xs
xsm
sm
md
lg

วงจรอุบาทว์วอร์แรนต์ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งกำลังประกาศเพิ่มทุน โดย บางบริษัทนำใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ หรือวอร์แรนต์เป็นตัวล่อให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ทั้งที่ก่อนหน้าออกวอร์แรนต์มาแล้ว 5-6 รุ่น และไม่รู้ว่า วอร์แรนต์รุ่นก่อนๆ มีการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญกันหรือไม่ หรือสุดท้ายถูกปล่อยให้เป็นศูนย์

บริษัทจดทะเบียนที่นำวอร์แรนต์มาขายพ่วงกับหุ้นเพิ่มทุน ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT โดยวอร์แรนต์ที่ออกในครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 6 และรุ่นที่ 7 แล้ว

AEC นำวอร์แรนต์รุ่นที่ 6 จำนวน 1,500 หน่วย จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในสัดส่วน 2 หุ้นใหม่ต่อ 1 วอร์แรนต์ ในราคาแปลงสภาพหุ้นละ 20 สตางค์

ส่วน MINT นำวอร์แรนต์รุ่นที่ 7 จำนวนประมาณ 313 ล้านหน่วย อายุ 3 ปี จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสัดส่วน 17 หุ้นสามัญต่อ 1 วอร์แรนต์ ราคาแปลงสภาพใช้ราคาตลาดย้อนหลัง 7-15 วันทำการ ก่อนวันกำหนดราคาเสนอขาย

ทั้ง AEC และ MINT ใช้วอร์แรนต์เป็นตัวกระตุ้นการลงทุนมาตลอด ปั๊มวอร์แรนต์ออกมาเป็นว่าเล่น แต่จะมีใครสักกี่คนที่ติดตามว่า วอร์แรนต์ที่ปั๊มออกมาถูกนำไปแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญกันสักเท่าไหร่

วอร์แรนต์ เป็นตราสารที่นำมาใช้ในการวางแผนทางการเงินในอนาคต แต่ในทางปฏิบัติระยะเวลากว่า 30 ปี นับตั้งแต่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด หรือแบงก์ BBC ออกวอร์แรนต์เป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2532 วอร์แรนต์กลับกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างราคาหุ้น หรือเป็นช่องทางหาเงินของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นมูลค่าเพิ่ม เคยเปรียบวอร์แรนต์ เหมือนเครื่องพิมพ์ธนบัตรของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน หากต้องการเงินใช้เมื่อไหร่ก็ประกาศออกวอแรนต์ แจกฟรีผู้ถือหุ้น ผู้บริหารบริษัทที่ถือหุ้นใหญ่จะได้โควตาวอร์แรนต์จำนวนมาก และขายหาเงินใช้ในตลาด โดยไม่ต้องกังวลว่าสัดส่วนการถือหุ้นจะลดลง เพราะรู้อยู่แล้วว่า สุดท้ายวอร์แรนต์จะไม่มีการแปลงสภาพ

วอร์แรนต์ที่เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะแจกฟรี จึงมักจบลงด้วยศูนย์เมื่อหมดอายุ เมื่อไม่มีการแปลงสภาพ แต่ช่วงที่ออกจะเป็นตัวกระตุ้นให้นักลงทุนใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นการเก็งกำไรหุ้นตัวแม่บนกระดาน และกลายเป็นเครื่องมือทำเงินของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมักขายวอร์แรนต์ทิ้งในตลาด เก็บเกี่ยวเงินสดเข้ากระเป๋า ปล่อยแมลงเม่ารับเคราะห์แทน เมื่อวอร์แรนต์หมดอายุ

วอร์แรนต์สร้างความเสียหายย่อยยับให้นักลงทุนนับแสนๆ ราย แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดคิดจะแก้ไขปัญหา ไม่มีมาตรการใดควบคุม ปล่อยให้บริษัทจดทะเบียนออกวอร์แรนต์กันตามใจชอบ โดยนักลงทุนรายย่อยต้องตกเป็นเหยื่อ และยังไม่มีใครคิดทำลายวงจรอุบาทว์ของวอร์แรนต์

การออกวอร์แรนต์รุ่นที่ 6 หรือรุ่นที่ 7 สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทจดทะเบียนใช้วอร์แรนต์อย่างฟุ้งเฟ้อ นำเครื่องมือเพื่อล่อนักลงทุนโดยไม่ต้องอายใคร

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ควรมีกฎเกณฑ์ควบคุมการออกวอร์แรนต์ เพื่อหยุดยั้งความเสียหายของนักลงทุน โดยอาจกำหนดมาตรการจำกัดจำนวนวอร์แรนต์ ไม่ให้บริษัทจดทะเบียนออกมากชุดเกินไป

หรือบริษัทจดทะเบียนใดจะออกวอร์แรนต์รุ่นใหม่ ต้องนำเสนอข้อมูลการออกวอร์แรนต์รุ่นก่อนหน้า เพื่อให้นักลงทุนใช้พิจารณาว่า วอร์แรนต์ออกมากี่รุ่นแล้ว แต่ละรุ่นมีจำนวนเท่าใด ขายให้นักลงทุนสัดส่วนอย่างไร ราคาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญกำหนดไว้เท่าไหร่ และเมื่อสิ้นอายุ มีการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญขนาดไหน หรือถูกปล่อยให้กลายเป็นศูนย์

การมีข้อมูลวอร์แรนต์ของบริษัทจดทะเบียนย้อนหลัง จะทำให้ตัดสินใจได้ว่า ควรลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่นำวอร์แรนต์มาเป็นตัวล่อให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่

ถ้าดูประวัติย้อนหลังการออกวอร์แรนต์บริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง นักลงทุนอาจตัดสินใจถอยหนีจากหุ้นตัวนั้นทันทีก็ได้

เพราะวอร์แรนต์ที่ออกมาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น สุดท้ายจบลงที่ศูนย์เหมือนกันหมด นักลงทุนที่หลงเข้าไปเล่นวอร์แรนต์ หรือเล่นหุ้นบริษัทจดทะเบียนแห่งนั้นหมดตัวกันนักต่อนักแล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น