ผู้ถือหุ้นกู้บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP ทั้ง 7 รุ่น วงเงินประมาณ 2,575 ล้านบาท กำลังน้ำตานองหน้า เพราะไม่รู้ชะตากรรมว่า เงินที่ลงทุนจะสูญทั้งจำนวนหรือไม่ แต่ปรากฏการณ์ที่สวนทางคือ หุ้น ACAP กลับไม่สะทกสะท้านกับข่าวร้ายปัญหาฐานะทางการเงินของบริษัทแต่อย่างใด
หุ้นกู้ ACAP ทยอยผิดนัดชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง แม้แต่ดอกเบี้ยที่ครบกำหนดเพียงไม่กี่ล้านบาท ยังไม่สามารถจ่ายได้ จนผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นทำใจกันแล้ว ถูกชักดาบทั้งดอกเบี้ยและเงินที่ลงทุนไว้แน่
นักลงทุนวัยเกษียณบางราย ลงทุนในหุ้นกู้ ACAP ถึง 50 ล้านบาท โดยบางรุ่นเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในสัดส่วน 1 ใน 4 ของวงเงินหุ้นกู้ทั้งหมด
ผู้บริหาร ACAP บางคนอวดอ้างว่า เป็นมืออาชีพ และให้การดูแลนักลงทุนวัยเกษียณรายนี้อย่างดี เพราะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ เดินทางมาให้บริการด้วยตัวเองถึงบ้าน โน้มน้าวให้ลงทุน โดยยืนยันรับประกันความเสี่ยงชนิดเอาหัวเป็นประกัน จนผู้ลงทุนเกิดความมั่นใจ แต่เมื่อหุ้นกู้เกิดปัญหา กลับหายหัว ไม่สามารถติดต่อได้
การผิดนัดชำระหนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ACAP มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ส่วนทรัพย์สินที่มีอยู่กำลังถูกเจ้าหนี้หุ้นกู้ทยอยฟ้องอายัด และจะบังคับขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระคืนหนี้หุ้นกู้ จนไม่รู้ว่า ACAP จะเหลือทรัพย์สินเท่าไหร่ และจะมีคุณสมบัติดำรงฐานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนได้หรือไม่
แต่หุ้น ACAP กลับยังซื้อขายตามปกติ แถมบางช่วงราคายังถูกลากขึ้นสวนสถานการณ์ของบริษัทที่กำลังย่ำแย่อีกด้วย และไม่มีการส่งสัญญาณเตือนใดๆ จากตลาดหลักทรัพย์
สิ่งที่ผู้ถือหุ้นกู้ ACAP ตั้งข้อสงสัยคือ นักลงทุนทั่วไปและผู้ถือหุ้นรายย่อยรู้หรือไม่ว่า ACAP กำลังเกิดวิกฤตทางการเงิน เบี้ยวไถ่ถอนหุ้นกู้ และแม้แต่ดอกเบี้ยที่ครบกำหนดเพียงไม่กี่ล้านบาท ยังหาเงินมาจ่ายไม่ได้ ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 7 รุ่นต้องทุกข์ระทม โดยบางคนอาจถึงขั้นหมดตัว
ในรอบ 12 เดือน ราคาหุ้น ACAP เคยพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 3.28 บาท ต่ำสุดที่ 38 สตางค์ ล่าสุด เมื่อวันพุธที่ 17 มิถุนายน ปิดที่ 87 สตางค์ เพิ่มขึ้น 5 สตางค์ แต่มูลค่าการซื้อขายเบาบาง
โครงสร้างผู้ถือหุ้น ACAP ประกอบด้วย นางจารุณี ชินวงศ์วรกุล ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 24.79% ของทุนจดทะเบียน น.ส.สุกัญญา สุขเจริญไกรศรี ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในสัดส่วน 14.72% ของทุนจดทะเบียน โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 3,091 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 60.49% โดยผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนใหญ่น่าจะติดหุ้นต้นทุนสูง
ผลประกอบการบริษัทมีแนวโน้มแย่ลง โดยปี 2562 ขาดทุน 190.53 ล้านบาท และไตรมาสแรกปีนี้ ขาดทุนสุทธิ 109.07 ล้านบาท
ผู้บริหาร ACAP กำลังรับมือกับการทวงหนี้จากบรรดาผู้ถือหุ้นกู้รุ่นต่างๆ ซึ่งไม่หวังการเจรจาประนอมหนี้แล้ว เพราะแม้จะขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป ก็ไม่เห็นโอกาสในการชำระหนี้ แต่ละคนจึงมุ่งสืบทรัพย์ อายัดและยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับขายทอดตลาด นำเงินมาเฉลี่ยคืนผู้ถือหุ้นกู้แต่ละรุ่น
ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีทางเลือกแล้ว นอกจากลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด มีทางใดที่เรียกหนี้คืนได้จะตัดสินใจทันที ได้เท่าไหร่เอาเท่านั้นไว้ก่อน
ส่วน ผู้ถือหุ้นสามัญยังมีทางเลือกมากกว่า เพราะหุ้น ACAP ยังถูกปล่อยให้ซื้อขายตามปกติ แตกต่างจากหุ้นกู้ที่ถูกปิดประตูตายไม่จ่ายหนี้
อนาคต ACAP น่าจะประเมินชะตากรรมกันได้แล้ว ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะตัดสินใจอย่างไร ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคนแล้ว