"อุตตม" ปฎิเสธให้ความเห็นต่อปัญหาความวุ่นวายในพรรคพลังประชารัฐ ย้ำ ไม่ขอพูดเรื่องการเมือง แต่ของทำงานในฐานะ รมว.คลัง เผย 8 มิ.ย. นี้ เตรียมประชุมประเมินผลมาตรการและประเมินสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจร่วมกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจคณะใหญ่ โดยการประชุมในครั้งนี้จะเป็นการติดตามสถานการณ์โควิด-19 เพื่อวางแผนใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการดูแลแผนการใช้จ่ายที่ต้องเกิดผลอย่างแท้จริง และมีความรัดกุมที่สุด
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปฎิเสธที่จะให้ความเห็นกระแสเรียกร้องจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐที่หัวหน้าพรรคฯ เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลือ 16 คน เพื่อกำหนดวันประชุมใหญ่สามัญ สถานที่ และระเบียบวาระการประชุม ภายใน 45 วันตามข้อกฎหมาย ท่ามกลางกระแสข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคฯ โดยระบุว่า ตนขอไม่พูดเรื่องการเมือง และขอทำงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อน
โดยในวันที่ 8 มิ.ย. 2563 เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมเพื่อประเมินผลมาตรการและประเมินสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมยังมีหน่วยงานด้านเศรษฐกิจคณะใหญ่ ที่ประกอบด้วย ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลขาฯสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เลขาฯ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าร่วม
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามาตรการดูแลเรื่องโควิด-19 ของรัฐบาลถือว่าทำได้ดี แต่ในด้านเศรษฐกิจแล้วยังคงมีความท้าทายอยู่ ซึ่งหน่วยงานด้านเศรษฐกิจจะมารายงานสถานการณ์ในแต่ละเรื่องเพื่อหารือกัน ส่วนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ออกมาอีกหรือไม่นั้น กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งการจะมีมาตรการใหม่ได้ต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดก่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวอีกว่า จากนี้ไปจะต้องดูถึงภาพรวมการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศซึ่งจะมีความยึดโยงกับเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยเสี่ยง อีกทั้งเรื่องการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบ ซึ่งสุดท้ายทั้งหมดจะไปอยู่ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้เร็วแค่ไหน เช่น หากมีวัคซีนออกมา การแพร่ระบาดก็จบ แต่ถ้ายังไม่มีก็ต้องมีมาตรการออกมาดูแลประเทศ เนื่องจากรอไม่ได้ และต้องมีการเร่งฟื้นฟู
อย่างไรก็ตาม นายฮูโต ยืนยันว่า งบประมาณที่มีอยู่ถือว่าเพียงพอที่จะดูแลสถานการณ์โควิด-19 โดยจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท จะอยูาในส่วนของการเยียวยาจะใช้วงเงิน 6 แสนล้านบาท ขณะที่การฟื้นฟูจะใช้วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้ไม่ได้เป็นการเร่งใช้เงินจนเกินเหตุเกินควร ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จะเป็นการติดตามสถานการณ์เพื่อวางแผนการใช้เงินให้มีประสิทธิภาพ ต้องมีการดูแลแผนการใช้จ่ายให้เกิดผลอย่างแท้จริง และให้เกิดความรัดกุมมากที่สุด