เมืองไทย 360 องศา
เชื่อว่าหลายคนที่มองการเมืองจากภายนอกเข้าไป ได้เห็นความเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐในเวลานี้ คงมีความรู้สึกในทางลบมากกว่าสนับสนุน หรือมองในมุมบวกแน่นอน เพราะไม่ว่าจะพิจารณากันแบบไม่ต้องมีข้อมูลอะไรอยู่ในมือ หรือไม่ต้องมองว่าคณะกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคจะเป็นแบบไหนก็ตาม ก็ต้องบอกว่าไม่สมควรไปเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดการกระเพื่อมกันในเวลานี้
ดังนั้น หากพิจารณากันตามอารมณ์ของสังคมในเวลานี้ มั่นใจได้เลยว่า“ไม่เห็นด้วย” มองว่าการเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐด้วยการลาออกของคณะกรรมการบริหารจำนวน 18 คน เพื่อให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันสิ้นสภาพไป เป็นเรื่องที่ยังไม่สมควรเกิดขึ้นในเวลา และสถานการณ์แบบนี้อย่างแน่นอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสังคมมองออกอีกว่า เป้าหมายที่ต้องการแท้จริงก็คือ การต้องให้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าพรรค จาก นายอุตตม สาวนายน และ เลขาธิการพรรคจาก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ไปเป็นคนอื่น เพื่อให้“แผนขั้นที่สอง”เป็นผลสำเร็จตามมา นั่นก็คือต้องการเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ทั้งสองคนดังกล่าวดำรงตำแหน่งอยู่ มันก็ยิ่งไปกันใหญ่
จะว่าไปแล้วเกมแบบนี้ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรนัก และเชื่อว่าสังคมและคนที่เฝ้ามองการเมืองก็ย่อมมองออกได้ไม่ยาก เพียงแต่ว่าจะยอมรับหรือ“ทน” กันได้หรือไม่เท่านั้นเอง ยิ่งเมืองมีรายงานข่าวค่อนข้างยืนยันมาตลอดว่า “พี่ใหญ่”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่เวลานี้เป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐจะมานั่งเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่สืบแทน นายอุตตม สาวนายน ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรค ก็มีการแย้มออกมาแล้วเช่นเดียวกันว่า จะเป็น นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง หรือไม่ก็เป็น นายอนุชา นาคาศัย จะนั่งแทน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
เห็นรายชื่อดังกล่าวแล้วเป็นอย่างไรกันบ้าง สังคมส่วนใหญ่รับได้มั้ย สังคมไว้ใจหรือมั่นใจกับรายชื่อดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน อาจไม่ต้องให้คำตอบทันทีทันใดก็ได้ ลองตั้งสติ คิดสักพัก แต่เชื่อว่าแทบทั้งหมดคง “โพล่ง”ออกมาพร้อมกันอยู่แล้วว่าจะเห็นไปทางไหน บวกหรือลบ “ยี้”กันขนาดไหน
แน่นอนว่ารายงานข่าวดังกล่าวเมื่อถึงวันจริงที่ต้องมีการโหวตเลือกกันภายใน 45 วัน ตามข้อบังคับพรรคอาจจะไม่จริงก็ได้ อาจจะเป็นคนอื่นก็ได้ นั่นคือ หัวหน้าพรรคอาจไม่ใช่ “ลุงป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ได้ รวมทั้งเลขาธิการพรรค ก็อาจไม่ใช่คนพวกนี้ก็ได้ แต่ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ก็ไม่เคยปฏิเสธ ว่าจะไม่เป็น มีแต่บอกว่า ไม่รู้ ไม่พูด ประกอบกับบรรดากลุ่มการเมืองในพรรคที่สนับสนุนให้เป็น รวมไปถึงอีกหลายคนก็ยังย้ำว่า“หนุนลุงป้อม”
ดังนั้น นาทีนี้สังคมก็ค่อนข้างมั่นใจว่า“ลุงป้อม”จะต้องเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐค่อนข้างแน่ และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม “สองมิตร”ที่เคลื่อนไหวกดดันให้เปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคก็กล่าวว่า“เสียงส่วนใหญ่หนุน พล.อ.ประวิตร ให้เป็นหัวหน้าพรรค”มันก็ยิ่งชัดเจนแน่นอนเข้าไปอีก รอเพียงแต่ว่าจะมีการกำหนดวันประชุมพรรคเพื่อเคาะกันเมื่อไหร่เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ดี หากพรรคพลังประชารัฐต้องมีหัวหน้าพรรคเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นมาจริงๆ และตามรายงานข่าวที่ยืนยันค่อนข้างแน่ อีกทั้งเจ้าตัวก็ไม่เคยปฏิเสธ ก็น่าจะเป็นไปตามนี้ ส่วนเลขาธิการพรรค ก็น่าจะเป็นหนึ่งในสองคนดังกล่าวนั่นคือ ไม่เป็น นายสันติ พร้อมพัฒน์ ก็อาจจะเป็น นายอนุชา นาคาศัย ค่อนข้างแน่
แน่นอนว่าหากพิจารณากันด้วยความเป็นธรรม พวกเขาก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะดำรงตำแหน่งผู้บริหารในพรรคพลังประชารัฐ หากสมาชิกพรรคลงมติให้ความเห็นชอบ แม้ว่าจะมีเหตุผลในการตัดสินใจของพวกเขาเหล่านั้นคนละอย่างกับความเห็นของสังคมภายนอกก็ได้
แต่ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากความเห็นของสังคมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้สนับสนุนพรรคที่เชื่อมโยงกับการสนับสนุน “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลชุดนี้ อาจเป็นคนละเรื่อง เพราะเมื่อพิจารณากันตามตามเป็นจริงจากอารมณ์ของสังคมในเวลานี้ เชื่อว่าน่าจะออกมาทางลบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากกระแสตัวบุคคลเท่าที่มีการเอ่ยชื่อออกมา
แม้ว่าพรรคการเมืองจะคัดเลือกใครก็ย่อมเป็นสิทธิ์ แต่ในเมื่อพรรคการเมืองต้องเชื่อมโยงกับความศรัทธา และการสนับสนุนจากสังคม และจะส่งผลไปถึงรัฐบาล ส่งผลไปถึงตัวนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบเลี่ยงไม่ได้ แม้จะพยายามอธิบายว่า “แยกจากกัน”แต่ในความเป็นจริงแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องเชื่อมโยงถึงกัน และยิ่งถูกมองว่าความพยายามในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพื่อต้องการเก้าอี้รัฐมนตรีสำคัญ และต้องการเข้ามามี “เอี่ยว”กับงบประมาณ 4 แสนล้าน มันก็ยิ่งสร้างความรู้สึกในทางลบมากขึ้น มันเหมือนกับท้าทายความรู้สึกสังคม
ขณะเดียวกันยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นอีกว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีเสียงสนับสนุนมากแค่ไหน แต่หากความศรัทธาจากสังคมถดถอยแล้วจะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว !!