xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือสยามคูโบต้า พัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรเยี่ยวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือ สยามคูโบต้า มุ่งพัฒนาศักยภาพความชำนาญด้านการทำเกษตร เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นำร่องรองรับแรงงานกลับภูมิลำเนาในเดือน ก.ค.นี้



วันนี้ ( 5 มิ.ย.) หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ในการ การทำเกษตรครบวงจร (KAS) ส่งเสริมความเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรกลการเกษตร และการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ณ คูโบต้าฟาร์ม อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี


นอกจากนั้นยังจัดให้มีการอบรมฝึกขับเครื่องจักรกลเกษตรและรถขุดคูโบต้า ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อถ่ายทอดให้กับกลุ่มผู้ถูกเลิกจ้าง สร้างโอกาสและส่งเสริมศักยภาพการประกอบอาชีพด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยจะเริ่มโครงการนำร่องในเดือน ก.ค.นี้





หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล เผยว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มีเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่แรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคการเกษตร จึงร่วม กับสยามคูโบต้า จัดโครงการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทย


รวมถึงให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน สามารถนำไปประกอบอาชีพ รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 และยกระดับฝีมือให้คนไทยมีงานทำอย่างมีศักดิ์ศรี เตรียมความพร้อมก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน


ขณะที่ นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบทำให้ภาคเศรษฐกิจในหลายธุรกิจชะลอตัวและเกิดการเลิกจ้าง หรือพักงานพนักงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งในกลุ่มผู้ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เลือกที่จะกลับภูมิลำเนาเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมป็นทางเลือก ส่งผลกระทบให้ประชาชนมีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มขึ้น


ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับและแก้ปัญหาแรงงานที่กลับไปทำงานยังภูมิลำเนา การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสมจะสามารถช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและขยายผลสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น