xs
xsm
sm
md
lg

งาน“หิน”ฟื้นฟูการบินไทย

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา



นักลงทุนแห่กันเข้าเก็งกำไรหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI อีกครั้ง จนราคาหุ้นพุ่งขึ้นชนเพดานสูงสุด 15% หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการ กระตุ้นเกิดความคาดหวังในสายการบินแห่งนี้

ประชาชนถูกทำให้เข้าใจว่า ปัญหาการบินไทยกำลังได้รับการแก้ไข โดยการยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ แต่แทบไม่มีใครตั้งคำถามว่า การฟื้นฟูกิจการจะสำเร็จหรือไม่

ปัญหาของการบินไทย ไม่ได้อยู่ที่หนี้จำนวน 2.44 แสนล้านบาท ซึ่งปรากฏในงบการเงินปี 2562 แต่อยู่ที่ผลดำเนินงานปกติ ซึ่งยังขาดทุนบานเบอะอยู่

ต่อให้การบินไทยมีหนี้ 3 แสนล้านบาท แต่ถ้าสร้างผลกำไรสุทธิได้ปีละสัก 2 หมื่นล้านบาท ถือว่ายังมีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้

แต่ปัจจุบัน การบินไทยไม่มีหนี้แม้แต่บาทเดียว ก็ไม่สามารถอยู่ได้ เพราะผลประกอบการตามปกติขาดทุน และขาดทุนต่อเนื่องหลายปี โดยปี 2560 ขาดทุนสุทธิ2,107.35 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 11,625.17 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 12,042.41 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะขาดทุนสุทธิประมาณ 59,000 ล้านบาท

แนวทางการฟื้นฟูฯ ที่ยื่นเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่ได้พูดถึงการแก้ปัญหาผลประกอบการที่ขาดทุน แต่จะพูดถึงการปรับโครงสร้างองค์กร การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแก้ปัญหาหนี้

กระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก 51.03% ของทุนจดทะเบียน เหลือเพียง 47% และพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยการขายหุ้นให้กองทุนวายุภักษ์ในราคาประมาณ 4 บาท

โครงสร้างคณะกรรมการบริษัทจะต้องปรับใหม่ โดยเปลี่ยนกรรมการเก่าและแต่งตั้งกรรมการใหม่เข้าไปเสริม และจะเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งการลดทุน เพื่อตัดขาดทุนสะสม ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียหาย ก่อนจะเพิ่มทุนใหม่ และเมื่อฟื้นฟูกิจการสำเร็จ จะกลับมาดำเนินการตามปกติ

พิจารณาจากแนวทางการฟื้นฟูฯ เบื้องต้นโดยผิวเผิน ดูเหมือนการกอบกู้วิกฤตสายการบินแห่งชาติ ไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ถ้าเจาะลึกลงไปในรายละเอียดแนวทางแก้ไข มีโจทย์ที่ต้องตั้งคำถามมากมาย

การผ่องถ่ายหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ โดยขายในราคา 4 บาทนั้น กองทุนวายุภักษ์จะรับซื้อหรือ และจะใช้หลักเกณฑ์อะไรมาประเมินมูลค่ายุติธรรม เพราะกองทุนวายุภักษ์ก็มีผู้ถือหุ้นที่ต้องดูแลปกป้องผลประโยชน์เหมือนกัน

และเจ้าหนี้ รวมทั้งเจ้าหนี้หุ้นกู้ จะเจรจาแก้ปัญหาหนี้อย่างไร จะแฮร์คัทหรือลดหนี้หรือไม่ เพราะถ้าขอลดหนี้ ผิดนัดชำระหนี้ จะกระทบต่อเครดิตหรือความเชื่อมั่นของประเทศไทย

เพราะการบินไทยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ นักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้การบินไทย เพราะมั่นใจว่า จะไม่มีปัญหาการชำระคืน ไม่มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้หรือชำระดอกเบี้ย แต่ถ้าผิดนัดชำระหนี้ ลดการจ่ายดอกเบี้ยหรือลดหนี้ จะทำให้นักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นประเทศไทย และอาจส่งผลกระทบต่อการระดมทุนของรัฐวิสาหกิจ

ส่วนการเพิ่มทุนใหม่ ถ้ายังไม่สามารถเสนอแผนการดำเนินงานที่ทำให้เกิดมั่นใจว่า การบินไทยจะสร้างผลกำไรได้อย่างไร นักลงทุนจะยอมใส่เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือ

หนี้การบินไทยที่ปรากฏในงบการเงินปี 2562 ยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง เพราะถ้าจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานบัญชีใหม่ ซึ่งจะเริ่มในปี 2563 การบินไทยจะมีหนี้เพิ่มอีกนับแสนล้านบาท จากค่าเช่าเครื่องบิน ซึ่งเดิมไม่ต้องลงบัญชีเป็นหนี้ แต่มาตรฐานบัญชีใหม่ต้องบันทึกในบัญชีเป็นหนี้

การฟื้นฟูฯ การบินไทย ถ้าจะสำเร็จ ต้องพลิกผลประกอบการให้มีกำไร ซึ่งเป็นงาน “หิน” เพราะแม้แต่สายการบินชั้นนำระดับโลกยังแทบเอาตัวไม่รอด หรือแม้แต่สายการบินไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเคยรุ่งเรืองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ร่อแร่ เนื่องจากการแข่งขันสูง เกิดการตัดราคา เพื่อช่วงชิงผู้โดยสาร และถูกผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติม

การเดินทางระหว่างประเทศ ตอนนี้เป็นอัมพาตกันทั่วโลก เพราะผลกระทบจากวิกฤตโควิด ซึ่งไม่อาจประเมินว่า สถานการณ์จะผ่านพ้นไปเมื่อไหร่ และการเดินทางด้วยเครื่องบินจะใช้เวลาอีกยาวนานเพียงใดจึงกลับสู่ภาวะปกติ

ความพยายามกู้ชีพการบินไทยของรัฐบาล มีคนเอาใจช่วยอยู่ไม่น้อย เพราะอยากเห็นพล.อ.ประยุทธ์เป็นอัศวินม้าขาวช่วยให้สายการบินแห่งชาติดำรงอยู่ต่อไป

แต่แนวทางการฟื้นฟูฯ ที่นำเสนอกันออกมา ยังไม่เห็นภาพที่เป็นรูปธรรมว่า จะช่วยให้การบินไทยกลับมาผงาด มีผลกำไรและยืนอยู่ด้วยตัวเอง โดยไม่เป็นภาระกับรัฐบาลหรือประชาชนที่ต้องเข้าไปอุ้มได้อย่างไร

ตั้งแต่มีข่าวฟื้นฟูฯ การบินไทย แมลงเม่าแห่เข้าไปลุยเก็งกำไรหุ้นการบินไทย จนเจ็บเนื้อเจ็บตัวกันหลายรอบแล้ว และแผนฟื้นฟูฯ ที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.ล่าสุด ปลุกให้แมลงเม่าแห่กันเข้าเก็งกำไรหุ้นกันอีก

ทั้งที่ไม่รู้ว่า จะฟื้นฟูกิจการสำเร็จหรือไม่ และผ่านการฟื้นฟูฯ การบินไทยจะมีสภาพอย่างไร สามารถเป็นสายการบินที่สร้างผลกำไร ขณะที่สายการบินแทบทั้งโลกกำลังทยอยกันล้มละลายได้หรือไม่

การยื่นขอฟื้นฟูฯ การบินไทย เป็นทางเลือกดีที่สุดแล้ว แต่จะฟื้นฟูฯ สำเร็จหรือไม่ ยังต้องรอเวลาพิสูจน์อีกยาวไกล นักลงทุนตลาดหุ้นจึงไม่ควรมองโลกสวยเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น