นักลงทุนหุ้นกู้กำลังเดือดร้อนกันอย่างหนัก เนื่องจากหุ้นกู้หลายบริษัทมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ โดยไม่มีหน่วยงานใดให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหาย
การลงทุนในหุ้นกู้ ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ขณะที่ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยสูง ประชาชนจึงนิยมลงทุนในหุ้นกู้ แต่ปัจจุบัน หุ้นกู้กลายเป็นตราสารหนี้ที่อันตราย และผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนทั้งจำนวนได้
หลายปีที่ผ่านมา หุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ มีปัญหา ไม่สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด โดยผู้ถือหุ้นกู้ ต้องเคลื่อนไหวฟ้องร้องเรียกชำระหนี้กันเอง
แม้จะกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยลงทุนหุ้นกู้บริษัทต่างๆ แต่บางคนโชคร้าย หุ้นกู้ที่ลงทุนไว้ในแต่ละบริษัท มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้เหมือนๆ กัน ทำให้เงินลงทุนในหุ้นกู้นับร้อยล้านบาทไม่ได้รับชำระคืน
แม้แต่หุ้นกู้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งนักลงทุนคิดว่าปลอดภัยแล้ว ไม่น่ามีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ แต่ก็มีปัญหา ประกาศพักชำระหนี้จนได้ และไม่รู้ว่า ผู้ลงทุนจะได้รับการชำระหนี้คืนเมื่อไหร่ และได้รับชำระคืนในสัดส่วนเท่าใดของเงินลงทุน
ความเชื่อมั่นการลงทุนในหุ้นกู้ถดถอยลงไปมาก จากหุ้นกู้เน่าๆ จนบริษัทจำนวนมาก ไม่สามารถออกหุ้นกู้ระดมทุนได้ เนื่องจากนักลงทุนไม่ซื้อ จะมีเพียงบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทของเจ้าสัวเท่านั้นที่ยังสามารถออกหุ้นกู้ระดมทุนได้
ส่วนบริษัทขนาดเล็ก อันดับเครดิตความน่าเชื่อถือต่ำๆ หมดโอกาสออกหุ้นกู้ระดมทุน
ช่วงต้นปีนี้ ตลาดหุ้นกู้แทบพังมาแล้ว หลังจากผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้ แห่กันขายคืนหน่วยลงทุน แต่กองทุนไม่สามารถหาเงินมารองรับการไถ่ถอนได้ทัน เนื่องจากขายหุ้นกู้ที่ซื้อลงทุนไว้ไม่ได้ จนต้องประกาศปิดกองทุน และเลื่อนเวลาชำระเงินให้ผู้ลงทุนที่ขายคืนหน่วยลงทุน
ขณะที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องนัดหารือด่วน และออกมาตรการอุ้มตลาดตราสารหนี้
แต่ปัญหาหุ้นกู้ยังปะทุขึ้นมาเป็นจุดๆ โดยบริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งออกหุ้นกู้รวมทั้งหมด 7 ชุด วงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท ทยอยผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ในแต่ละรุ่น และคาดว่า จะผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ทุกรุ่น ลอยแพผู้ถือหุ้นกู้ทั้งหมด
บริษัท การบินไทยประกาศพักชำระหนี้หุ้นกู้วงเงินประมาณ 7.16 หมื่นล้านบาท และยังมีบริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและขนาดเล็กอีกหลายแห่งผิดนัดชำระหนี้ รวมแล้วหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้วงเงินสูงกว่า 1 แสนล้านบาท โดยบางบริษัทมีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว อยู่ในข่ายล้มละลาย ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้เตรียมใจตีหนี้สูญไปแล้ว
ในยามที่ตลาดตราสารหนี้เฟื่องฟู บริษัทจดทะเบียนออกหุ้นกู้กันจนเฟ้อ บางบริษัทออกหุ้นกู้นับสิบรุ่น และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้บริหารบริษัทนำเงินไปใช้อะไรบ้าง ผ่องถ่ายเงินหรือไม่
หุ้นกู้บางรุ่น ซึ่งไม่ควรจะขายได้ แต่กลับขายหมด เช่นหุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีอันดับเครดิต ด้อยสิทธิ ไม่มีตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ และไม่มีหลักประกัน โดยเป็นหุ้นกู้ที่ครบเครื่องเรื่องความเสี่ยง สุดท้ายก็มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้
หรือแม้แต่หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน หรือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน โดยลงทุนไว้ชาตินี้ อาจไถ่ถอนได้ในชาติหน้า และสามารถเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้อีกด้วย ออกมาหลายบริษัทเหมือนกัน โดยนักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ประเภทนี้อาจยังไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจน
ผู้เสียหายจากหุ้นกู้มีมากขึ้นทุกที โดยหุ้นกู้บริษัท การบินไทย กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ทำให้ประชาชนผู้ลงทุนรู้สึกว่า น่าจะมีมาตรการควบคุมการออกหุ้นกู้ และควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปกป้องผู้ลงทุน หรือช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้ลงทุนโดยตรง เมื่อหุ้นกู้เกิดปัญหา
เพราะมีเพียง ก.ล.ต.เท่านั้นทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติการออกหุ้นกู้ แต่ไม่มีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ลงทุน เมื่อมีบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ชักดาบ ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้บริษัท การบินไทย กำลังตกอยู่ในสภาพถูกลอยแพ
หุ้นกู้การบินไทย ใครจะคิดว่า มีปัญหา แต่วันนี้เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้แล้ว ดังนั้น หุ้นกู้บริษัทขนาดใหญ่ หรือหุ้นกู้บริษัทเจ้าสัว จึงอาจเกิดปัญหาได้เหมือนกัน
และหุ้นกู้กลุ่มบริษัทเจ้าสัว วงเงินระดมทุนนับล้านล้านบาท ถ้าเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ตลาดตราสารหนี้พินาศแน่ และจะมีนักลงทุนอีกจำนวนมากต้องย่อยยับ
การระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ จะต้องกำกับดูแลกันอย่างเข้มงวด อย่างน้อยอย่าปล่อยให้หุ้นกู้ประเภทขยะออกมาง่ายๆ
และต้องส่งสัญญาณเตือนประชาชน ให้เพิ่มความระมัดระวังความเสี่ยงการลงทุนหุ้นกู้ ไม่ว่าหุ้นกู้บริษัทขนาดเล็กหรือหุ้นกู้บริษัทขนาดใหญ่ระดับเจ้าสัวก็ตาม