2-3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนเสียหายจากหุ้นกู้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จนหมดความเชื่อมั่นในตราสารหนี้ประเภทนี้ ส่งผลให้ หุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งขายไม่ออก
ในอดีตการลงทุนในหุ้นกู้ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ เพราะไม่มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่ปัจจุบัน การผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแม้แต่ดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ครบกำหนดยังเบี้ยวไม่จ่ายกัน
ประชาชนที่ลงทุนในหุ้นกู้ เพราะเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการไถ่ถอน และหุ้นกู้ส่วนใหญ่เป็นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ นอกจากนั้น ยังมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาอนุมัติ รวมทั้งมีตัวแทนผู้จัดจำหน่าย มีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือจัดเรตติ้ง แถมอัตราดอกเบี้ยยังจูงใจอีกด้วย
หุ้นกู้กลายเป็นช่องทางระดมทุนที่สะดวก ต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ เมื่อเทียบกับการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซี่งไม่ต้องมีหลักประกัน และไม่ต้องถูกตรวจสอบฐานะทางการเงิน
บริษัทจดทะเบียนจึงนิยมออกหุ้นกู้ บางบริษัทมีหุ้นกู้นับสิบรุ่น แต่ระดมเงินมาแล้ว นำไปใช้ผิดประเภท หรือนำไปผ่องถ่ายเงินใส่กระเป๋าผู้บริหาร แต่ก่อนมักจะได้ยินแต่มหากาพย์กลโกงในตลาดหุ้น หรือได้ยินแต่โศกนาฏกรรมของนักลงทุนที่หมดเนื้อหมดตัวจากการเล่นหุ้น แต่ ปัจจุบันมีเหตุเศร้าสลดจากผู้คนที่หมดตัว เพราะถูกชักดาบจากหุ้นกู้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่นำเงินออมก้อนสุดท้ายมาทุ่มใส่หุ้นกู้
หุ้นกู้ตัวล่าสุดที่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้คือ หุ้นกู้บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP ซึ่งมีปัญหาทั้งเบี้ยวจ่ายดอกเบี้ยและไม่ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอายุ
หุ้นกู้ ACAP มีทั้งหมด 7 รุ่น และบางรุ่น แม้แต่ดอกเบี้ยเพียงไม่กี่ล้านบาท ยังเบี้ยว จนผู้ถือหุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ทำใจกันแล้วว่า หุ้นกู้ทั้ง 7 รุ่นคงเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้เหมือนกันหมด
ผู้ถือหุ้นกู้บางส่วนอาจแบกรับความเสียหายได้ แต่บางส่วนไม่สามารถยอมรับความเสียหายได้ เพราะเดือดร้อนหนัก โดยเฉพาะนักลงทุนวัยเกษียณที่นำเงินก้อนสุดท้ายมาลงทุน
ไม่เฉพาะหุ้นกู้ ACAP เท่านั้น หุ้นกู้ บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC หุ้นกู้ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH หรือหุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนอื่นที่ผิดนัดชำระหนี้ ก็มีนักลงทุนวัยเกษียณจำนวนไม่น้อยร่วมลงทุนด้วย
บางคนทุ่มเงินออมก้อนสุดท้ายในชีวิตจำนวน 20 ล้านบาท ซื้อหุ้นกู้เพียงตัวเดียว เพราะเห็นว่า กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงระดับ 5%-6% และคำนวณแล้วว่า ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยจะทำให้มีรายได้เป็นค่าใช้จ่ายประจำอย่างสบาย โดยที่เงินต้นยังอยู่ครบ
แต่เมื่อถูกเบี้ยว ดอกเบี้ยไม่จ่าย เงินต้นไม่รู้ว่า จะได้คืนเมื่อไหร่ หรือสูญหายทั้งจำนวน ทำให้นักลงทุนวัยเกษียณเครียดไปตามๆ กัน บางคนถึงกับร้องห่มร้องไห้ เพราะไม่รู้ชีวิตจะดำเนินต่อไปอย่างไร
บาปกรรมที่ผู้ออกหุ้นกู้ก่อไว้กับนักลงทุน ทำให้มีการนำเสนอแนวคิดมากมายเกี่ยวกับมาตรการป้องกันผลกระทบจากหุ้นกู้บางคนเสนอให้งดการออกหุ้นกู้ โดยให้บริษัทเอกชนกลับไปกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือใช้วิธีเพิ่มทุนแทน หรือการออกหุ้นกู้ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
บางคนเสนอให้กรรมการบริษัท ต้องเซ็นค้ำประกันหุ้นกู้ โดยหากหุ้นกู้มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ กรรมการบริษัทต้องรับผิดชอบแทน และบางคนเสนอ ให้ลงทุนโทษหนักผู้บริหารบริษัทที่ออกหุ้นกู้ กรณีที่ชักดาบผู้ลงทุน โดยให้ถือเป็นความผิดทางอาญาเสมือนการฉ้อโกง ซึ่งมีสิทธิติดคุกได้ เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความรับผิดชอบในการออกหุ้นกู้แต่ละรุ่น ไม่ใช่ออกกันมั่ว สูบเงินประชาชนเป็นว่าเล่น โดยไม่สำนึกถึงความเสียหายของผู้ลงทุน
ข้อเสนอมาตรการควบคุมการออกหุ้นกู้ อาจถูกคนที่มองโลกสวยต่อต้าน และเห็นว่า เป็นมาตรการที่รุนแรง โหดร้าย มองบริษัทที่ออกหุ้นกู้ในทัศนคติในแง่ร้ายคล้ายกับอาชญากร
การชักดาบหุ้นกู้จะแตกต่างอย่างไรกับการก่ออาชญากรรม เพราะทำให้ประชาชนผู้ลงทุนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ผู้ลงทุนวัยเกษียณต้องร้องห่มร้องไห้แทบตรอมใจตาย
โดยเฉพาะบริษัจดทะเบียนที่ออกหุ้นกู้ และนำเงินไปใช้ผิดประเภทหรือไซฟ่อนผ่องถ่ายใส่กระเป๋าผู้บริหารบริษัท