ควันหลง รำลึก 24 มิ.ย. 2475 ขยี้ได้อีก “บิ๊กข่าวกรอง” ยกพระยาทรงสุรเดช เขียนก่อนตาย คือ ความผิดใหญ่หลวง ที่นำคนหิวเงินหิวอำนาจเข้าร่วม “ทอน” โวใหญ่ นี่คือ การแสดงออกของเจ้าของประเทศร่วมกัน เชื่อสักวันชัยชนะจะเป็นของเรา
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (25 มิ.ย. 63) เฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ของ นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์หัวข้อ “อย่าผิดซ้ำรอย 2475”
โดยระบุว่า “เมื่อวานนี้ 24 มิถุนายน กลุ่มนักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่ง (น้อยนิด) ออกมาชุมนุมแสดงอุดมการณ์ 2475 บอกว่าจะสานต่อภารกิจ 2475
ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหน้าเดียว อ่านให้หมดทุกหน้า จะได้ไม่ถูกแกนนำผลักออกมาสู้แต่แกนนำหลบอยู่ข้างหลัง
อย่าให้เหมือนที่พระยาทรงสุรเดชเขียนก่อนตาย ว่า “ไม่มีความผิดครั้งใดในชีวิตของฉันจะใหญ่หลวง เท่ากับนำคนหิวเงินหิวอำนาจ เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475
คณะราษฎรไม่เคยให้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นอกจากการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์เป็นอำนาจของตนเอง และหวงอำนาจ รัฐธรรมนูญครึ่งใบ มีสมาชิกสภามาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง ยุบเลิกโรงเรียนและการศึกษา เพราะกำหนดว่า ต้องให้คนไทยจบชั้นประถมครึ่งประเทศ ถึงให้มีประชาธิปไตยเต็มใบ
ประเทศไทย..บหายเพราะนักการเมืองคอร์รัปชันโกงกิน พระมหากษัตริย์ส่งคนไทยไปเรียนต่างประเทศ ทรงเตรียมคนเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ถูกจับ ขังเกาะตารุเตา ฆ่าทิ้ง ไทยต้องเสียปัญญาชนดีๆ ไปมาก
เคยถามตัวเองมั้ยว่า ทำไมคนไทยถึงรักในหลวง ทำไมคนไทยจำนวนมากถึงออกมาปกป้องสถาบัน เพราะในหลวงรักประชาชน ทรงมีพระเมตตาโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่เคยแบ่งแยกคนไทย ตรงกันข้าม ทรงตรัสให้คนไทยรู้รักสามัคคี”
ขณะเดียวกัน วันนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ “88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง”
เนื้อหาระบุว่า “ผมเขียนบทความนี้ขึ้น หลังจากนั่งติดตามดูการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันครบรอบ 88 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 มาทั้งวัน
วันครบรอบ 24 มิถุนายนปีนี้ คึกคักมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา กิจกรรมถูกจัดขึ้นตั้งแต่ฟ้าสางจนถึงมืดค่ำ ทั่วทุกภูมิภาค ทั้งในสถานที่สาธารณะและในโลกออนไลน์
บ้างจัดเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของเหตุการณ์ ที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางชนชั้นของคนในสังคม จากเจ้า-ไพร่ เป็นพลเมืองที่เสมอภาคกัน
บ้างจัดเพื่อต่อต้านการทำให้ลืมของชนชั้นอภิสิทธิ์ชน
บ้างจัดเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการซึ่งเถลิงอำนาจอยู่ในปัจจุบัน
ทุกกิจกรรมตระหนักถึงความสำคัญของข้อตกลงในการรักษาเสรีภาพและสันติสุขในการอยู่ร่วมกันของสังคมสมัยใหม่
นั่นคือประชาชนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด และความคิดเห็นต่างในการพัฒนาบ้านเมืองควรตัดสินกันผ่านหีบเลือกตั้ง
การรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต รวมถึงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ หรือรูปปั้นรำลึกบุคคลต่างๆ แสดงออกถึงคุณค่าที่สังคมนั้นยึดถือในข่วงเวลานั้นๆ
เมื่อเวลาผ่านไป คุณค่าที่สังคมยึดถือเปลี่ยนไป ความสำคัญของการรำลึกถึงเหตุการณ์หรือของอนุสาวรีย์รูปปั้น ก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
วันนี้สังคมกลับมาให้ความสำคัญกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้ง ทั้งๆ ที่รัฐพยายามทำให้สังคมลืมวันนี้มาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นั่นย่อมบอกถึงปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดีว่า คุณค่าที่สังคมยึดถือกำลังเปลี่ยนไป
การข่มขู่คุกคามด้วยคำพูด, ท่าทาง หรือทางกฎหมาย ต่อผู้จัดงานรำลึก ที่เกิดขึ้นในวันนี้ แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าสังคมไม่ปกติ สิทธิเสรีภาพถูกลิดรอน และผู้มีอำนาจกำลังหวาดกลัวกับสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาไม่เข้าใจและคุมไม่ได้
ไม่มีใครฉุดรั้งอนาคตได้ตลอดกาล ไม่มีใครเอาชนะกระแสแห่งกาลเวลาตลอดไป
กิจกรรมต่างๆ ที่ผู้คนมากหน้าหลายหลากริเริ่มและจัดอย่างกล้าหาญ เป็นแรงบันดาลใจให้ผมก้าวต่อไปอย่างมีความหวัง
ความหวังที่ตั้งมั่นอยู่ การพาสังคมกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย ที่คนในสังคมอยู่ดีมีสุข และเสมอภาคกัน
ขอให้กำลังใจผู้จัดงาน และผู้มีส่วนร่วมทุกท่าน ร่วมก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง ปกป้องกันและกันในเวลาที่ยากลำบาก เพื่อส่งต่อสังคมที่ดีกว่านี้ให้กับคนรุ่นต่อไป
สักวันหนึ่งชัยชนะจะเป็นของเรา”
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ กรณี เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 63 นายจตุพร พรหมพันธุ์ หรือ “ตู่” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ PEACETALK วันครบรอบ 88 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475
ที่สำคัญ “ตู่-จตุพร” กล่าวตอนหนึ่งว่า การอภิวัฒน์ 24 มิถุนา 2475 เป็นบทเรียนของยุคสมัยหนึ่ง ย่อมมีทั้งความสำเร็จ และล้มเหลว ซึ่งเป็นปัจจัยจำเพาะของแต่ละยุคสมัยที่แตกต่างกัน พร้อมหวังในยุค 2563 จะเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อระดมความเห็นกำหนดก้าวย่างฝ่าทางตันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบวางกับดักของประเทศไว้
นายจตุพร กล่าวด้วยว่า มีช่วงหนึ่ง นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ซึ่งช่วงนำเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น คณะราษฎรส่วนมากมีอายุแค่ 32 ปี อยู่ในวัยหนุ่ม และเคยกล่าวถึงความผิดพลาดต่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่ล่าช้าในช่วง 14 ปีแรกว่า เกิดจากขบวนการขัดแย้งภายในขบวนการเมือง พรรคการเมืองในประเทศไทย
ความผิดพลาดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากคณะราษฎรขาดการศึกษาความขัดแย้งในขบวนการเมือง ขาดความระวังต่อการฟื้นซากทัศนคติเผด็จการทาสศักดินาขึ้นมาโต้การอภิวัฒน์ นอกจากนี้ ยังคิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธียึดอำนาจรัฐ ไม่คิดรักษาความชนะเอาไว้
ประกอบกับคณะราษฎรมีความรู้ทางการทหาร แม้หลายคนรู้ทางทฤษฎีสถาปนาประเทศ แต่ขาดความชำนาญในการปฏิบัติ ขาดการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีความคาดหวังสูงเกินไปกับอดีตข้าราชการที่มาร่วมบริหารประเทศ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในขบวนการปฏิวัติถึงกับปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญ 2475
“มุมมองของนายปรีดี เป็นการมองย้อนหลังอย่างเป็นระบบ ส่วนการจัดงานรำลึก 24 มิ.ย. 2475 จึงเป็นสิ่งปกติ ไม่น่ามีปัญหาอะไร ดังนั้น รัฐไม่ควรวิตกจนเกินเหตุ ขอให้มองเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งของประวัติศาสตร์หนึ่ง ซึ่งเมื่อช่วงเวลาเปลี่ยน ทัศนะเปลี่ยน และปัจจัยรายล้อมเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น ประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์หนึ่งจึงเป็นทัศนะจากบทเรียนหนึ่งเท่านั้น
ผมไม่เชื่อว่า แนวความคิด 2475 จะมาใช้กับปัจจุบันได้ เพราะในขณะนั้นยังทำไม่สำเร็จอะไรเลย ซึ่งมีเรื่องมากมาย ก็หนีความเป็นคน เป็นปุถุชนไปไม่พ้น เห็นอำนาจมีขัดแย้ง แต่เป็นห้วงเวลาหนึ่ง ที่ผ่านไปแล้ว”...
แน่นอน, ถ้าอธิบายชั้นเดียวก็จะเห็นได้ว่า การทำกิจกรรมรำลึก “24 มิ.ย.2475” ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นเพียงการแสดงออกให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับ วันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยวันหนึ่งเท่านั้น
แต่ความไม่ปกติธรรมดาของปีนี้ ไม่ใช่แค่ความคึกคักของกิจกรรมอันหลากหลาย อย่างที่ นายธนาธร ว่าเท่านั้น หากแต่ อยู่ที่การใช้สัญลักษณ์ “2475” เป็น “ธง” นำในการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งรู้กันดีว่า “24 มิ.ย. 2475” คือ วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ก่อนจะมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
ดังนั้น การใช้สัญลักษณ์ “24 มิ.ย. 2475” มาเป็น “ธงนำ” ในท่ามกลางกระแสการเมืองยุคใหม่ ถูกทำให้คู่ขัดแย้งสำคัญ ยังคงเป็น “สถาบัน” กับ กลุ่มที่ต้องการล้มล้าง ทั้งในและนอกประเทศ และดูเหมือนพยายามทำให้ “ลมหวน” พัดกระโชกแรงขึ้นทุกวันนั้น
ย่อมไม่ธรรมดาที่จะมองเพียงชั้นเดียว ในสายตาของคนที่ห่วงใย ว่า สถานการณ์จะบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นสักวัน เพราะประวัติศาสตร์มันให้ “บทเรียน” เอาไว้แล้วว่า การต่อสู้ที่ไม่ใช่ทางออกอย่างสันติ และคู่ขัดแย้งต่างมีพลังหนุนทั้งสองฝ่าย สุดท้ายคือ การเผชิญหน้า และ “นองเลือด” เราต้องการอย่างนั้นจริงๆ หรือ? ไม่มีทางเลือก ทางออกอื่นแล้วหรือ? คนไทยต้องช่วยกันขบคิดให้จงหนักก่อนที่จะปล่อยให้มันเป็นไป!?