ทีมกลั่นกรองฯ เงินกู้ 4 แสนล้าน จ่อเช็กผลสรุปหลังเปิดให้หน่วยราชการนำเสนอแผนโครงการฟื้นฟูทั่วประเทศผ่านท้องถิ่น-ชุมชน เพียง 4 วัน เพิ่ม “โครงการส่วนกลาง” ต้องรายงาน ก.บ.จ.ก่อนส่งกระทรวงฯ ดำเนินการตามแผน-วงเงินที่ขอรับ เปิด 4 โครงการ ก.แรงงาน ฟื้นฟูชุมชนสู้ภัยโควิด-19 ชง 2 พันล้าน ผุด “บัณฑิตแรงงาน 841 อำเภอ” มุ่งสื่อสาร-สำรวจสภาพปัญหาแรงงานกลับภูมิลำเนา เพิ่มทักษะใหม่แรงงาน 2 หมื่นราย ฟื้นฟูกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการ ตาม ม.75 กว่า 6 แสนราย พร้อมทุ่ม 1.1 พันล้าน พัฒนาผู้ประกอบกิจการรายย่อยชุมชน 2 แสนราย
วันนี้ (7 มิ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) เปิดเผยว่า เช้าวันที่ 8 มิ.ย.นี้ สศช.หรือสภาพัฒน์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เตรียมแถลงความคืบหน้าการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ในส่วนของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท
โดยเป็นการรายงานภายหลังเปิดให้หน่วยงานราชการ นำเสนอแผนโครงการฟื้นฟูฯ เมื่อ 2 มิ.ย. จนถึงวันที่ 5 มิ.ย. โดยสภาพัฒน์ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯ จะเร่งพิจารณาโครงการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 2 กรกฎาคม และคาดว่าเสนอ ครม.วันที่ 7 ก.ค. เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค. 2563
ล่าสุด ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สภาพัฒน์ได้ประชุมร่วมกับจังหวัดและกระทรวงมหาดไทย เพื่อชี้แจงแนวทางฯ การเสนอโครงการตามงบ 400,000 ล้านบาท ภายใต้แผนงาน 3.2 การฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน
“มีการสรุปประเด็นสอบถามและข้อสรุปการปฏิบัติ กรณีโครงการที่ส่วนราชการ (กระทรวง กรม) จะเป็นผู้เสนอขอรับงบประมาณ แต่พื้นที่ดำเนินการอยู่ในจังหวัดจะต้องเสนอผ่านคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) หรือไม่”
โดยสภาพัฒน์แจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยว่า ข้อเสนอโครงการของส่วนราชการ/หน่วยงาน ส่วนกลาง ที่จะดำเนินการในพื้นที่จังหวัด และเป็นหน่วยขอรับการจัดสรรงบประมาณให้ส่วนราชการที่อยู่ในจังหวัด นำข้อเสนอโครงการดังกล่าว เสนอ ก.บ.จ.เป็นวาระเพื่อทราบ และให้ข้อสังเกต/ข้อแนะนำ และให้แจ้งต้นสังกัดส่วนกลางดำเนินการต่อไป”
สำหรับ โครงการพื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ที่เป็นโครงการของส่วนกลางที่ต้องเสนอ ก.บ.จ.เพื่อรับทราบ ที่การรายงานมาแล้ว เช่น ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ที่ให้จังหวัด เพื่อนำเสนอ ก.บ.จ. และรายงานให้กระทรวงดำเนินการ ได้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 2,004.2478 ล้านบาท
โดยสำนักปลัดกระทรวงแรงงาน ขอรับจัดสรร 579.5078 ล้านบาท เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ประกอบด้วย
เสนอ “โครงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ” ให้แก่ประชาชนที่อยู่ในกำลังแรงงานที่ได้รับกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ และโควิด-19 ทั่วประเทศ จำนวน 20,800 คน ขอรับจัดสรรวงเงิน 99.0800 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ก.ค. 2563 - ก.ย. 2564 โดยเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพในทักษะใหม่ นอกเหนือจากทักษะเดิมเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
เสนอ “โครงการบัณฑิตแรงงานประจำอำเภอ” ช่วยเหลือบัณฑิตว่างงานในพื้นที่ จำนวน 1,682 คน (841 อำเภอๆ ละ 2 คน ยกเว้นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ4 อำเภอในสงขลา) ขอรับจัดสรรวงเงิน 480.4278 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ก.ค. 2563 - ก.ย. 2564
เป็นกลไกเพื่อการสื่อสาร ทำหน้าที่ประสานการสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการด้านแรงงานในพื้นที่กระทบโควิด-19 ตลอดจนความเดือดร้อนด้านอาชีพและความต้องการด้านแรงงานอื่น ๆ ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายอาสาสมัครแรงงาน ครอบคลุมทุกอำเภอ
“กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน” ขอรับจัดสรร 12,80.2000 ล้านบาท เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ประกอบด้วย
เสนอ “โครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานในสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” ในกลุ่มแรงงานตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 622,112 คน ประมาณการผู้ประสงค์จะได้รับการพัฒนาทักษะ จำนวน 62,000 คน ขอรับจัดสรรงบประมาณ 170.2000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ก.ค. 2563 - ก.ย. 2563 เพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟู และบรรเทาปัญหาความเดือนร้อนกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการ ตามมาตรา 75 และพัฒนาทักษะแรงงานในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีทักษะสูงขึ้นในสาขาที่ประกอบอาชีพอยู่ หรือสร้างทักษะใหม่ให้เข้าสู่สถานประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
เสนอ “โครงการพัฒนาผู้ประกอบกิจการรายย่อยรองรับเศรษฐกิจชุมชน” ให้แก่ผู้ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากผลกระทบโควิด-19 จำนวน 200,000 คน ขอรับจัดสรรงบประมาณ 1,110 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ก.ค. 2563 - ก.ย. 2563 เป็นแผนช่วยเหลือ ฟื้นฟู และบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พัฒนาทักษะเพิ่มศักยภาพกลุ่มแรงงานดังกล่าว สู่การเป็นผู้ประกอบกิจการรายย่อยรองรับเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และความปกติใหม่ (New Normal) รวมถึงรองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนด้วย
มีรายงานด้วยว่า ในวันที่ 8 มิ.ย. เวลา 13.30 น. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์กับ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒน์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อวางแผนการใช้เงินกู้ให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องมีการดูแลเรื่องแผนการใช้จ่ายให้เกิดผลอย่างแท้จริง และให้เกิดความรัดกุมมากที่สุด