ราคาหุ้น บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC ร้อนแรงมา 4 วันติดๆ เพราะมีแรงซื้อไล่ราคา หลังจากคณะกรรมการ บริษัทประกาศมีมติปรับแผนการเพิ่มทุน
คณะกรรมการ AEC ประชุมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีมติยกเลิกมติการเพิ่มทุนเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม และมีมติใหม่เพิ่มทุน จำนวน 45,000 ล้านหุ้น นำหุ้นจำนวน 3,000 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 0.5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคา 10 สตางค์ จากพาร์ 1 บาท กำหนดชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนกลางเดือนสิงหาคมนี้
ส่วนหุ้นเพิ่มทุนอีกจำนวน 1,500 ล้านหุ้น จะรองรับการออกวอร์แรนต์ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญชุดที่ 6 ซึ่งจะจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมฟรี ในสัดส่วน 2 หุ้นใหม่ต่อ 1 วอร์แรนต์ ราคาแปลงสภาพ 20 สตางค์
การเพิ่มทุนครั้งนี้ เพื่อระดมเงินใช้เป็นแหล่งทุนและใช้เป็นทุนหมุนเวียน รวมทั้งรองรับการขยายธุรกิจ โดย AEC เพิ่งมีปัญหาเงินสภาพคล่องสุทธิ (NC) และอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จนถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายหุ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม และปลดเครื่องหมาย SP ในวันที่ 27 พฤษภาคม
หุ้น AEC หัวทิ่มลงต่อเนื่อง ก่อนที่จะถูกตลาดหลักทรัพย์แขวน SP และแม้ปลด SP ราคายังทรุดต่อ โดยลงไปยืนที่ 20 สตางค์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน แต่ในวันที่ 2 มิถุนายน มีแรงซื้อไล่ราคา จนพุ่งชนเพดาน 15% โดยปิดที่ 23 สตางค์ ก่อนที่คณะกรรมการบริษัทฯ จะแจ้งมติเพิ่มทุนตามมาในค่ำวันเดียวกัน
แรงซื้อลากหุ้น AEC ดำเนินอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน ราคาขึ้นมาปิดที่ 33 สตางค์ รวม 4 วันทำการขึ้นมา 13 สตางค์ หรือปรับตัวขึ้น 65%
การประกาศเพิ่มทุนน่าจะส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาเชิงลบต่อราคาหุ้น โดยเฉพาะหุ้นที่มีผลประกอบการขาดทุนติดต่ออย่าง AEC เพราะผู้ถือหุ้นเดิมส่วนใหญ่คงไม่อยากถมเงินใส่เข้ามาเพิ่มเติม เนื่องจากอาจเสียหายมากขึ้น หากผลประกอบการบริษัทยังไม่ฟื้น
แต่การประกาศเพิ่มทุนของ AEC กลับกระตุ้นให้หุ้นพุ่งแรง แม้มูลค่าการซื้อขายจะไม่มากก็ตาม และราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นจะเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิเพิ่มทุน ทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนที่ผลประกอบการย่ำแย่ก็ตาม
โครงสร้างผู้ถือหุ้น AEC ประกอบด้วย นายประพล มิลินทจินดา ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 23.56% ของทุนจดทะเบียน น.ส.ยุวดี วชิรประภา ถือหุ้น 9.95% และนางกิ่งกาญจน์ สมินานนนท์ ถือหุ้น 6.45% โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 2,372 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 56.57% ของทุนจดทะเบียน
เป้าหมายสำคัญของการเพิ่มทุนครั้งนี้จึงอยู่ที่กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย เพราะเป็นผู้ถือหุ้นสัดส่วนมากที่สุด และไม่รู้ว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะใช้สิทธิจองซื้อหุ้นใหญ่กันครบถ้วนหรือไม่ เนื่องจากการเพิ่มทุนบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่มักหลอกให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยใส่เงินเพิ่มทุนแต่ฝ่ายเดียว
ผลประกอบการ AEC 3 ปีย้อนหลังทรุดมาตลอด ปี 2560 ขาดทุน 76.90 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุน 85.95 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุน 237.87 ล้านบาท และไตรมาสแรกปีนี้ ขาดทุนสุทธิ 40.48 ล้านบาท
ผลการขาดทุนเป็นปัจจัยที่ต้องชั่งน้ำหนักว่า ควรจะเติมเงินเพิ่มทุนใส่บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้หรือไม่ หรือชิงขายหุ้นตัดขาดทุนออกไป เพราะผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนใหญ่น่าจะติดหุ้นต้นทุนสูงกัน
ราคาหุ้น AEC ที่ถูกลากขึ้นมาระดับ 30 สตางค์ ย่อมล่อใจให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่ถ้าผลประกอบการบริษัทยังขาดทุนต่อเนื่อง ราคาหุ้นจะต้องทรุดลงอีก และไม่มีใครรับประกันได้ว่า อนาคตราคาจะไม่หลุดต่ำกว่า10 สตางค์ หรือทรุดลงมาต่ำกว่าราคาหุ้นเพิ่มทุนที่จะเสนอขาย
ผู้ถือหุ้น AEC จึงต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ จะเติมเงินเพิ่มทุนดีหรือไม่