xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เงินกู้ 4 แสนล.โครงการหมื่นล.ระดับกระทรวง กับ "หลักแสนระดับชุมชน" ใครจะได้ไปต่อ ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานสุดสัปดาห์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกมาการันตีถึงการใช้จ่าย "เงินกู้" ในการแก้ปัญหาเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามพ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน โดยให้กระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อสู้กับภัยโควิด-19 อีกครั้ง เมื่อวันอังคาร ( 9 มิ.ย.)ที่ผ่านมา

"ขอให้มั่นใจว่าในกรอบนโยบายนายกรัฐมนตรี ผมในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ผมป้องกันการทุจริตอย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบได้โดยทันที ทั้งการตรวจสอบภายในและภายนอก องค์กรอิสระสามารถตรวจสอบได้โดยทันที"
"ฉะนั้น ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ไม่ให้มันกลับมาที่เก่า ไม่อย่างนั้นต้องหาวิธีการและแนวทางการปฏิบัติที่ดี ข้อสำคัญคือประชาชนต้องมีสว่นร่วม โดยให้ประชาชนเสนอความต้องการ ขึ้นมา และส่วนราชการต้องไปพิจารณาร่วมเพื่อให้ตรงต่อความต้องการของประชาชน ไม่เช่นนั้นถ้าทำออกมาไม่ตรงก็จะกลายเป็นปัญหา และทำให้ตรวจสอบยาก”

"ผมได้ให้แนวทางไปว่า เราจะอนุมัติเป็นระยะไป ไม่ใช่อนุมัติทีเดียวทั้งหมด เพื่อที่จะมีการประเมิน-ปรับแผน อาจจะทำเป็น 2 หรือ 3 ระยะ ใน 3 เดือน เพื่อให้เงินสามารถหมุนเวียนส่งต่อไปยังเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง"

นายกฯ บอกว่า หลักการสำคัญอีกอันคือ การใช้งบฟื้นฟูดังกล่าว "ไม่ควรนำไปใช้ในโครงการที่เป็นการลงทุน" หรือการพัฒนาภายใต้งบปกติซึ่งเป็นโครงการระยะยาว และอยู่ในแผนงานงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว
เพราะ อันนี้เป็นเงินที่ได้มาด้วยความยากลำบากคือ "ต้องกู้เข้ามา"

สำหรับงบฟื้นฟู เป็นส่วนที่จะทำให้เกิดสภาพคล่อง ทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อน หรือกิจการต้องล้มละลาย ล้มเลิกไป เพราะจะทำให้เกิดปัญหาการจ้างงาน

"วันนี้เราพยายามทำทุกมิติ ในส่วนแรกคือการใช้มาตรการทางการเงินการคลัง การลดภาษี ลดค่าใช้จ่าย การยืดระยะเวลา และอีกเรื่องคือการใช้งบประมาณลงไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม

สอดคล้องกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพิ่งให้ข้อมูล “การใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท”

จนถึงวันที่ 11 มิ.ย.63 เสนอเข้ามาแล้ว 31,801โครงการ วงเงิน 783,348 ล้านบาท

ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ยังต้องตัดทอนอีก และยังเปิดให้เสนอโครงการรอบ 2 จนถึงวันที่ 9 ก.ค.นี้ พร้อมกันนี้ ได้วางกระบวนการให้ประชาชน ประชาสังคมติดตาม ตรวจสอบการใช้เงินกู้ ตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอขอโครงการการอนุมัติ การดำเนินโครงการ จนถึงการประเมินผลโครงการ ผ่านเว็บไซต์ ThaiME หรือ http://thaime.nesdc.go.th ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำ
สำหรับโครงการที่เสนอมาแล้ว ได้แก่

1.โครงการเพื่อปรับปรุงการผลิต การท่องเที่ยว เกษตรมูลค่าสูง 164 โครงการ วงเงิน 284,302 ล้านบาท

2.เศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชน เสนอมาจากท้องถิ่นใน 77 จังหวัด 31,345 โครงการ วงเงิน 416,149 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีอีก 13 กระทรวงและ 4 หน่วยงาน ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เสนอมา 115 โครงการ วงเงิน 168,889ล้านบาท

“วงเงินที่เสนอมา ยังไม่รวมการแจกคูปองท่องเที่ยว และยังมีข้อเสนออีก 3 โครงการในการทำแพลตฟอร์มดิจิทัล"
จากนั้น สภาพัฒน์ จะกลั่นกรองเบื้องต้นจนถึงวันที่ 15 มิ.ย.นี้

สอดคล้องกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งข้างต้นว่า "ไม่ควรนำไปใช้ในโครงการที่เป็นการลงทุน"

สภาพัฒน์ ย้ำว่า โครงการใดไม่ตรงวัตถุประสงค์ จะแจ้งเลยว่าไม่ได้ เช่น สร้างถนน สนามบิน ส่วนโครงการใดต้องปรับแต่ง จะให้นำไปปรับปรุงแล้วเสนอกลับมารอบ 2 จนถึง 9 ก.ค.63 รวมถึงคนที่ส่งโครงการรอบแรกไม่ทัน ยังส่งมาได้จนถึง 9 ก.ค.นี้

สำหรับการกลั่นกรอง ขั้นตอนแรก คณะทำงานจะวิเคราะห์โครงการ เปิดให้ประชาชนร่วมกลั่นกรอง ขั้นตอน 2 คณะกรรมการกลั่นกรองฯจะพิจารณา และสุดท้ายเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยลอตแรกจะเสนอ ครม.อนุมัติเดือน ก.ค.นี้ โครงการสุดท้ายต้องทำให้เสร็จก่อนเดือน ธ.ค.64

ที่นี้มาแยกดูรายโครงการ ที่เสนอเข้ามา จาก 31,801โครงการ วงเงิน 783,348 ล้านบาท ล่าสุด พบมีทั้ง "บิ๊กโครงการ"ของกระทรวง วงเงินตั้งแต่หลัก 1 ร้อยล้าน-5 หมื่นล้าน หรือ "โลว์โครงการ" ของระดับหมู่บ้าน หรืออบต. ขอจัดสรรงบฯกัน ตั้งแต่หลักแสนบาทถึง 1 ล้านบาท แถมยังมีโครงการของ "หน่วยงานทหาร"ทอดแทรกเข้ามาด้วย

ฟันธงจากการดูผ่าน เว็บสภาพัฒน์ "ไทยมี" มากกว่า 80% เป็นโครงที่เกี่ยวกับการ "ซ่อมแซมถนน" จริง ๆ ตามที่ฝ่ายตรวจสอบภาคเอกชน หลายคนบอกไว้ แค่โครงการกระทรวงคมนาคม หรือ ระดับภูมิภาคท้องถิ่น ก็มีเรื่อง ถนนเข้ามาสอดแทรกเช่นกัน
ไปเอาตัวอย่างจากหลายโครงการที่น่าสนใจ น่าจะผ่านได้จัดรับสรร "เงินกู้" ไปได้ไม่ยาก เช่น

"กระทรวงแรงงาน" ที่ให้จังหวัด นำเสนอ ก.บ.จ. และรายงานให้กระทรวงดำเนินการ เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 2,004.2478 ล้านบาท

"สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน" ขอรับจัดสรร 579.5078 ล้านบาท เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ประกอบด้วย เสนอ "โครงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ" ให้กับประชาชนที่อยู่ในกำลังแรงงานที่ได้รับกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ และโควิด-19 ทั่วประเทศ จำนวน 20,800 คน ขอรับจัดสรรวงเงิน 99.0800 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ก.ค.63 - ก.ย.64 โดยเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพในทักษะใหม่ นอกเหนือจากทักษะเดิมเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

เสนอ "โครงการบัณฑิตแรงงานประจำอำเภอ" ช่วยเหลือบัณฑิตว่างงานในพื้นที่ จำนวน 1,682 คน ( 841 อำเภอ ๆ ละ 2 คน ยกเว้นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในสงขลา) ขอรับจัดสรรวงเงิน 480.4278 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ก.ค.63 - ก.ย. 64

เป็นกลไกเพื่อการสื่อสาร ทำหน้าที่ประสานการสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการด้านแรงงานในพื้นที่กระทบโควิด-19 ตลอดจนความเดือดร้อนด้านอาชีพและความต้องการด้านแรงงานอื่น ๆ ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายอาสาสมัครแรงงาน ครอบคลุมทุกอำเภอ

"กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน" ขอรับจัดสรร 12,80.2000 ล้านบาท เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ประกอบด้วย

เสนอ "โครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานในสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19" ในกลุ่มแรงงานตามมาตรา 75 แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 622,112 คน ประมาณการผู้ประสงค์จะได้รับการพัฒนาทักษะ จำนวน 62,000 คน ขอรับจัดสรรงบประมาณ 170.2000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ก.ค.63 - ก.ย. 63
เพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟู และบรรเทาปัญหาความเดือนร้อนกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการ ตามมาตรา 75 และพัฒนาทักษะแรงงานในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีทักษะสูงขึ้นในสาขาที่ประกอบอาชีพอยู่ หรือสร้างทักษะใหม่ให้เข้าสู่สถานประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

เสนอ "โครงการพัฒนาผู้ประกอบกิจการรายย่อยรองรับเศรษฐกิจชุมชน" ให้กับผู้ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากผลกระทบโควิด-19 จำนวน 200,000 คน ขอรับจัดสรรงบประมาณ 1,110 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ก.ค.63 - ก.ย. 63

"เป็นแผนช่วยเหลือ ฟื้นฟู และบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พัฒนาทักษะเพิ่มศักยภาพกลุ่มแรรงานดังกล่าว สู่การเป็นผู้ประกอบกิจการรายย่อยรองรับเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และความปกติใหม่ (New Normal)รวมถึงรองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนด้วย"

ส่วนโครงการ ที่ใช้งบเกินระดับพันล้านบาท ถึงหมื่นล้านบาท เช่น "กรมวิชาการเกษตร" กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โครงการผลิตพันธุ์ดีและปัจจัยการผลิต (เมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เนื้อเยื่อ พันธุ์ปศุสัตว์ พันธุ์สัตว์น้ำ ไข่ไหมพันธุ์ดี) 12,045,230,000 บาท
"กรมส่งเสริมการเกษตร" กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โครงการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการผลิตขยายพืชพันธุ์ดี 1,019,980,000 บาท

"สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม" กระทรวงวัฒนธรรม โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม: ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 1,998,949,000 บาท

"กรมชลประทาน" กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อ 72 จังหวัด โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 42,235,953,900 บาท

"สำนักงานปลัดกระทรวง" กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อ 76 จังหวัด จ้างลูกจ้างเหมาบริการเพื่อพัฒนาระบบจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตำบล 1,576,080,000 บาท

"กรมทรัพยากรน้ำ" กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อ 66 จังหวัด โครงการปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำ เพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร และบำรุงรักษาแหล่งน้ำ 10,640,078,900 บาท

"สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม" สำนักนายกรัฐมนตรี ทุกจังหวัด โครงการพลิกฟื้นธุรกิจ SME ที่เป็น NPL ให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ 100,000,000,000 บาท และโครงการฟื้นฟูศักยภาพการดำเนินธุรกิจสำหรับ SME ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน 50,000,000,000 บาท

เฉพาะของ "กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม" กระทรวงอุตสาหกรรม มาตาม แนงานที่ 3.1 ทุกจังหวัด พลิกฟื้นธุรกิจ SMEs สู่วิถีความปกติใหม่ 3,800,000,000 บาท โครงการพัฒนาอาชีพอิสระสู่ธุรกิจตามวิถีความปกติใหม่ 1,000,000,000 บาท โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจฐานรากเชื่อมโยงการท่องเที่ยว เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพในวิถีความปกติใหม่ 1,900,000,000 บาท
โครงการพัฒนาธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมสู่โอกาสวิถีความปกติใหม่ 3,300,000,000 บาท การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม - Innovation Driven Enterprise (IDE) จาก SMEs กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 1,660,000,000 บาท เป็นต้น

แผนงานที่ 3.2 ยังพบว่า มีโครงการของหนว่ยงาน "สังกัดกระทรวงกลาโหม" ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ จัดทำขึ้นใน 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร “โครงการทหารพันธุ์ดี” ขอรับจัดสรรวงเงิน 1,700,000 บาท มีค่ายเม็งรายมหาราช มณฑลทหารบกที่ 37 เป็นเจ้าของโครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน

โครงการพัฒนาปรับปรุงทัศนียภาพ ฐานยิงสนับสนุนอิทธิ และฐานกรุงเทพ ดำเนินการในพื้นที่ พิพิธภัณฑ์อาวุธ และการสู้รบ ขอรับจัดสรร 1,800,000 บาท มีกองพลทหารม้าที่ 1 จ. เพชรบูรณ์ เป็นเป็นเจ้าของโครงการ ระยะเวลา 4 เดือน ( มิ.ย.- ก.ย. 63)
สุดท้าย โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สายไฟฟ้า และสายสื่อสารเป็นระบบท่อร้อยสายลงดิน ในพื้นที่ตลาดสัตหีบ บริเวณพื้นที่อ่าวดงตาล จ.ชลบุรี ขอรับจัดสรร 80,000,000 บาท มีฐานทัพเรือสัตหีบ กองทัพเรือ เป็นเจ้าของโครงการ โดนเริ่มดำเนินการในเดือน ก.ย.63

โดยทั้ง 3 โครงการระบุว่า เป็นโครงการกิจกรรมภาคท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
ทั้งหมดนี้ สภาพัฒน์ ในฐานะคณะกลั่นกรองฯ ได้เปิดให้ประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบ โครงการของใคร? จะได้ไปต่อ ได้เงินกู้ไปใช้ หรือตกอยู่แค่รอบแรก ในวันที่ 9 ก.ค.นี้รู้กัน โครงการหมื่นล้านของสารพัดกระทรวง กับโครงการแค่หลักแสนของชุมชน ใครจะได้ไปต่อ.


กำลังโหลดความคิดเห็น