที่เข้ามามีบทบาทมากก็คือข้าราชการโดยเฉพาะกองทัพ สิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างมากคือการปรับปรุงกฎหมาย เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนยังไม่เกิดขึ้น อาจจะมีการเลือกตั้ง แต่ที่เรารู้ก็มีการเลือกตั้งครั้งเดียว และกระบวนการทางการเมืองก็ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมือง

สรุปว่าประชาชนก็เหมือนเดิม ในแง่ประชาชนแล้วอาจจะได้รับสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่แล้วก็จะละเว้นเสียไม่ได้ที่จะกล่าวถึงประโยชน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เห็นได้ชัดและมีหลักฐานคือรายจ่ายของรัฐ ที่แต่เดิมเคยมีน้อยมากในทางเศรษฐกิจ ในทางเกษตร โดยเฉพาะในทางศึกษานั้นเริ่มขยายตัวมากขึ้น มากกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งสมัยนั้นรายจ่ายกลาโหม มหาดไทย และพระมหากษัตริย์ รวมแล้ว 80% ของรายจ่ายทั้งหมด ในขณะที่รายจ่ายด้านการเกษตร การศึกษามีไม่ถึง 1% เพราะฉะนั้นนี่เป็นคุณูปการของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เราเห็น พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้มีอำนาจใหม่เป็นผู้ให้ ประชาชนก็เป็นผู้รับและสิ่งเหล่านี้มีต่อมาเป็นเวลานาน

ในแง่ของความคิดและอุดมการณ์ของบุคคลที่อยู่ในคณะราษฎร เราก็ไม่เห็นความพยายามที่จะผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองมากเท่าไหร่ ในพรรคการเมืองเองก็เราจะเห็นได้ว่า ผู้นำคณะราษฎรส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้นำพรรคการเมืองด้วย และอยู่นอกพรรคการเมือง พรรคการเมืองอาจจะสนับสนุนผู้นำบางคน เช่น สนับสนุนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม อย่างนี้เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้วพรรคการเมืองกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลก็เป็นคนๆ ละกลุ่ม ไม่มีความเชื่อมโยง หรือมีความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่เรื่องนี้เป็นไปกระทั่งหลังปี พ.ศ. 2500 จะเห็นว่าพรรคสหประชาไทยก็เป็นพรรคที่รวบรวมเอาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาสนับสนุนผู้นำทหารและข้าราชการ

บทสรุปก็คือว่า 2475 เป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้มีความก้าวหน้ามากขึ้น เปิดโอกาสให้ข้าราชการได้เข้ามามีอำนาจทางการเมือง เราจึงไม่อาจพูดได้ว่าประชาธิปไตยเขาเรานี้ 80 ปี ถึงแม้ว่าคณะราษฎรจะมีคุณูปการอย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรจะมองว่าคณะราษฎรไม่มีข้อบกพร่องหรือข้อเสียเลย เพียงเพราะว่าเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ไม่ใช่เชิดชูโดยอัตโนมัติว่าเป็นผู้นำประชาธิปไตยมาให้กับเมืองไทย แต่เป็นผู้เริ่มต้นในการที่จะป้องกันไม่ให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมาอีก การกระทำของคณะราษฎรภายหลัง พ.ศ. 2475 ก็ไม่ใช่การกระทำที่มุ่งสู่ประชาธิปไตย แต่การดำเนินงานทางการเมืองส่วนใหญ่มุ่งที่จะป้องกันไม่ให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมาอีก”

ศ.ดร.ชัยอนันต์ ยังเขียนบทความเรื่อง รัฐประหาร 2475 ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ว่า

“การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น แม้ว่าจะมีคนเรียกว่าเป็น “การปฏิวัติ” แต่ในเนื้อแท้แล้วก็เป็นการรัฐประหารที่เรียกว่า การปฏิวัติ ก็เพราะก่อให้เกิดการเปลี่ยนระบอบการปกครอง แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว ระบอบการปกครองเปลี่ยนไปแบบทางการเท่านั้น การเมืองยังคงเป็นการเมืองในหมู่ทหารและข้าราชการกลุ่มเล็กๆ และหลังจาก พ.ศ. 2475 ก็มีการแย่งชิงอำนาจระหว่างกัน เกิดการรัฐประหารตามมาอีกหลายครั้ง

ไม่ว่าจะนำหลักเกณฑ์อย่างไรมา การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็ไม่มีลักษณะเป็นการปฏิวัติ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องด้วย แม้ทหารที่ออกมาปฏิบัติการก็ถูกหลอกมา ความสำเร็จของการรัฐประหารอยู่ที่การจับตัวพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลเกิดความเกรงกลัวจึงไม่ทำการต่อสู้ ทั้งๆ ที่สามารถต่อสู้ได้

ไม่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้จะไม่มีประโยชน์เสียเลย ในแง่ประชาชนรัฐบาลเริ่มทุ่มเทเงินงบประมาณมาให้กับกิจการอื่นๆ นอกเหนือไปจากการป้องกันประเทศ และการรักษาความสงบภายในมากขึ้น เกษตรกรรมและการศึกษาที่เคยได้รับงบประมาณน้อยมาก ก็ได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น

สิ่งที่คณะราษฎรมุ่งเน้นเป็นพิเศษก็คือ การป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจเดิม หรือผู้ต่อต้านคณะราษฎรมีโอกาสที่จะบ่อนทำลายรัฐบาล การดำเนินการเพื่อการนี้ รวมไปถึงการกำหนดไม่ให้พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปเกี่ยวข้องกับการเมือง มีการออกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญโดยเนรเทศบุคคลที่วิจารณ์คณะราษฎรออกไปอยู่แม่ฮ่องสอน มีการตั้งศาลพิเศษ และมีการจับกุมฆ่าผู้ต่อต้านรัฐบาลจำนวนมาก

เมื่อมีผู้วิจารณ์คณะราษฎรด้วยเรื่องเหล่านี้ ก็มีข้อแก้ตัวว่าผู้ได้อำนาจใหม่จำเป็นจะต้องรักษาอำนาจ การที่คณะราษฎรมีอำนาจอยู่นาน ทำให้คณะราษฎรสามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้และทำการ “ฟอก” การรัฐประหารให้กลายเป็นการปฏิวัติ จนได้รับการยกย่องมาจนถึงปัจจุบันนี้

ผลงานของคณะราษฎรไม่ได้เป็นไปตามหลัก 6 ประการที่ประกาศไว้ เพราะเกิดความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้ข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ และในที่สุดนายปรีดี ก็ถูกขจัดออกจากวงการเมืองไทยไป

สำหรับบางคนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ยิ่งใหญ่เพราะเป็นการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ แต่ควรระลึกว่าในสมัยเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกนั้น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็อ่อนกำลังลงมากแล้ว เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้

ผลที่ตามมาก็คือ พวกเจ้าหมดอำนาจไป แต่พวกขุนนางเข้ามามีอำนาจแทนดังที่เรียกว่าเกิดระบอบอมาตยาธิปไตย หรือข้าราชการเป็นใหญ่ พรรคพวกของคณะราษฎรกลายเป็นอภิสิทธิชนกลุ่มใหม่ มีการนำที่ดินของพระคลังข้างที่ออกมาขายถูกๆ และเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างแพร่หลาย การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ต้องอาศัยกำลังทหาร ทำให้ทหารมีอำนาจในการเมืองไทยนับแต่นั้นมา

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็คือการรัฐประหารนั่นเอง ไม่มีอะไรที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติ เพราะโครงสร้างทางการเมืองไม่ได้ถูกทดแทนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน กลุ่มอำนาจทางการเมืองใหม่ก่อให้เกิดความแตกแยก และการไร้เสถียรภาพนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา”

และเป็นไปตามความเป็นจริง แม้คณะนักเรียนนอกของปรีดีจะเป็นคนหนุ่มสาวที่เป็นพลเรือน แต่ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มี 4 ทหารเสือซึ่งมีความไม่พอใจการเติบโตในเส้นทางอำนาจมาก่อนแล้ว คือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา, พันเอกพระยาทรงสุรเดช, พันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์, และพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ เป็นผู้ร่วมก่อการ ซึ่งมีหลักฐานว่า ทั้ง 4 คนทางฝ่ายทหารได้พูดคุยกันเรื่องนี้มาก่อนการลงมือประมาณ 2 - 3 ปี

ดังนั้นถ้า 4 ทหารเสือไม่ร่วมมือและมีผลประโยชน์ต้องกันแล้ว การเคลื่อนไหวของปรีดีกับพวกก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จเลย

ส่วนทหารชั้นผู้น้อยที่ออกมาร่วมนั้น เพราะถูกล่อลวงมาโดยการติดต่อไปหาผู้บังคับกองพันทหารราบ เพื่อขอให้นำกำลังทหารไปฝึกหัดทางทหารที่ลานพระรูปทรงม้าเช่นกันในเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เวลา 06.00 น. รวมทั้งการหลอกลวงทหารว่า มีการลุกฮือของชาวจีนเกิดขึ้นในพระนคร จากนั้นพระยาพหลพลพยุหเสนาปีนขึ้นไปบนยอดรถหุ้มเกราะคันหนึ่งและอ่านประกาศคณะราษฎร ท่ามกลางความงงงวยของทหารที่ตกกระไดพลอยโจนอยู่ ณ ที่นั้น

และเป็นทราบโดยทั่วไปว่าความจริงแล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงมีความคิดที่จะเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว

ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร เขียนไว้ในบทความเรื่องกระแสความคิดเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ 7 ว่า พระองค์ได้ทรงปรึกษากับพระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre) อาจารย์สอนกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่มาเยือนกรุงเทพฯ ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สยามจะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นประชาธิปไตยและควรมีรูปแบบเป็นประการใด พระยากัลยาณไมตรี ได้ถวายความเห็นว่า ประเทศสยามยังไม่ควรมีการปกครองในระบอบรัฐสภา และควรใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไปตามเดิมก่อน เพราะความสำเร็จและประสิทธิภาพของรัฐสภาเป็นผลมาจากการที่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นผู้มีความรู้ทางการเมืองดีพอ

แต่ความมุ่งมั่นที่จะพระราชทานระบอบประชาธิปไตยของในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็ยังคงอยู่ ทรงพระราชดำริเห็นว่า เมื่อประชาชนมีความรู้พอที่จะใช้การปกครองระบบรัฐสภาอย่างได้ผล ซึ่งก็คงจะต้องถึงเวลาอันควรเปลี่ยนระบอบการปกครองเช่นนั้นในวันหนึ่งอย่างแน่นอน พระองค์ทรงมีความคิดในขณะนั้นว่า ถ้าช้าเกินไปแล้วต้องยอมให้ก็ไม่เหมาะและอาจจะมีผลร้าย ถ้าแม้ยอมให้เร็วเกินไป ราษฎรยังไม่มีความรู้ก็อาจไม่เป็นงานและอาจเป็นผลให้เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง

เมื่อคราวเสด็จฯ ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตร เมื่อพ.ศ. 2474 หนังสือพิมพ์ในอเมริกาหลายฉบับได้ประโคมข่าวการสัมภาษณ์รัชกาลที่ 7 อย่างเอิกเกริก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่พระองค์ทรงยืนยันว่า พอเสด็จกลับถึงเมืองไทยครั้งนี้แล้ว ก็ทรงปฏิวัติการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยทันที

ปรีดี พนมยงค์ ยังเขียนเล่าถึงภาพที่ท่านได้เห็นในวันนั้นไว้อีก ดังมีความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าจำภาพประทับใจในวันเข้าเฝ้านั้นได้ว่าทรงตรัสด้วยน้ำพระเนตรคลอ เมื่อชี้พระหัตถ์ไปยังพระยาศรีวิศาลวาจา ที่ไปเฝ้าด้วยในวันนั้นว่า ศรีวิสาร ฉันส่งเรื่องไปให้แกพิจารณาแกก็บันทึกมาว่ายังไม่ถึงเวลา แล้วส่งบันทึกของสตีเวนส์ (ที่ปรึกษาการต่างประเทศ เป็นชาวอเมริกัน) มาด้วยว่าเห็นพ้องกับแก”


ทั้งนี้เพราะในหลวงรัชกาลที่ 7 เคยมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสฉลองครบรอบ 150 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมอบให้พระยาศรีวิสารวาจา และนายเรมอนด์ สตีเวนส์ ที่ปรึกษากิจการด้านต่างประเทศไปร่วมกันพิจารณา แต่บุคคลทั้งสองมีความเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา

ดังนั้นในแง่คณะราษฎรนั้นอาจจะมีคุณูปการในการทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้น แต่ถ้าช้าไปกว่านั้นเราก็จะได้รับการเปลี่ยนผ่านมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่ดี แล้วเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจแล้ว แท้จริงเราก็หาได้ระบอบประชาธิปไตยในทันที แต่เราได้มาคือ ระบอบอำมาตยาธิปไตยนั่นเอง จากนั้นประชาธิปไตยมันค่อยพลวัตรตัวเองไปตามสถานการณ์เท่านั้นเอง

คณะราษฎรก็รู้ว่าตัวเองชิงสุกก่อนห่ามเพราะหลัง 2475 เราได้รัฐบาลที่มาจากเจ้าขุนมูลนาย ได้ส.ส.ทางอ้อม และกว่าจะประชาชนจะได้รับการเลือกตั้งทางตรงก็เป็นการเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 หรือ 5 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว และกว่าจะอนุญาตให้มีพรรคการเมืองก็คือปี 2495 หลัง 2475 ถึง 20ปี

เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ที่คนรุ่นใหม่อย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ประกาศว่า จะสืบทอด 2475 ที่ยังทำไม่สำเร็จนั้นคืออะไร

ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan

กำลังโหลดความคิดเห็น